วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นักประดิษฐ์คำ


วันที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11229 มติชนรายวัน

หากเอ่ยชื่อ "ธีรยุทธ บุญมี" อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากคนทั่วไปจะรู้จักเขาในฐานะ "คนเดือนตุลา" แล้ว ระยะหลังนักวิชาการคนนี้ถูกตั้งฉายา "เสื้อกั๊กขาประจำ" ในฐานะ "นักประดิษฐ์คำ" ทางการเมือง

เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เสมือนเป็นกระจกสะท้อนความเป็นจริงที่ประชาชนกำลังมองรัฐบาลอยู่ ในทุกปี ปีละครั้ง..?

ไล่ลำดับความย้อนหลัง "ฉายาทางการเมือง" ที่ "นักประดิษฐ์คำ" ผู้นี้ได้แต้มแต่งสีสันให้กับวงการเมืองไทย นับว่ามีทั้งแสบๆ คันๆ และปวดจี๊ดเข้าขั้วหัวใจ..

ล่าสุด ตั้ง "ฉายา" ให้กับ "รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์" ว่าเป็นรัฐบาล "ชายกระโปรง" ในภาวะที่ม็อบพันธมิตรบุกปิดสนามบิน 2 แห่ง ท่ามกลางสังคมเรียกร้องให้รัฐบาลสมชาย แสดงความรับผิดชอบ

ความหมาย "รัฐบาลชายกระโปรง" มีนัยยะว่า รัฐบาลที่จะอยู่ในอำนาจเพื่อจ้องหาผลประโยชน์ และรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นเพราะ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมี "อุบาทว์พญายมหน้าเหลี่ยมเข้าแทรก" โดยใช้ลีลายึกยักในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเกิดวิกฤตบานปลาย

เจ็บ...จี๊ดดดดดดดดดดดด..!!!!

สมัย "รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช" และพรรคพลังประชาชน เขาให้ฉายาว่า "รัฐบาลลูกกรอก 1" ในฐานะเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย ซึ่ง "ลูกกรอก" คณะนี้มีระดับผู้นำอยู่ 2 ตน คือ "รักเลี้ยบ ยมมิ่ง" มีฤทธิ์เดชฉกาจฉกรรจ์ ส่วนหัวหน้าคณะลูกกรอกมี 2 ตน เป็น "กุมารทองคะนองฤทธิ์" และ "กุมารทองคะนองปาก" โดยกุมารทองทั้ง 2 ตนนี้จะทะเลาะกับผู้คนไปทั่ว ทำให้รัฐบาลอยู่ในฐานะมีอำนาจแต่ปกครองไม่ได้

ใน "รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" ก็ถูกขนานนามให้เป็น "รัฐบาลฤๅษีเลี้ยงเต่า" ทำงานแบบต้วมเตี้ยม ไปคนละทิศคนละทาง เป็นจำพวกเทคโนแครตสูงอายุ ทำให้มีความเชื่อไปคนละทาง รวมทั้งยังเป็น "โรคต่อมความดีโตและต่อมอำนาจโต" จนไม่คิดล้างระบอบทักษิณ

แถมยังได้พาดพิงไปถึง "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) ให้ไล่ไปเล่น "ลิเกการเมือง" ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. รับบทเป็น "บังธิมาออกแขก" และมี พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์อาวุโส บรรเลงเพลงออกแขกแต่เชื่องช้าคล้ายเพลง 3 ชั้น

สมัย "รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร" เริ่มต้นจากปี 2549 ตั้งฉายา "รัฐบาลเสียสติแห่งชาติ" เมื่อนายกฯทักษิณออกมาประกาศตั้ง "รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ" โดยเชิญพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตร มาร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยขนานนาม "ทักษิณ" ว่าเป็น "แม้ว จ๊กมก" เสียสติ เห็นระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องตลก

หากย้อนไปปี 2548 แสบถึงทรวง เมื่อ "ธีรยุทธ" ออกมาวิพากษ์ว่า พรรคไทยรักไทยจะนำไปสู่เผด็จการบุคคล ทำให้เกิดสภาพ "คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย" มีผลประโยชน์ทับซ้อน นำไปสู่การคอร์รัปชั่นแบบ "โคตรานุวัตร" หรือ Kotraization คือไม่ใช่เพียงโคตรเดียวที่โกง แต่หลายสิบโคตร

รวมทั้งฉายา "ษิณเจริญเชิญแขก" คือเอาประเทศชาติมาลวกเรียกญาติ บริวาร และต่างชาติมาร่วมยำกินกัน เปรียบการเมือง "ซูเปอร์-ยำ" เป็น "อัคร-ยำ-ประเทศ" ส่วน "ทักษิณ" ก็เก่งคนเดียวยกชั้นจาก "ซูเปอร์นายกฯ" เป็น "อัครนายกฯ" และยังเปรียบสมาชิกไทยรักไทย เป็นแค่ "ใต้เท้าสกุลชิน"

ต้นปี 2546 วิจารณ์ "ม.แม้ว" ว่าสร้างการเมืองระบบ "ทักษิณนุวัตร" หรือ Thaksinization แปลว่าหมุนไปตามทิศทักษิณ หรือเป็นไปตามทักษิณ จะนำพาประเทศผิดพลาดด้วยการใช้อำนาจอย่างอหังการ ทำให้เกิด "ระบอบทุษิณ" หรือ "รัฐบาลทุษิณ"

ในยุคพรรคประชาธิปัตย์ สมัย "รัฐบาลนายชวน หลีกภัย" ก็ได้ฉายาสมตัว "จอมนินจาหลักการ" คือการเลือกใช้หลักการ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและจะใช้อีกหลักการหนึ่งทันที เมื่อไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ทำให้หลักการของ "นายหัวชวน" จึงขัดแย้งกันเองมาตลอด แถมชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ

ปี 2540 "รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" บัญญัติศัพท์คำว่า "จิ๋วสองใจ" ซึ่งเอามาจากบุคลิกผู้นำโลเล และสร้างปัญหาให้ประเทศ ที่จำกันได้คือ "วิกฤตค่าเงินบาทลอยตัว"

ปี 2539 สมัย "รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา" ก็ถูกวิพากษ์ว่าเป็น "หลงจู๊หมดเครดิต" เพราะด้วยบุคลิกการบริหารประเทศแบบเถ้าแก่ของ "บรรหาร" ที่ไม่มีภาพความเป็นมืออาชีพ ตามไม่ทันโลกสมัยใหม่ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า จะทำให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้ไม่นาน

ต้องยอมรับว่า การประดิษฐ์คำของ "ธีรยุทธ บุญมี" นอกจากจะเป็นสีสันของการเมืองแล้ว สาระโครงสร้างความคิดยังหนักแน่นทำให้เห็นภาพของรัฐบาลชุดนั้นๆ

หากแต่การประดิษฐ์คำดังกล่าว คงมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ

บางครั้งก็มาแบบถูกที่ถูกเวลา แต่ระยะหลังๆ มี "ผิดคิว" อยู่บ่อยๆ..??

หน้า 11

วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

"สังคมการเมืองที่ไร้อำนาจนำ"





โดย เกษียร เตชะพีระ
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11220 มติชนรายวัน


ที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือสังคมการเมืองที่ไร้อำนาจนำ!

หากนิยาม "อำนาจนำ" (hegemony) ว่าหมายถึงความสามารถในการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของผู้ตาม (leadership by consent) หรือนัยหนึ่งการยอมปฏิบัติตามผู้นำโดยไม่ต้องถูกบังคับ (non-coercive compliance) แล้ว

สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดความขัดแย้งต่อสู้รุนแรงแตกหักบนฐานเครือข่าย-ชนชั้น-อุดมการณ์-ภูมิสังคม-ภูมิภาค-และระบอบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แตกต่างกันในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า "ระบอบ-ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ของไทยเรากำลังตกอยู่ในสภาวะไม่มีอำนาจนำทาง การเมือง

ไม่มีกลุ่มการเมืองใดสามารถกุมการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายต่างๆ ทุกฝ่ายซึ่งอยู่ในฐานะสำคัญทางยุทธศาสตร์ในสังคมไทย

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่มีการนำของกลุ่มการเมืองใดสามารถบันดาลให้พลังยุทธศาสตร์ทุกฝ่ายในสังคมไทยยอมปฏิบัติตามโดยไม่ต้องถูกบังคับ

ในภาวะเช่นนี้ ไม่ว่าสังคมการเมืองใด ระบอบการปกครองไหนก็ย่อมไม่อาจดำรงภาวะปกติสุขอยู่ได้ และย่อมแสดงออกซึ่ง "กลุ่มอาการอำนาจนำเสื่อม" (hegemony deficiency syndrome) ทางการเมือง หนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่?..

- การแบ่งฝ่ายแยกข้างสุดโต่งสุดขั้วทางการเมือง (political polarization)

- ระบอบอำนาจนิยมและการใช้กำลังบังคับทางการเมือง (authoritarianism & political coercion)

- ความขัดแย้งทางชนชั้น (class conflict)

- บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป (no rule of law)

- อนาธิปไตย, รัฐล้มเหลวและการใช้ความรุนแรงก่อการร้ายต่อกัน (anarchy, state failure & terroristic violence)

พูดอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ สภาวะแบบที่เราพบเห็นกันกลางกรุง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม (ม็อบปะทะกัน), 26 สิงหาคม (ทำเนียบรัฐบาลและสถานีเอ็นบีทีถูกบุกยึดครอง), 2 กันยายน (ม็อบปะทะกัน) และตลอดวันที่ 7 ตุลาคม (ม็อบปิดรัฐสภาและปะทะตำรวจ) ศกนี้ รวมทั้งเหตุปะทะประปรายอื่นๆ ตามหัวเมืองต่างจังหวัดเรื่อยมา-แล้วคูณ 10 คูณ 100 เข้าไป!

ฐานรากทางสังคมของกระบวนการนี้คือ การเปลี่ยนย้ายอำนาจ (power shift) จากมือเครือข่ายอำนาจบนฐานพันธมิตรทางชนชั้นเดิมไปสู่เครือข่ายอำนาจบนฐานพันธมิตรทางชนชั้นใหม่ ซึ่งฝ่ายหลังปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่รอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งโดยตั้งใจและไร้เจตนา

ปมปัญหาคือ เราจะสามารถปรับเปลี่ยนเหล่าสถาบันทางการเมืองการปกครองแห่ง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ให้เปิดกว้างทันสมัยยืดหยุ่นเข้มแข็งพอที่จะเป็นกรอบกติกา รองรับการต่อสู้เปลี่ยนแปลงที่ย่อมจะมีมาในกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้นี้หรือไม่?

สถาบันการเมืองการปกครองของเราจะสามารถปฏิรูปปรับตัวเพื่อเป็นช่องทางชักพาโน้มนำความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในวิถีทางแห่งหลักนิติธรรมและระบอบรัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตยและสันติวิธีได้หรือไม่ อย่างไร?

เพื่อการนี้ มีเงื่อนไขจำเป็นจำนวนหนึ่งที่หากเราช่วยกันรักษาไว้ได้ก็อาจพอเอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนย้ายอำนาจคลี่คลายขยายตัว อย่างไม่สร้างความบาดเจ็บเสียหายแก่สังคมไทยโดยรวมเกินไป, ไม่ถึงแก่ทำลายเยื่อใยสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันอันมีมาแต่ก่อนให้ฉีกขาดแตกสลายจนไม่อาจคืนดี กล่าวคือ :-

1) ต้องคัดค้านต่อต้านและโดดเดี่ยวกลุ่มแกนนำที่มีความคิดการเมืองสุดโต่งทั้งสองฝ่าย (anti-fanaticism)

คัดค้านต่อต้านและโดดเดี่ยวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปฏิกิริยาสุดโต่งที่เรียกร้อง "การเมืองใหม่" ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ระบอบรัฐธรรมนูญ

หรือฝ่ายโลกาภิวัตน์สุดโต่งที่ต้องการ "ระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชนฯ"

ไม่ปล่อยให้พวกเขาผูกขาดการนำ ครอบงำขบวนการและยึดกุมการเป็นตัวแทนของคู่ขัดแย้ง

เข้าวิวาทะวิพากษ์วิจารณ์ให้แต่ละฝ่ายเผยแสดงความหลากหลายภายในออกมา

ผลักดันให้กลุ่มแกนนำอื่นที่มีความคิดไม่สุดโต่ง, ปฏิบัตินิยม, ยอมรับและเริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ไม่ตรงและไม่เป็นไปตามอุดมคติ, และพร้อมประนีประนอม เพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ให้ก้าวหน้าต่อไปในกรอบระบอบรัฐธรรมนูญ เสรีประชาธิปไตยและสันติวิธี - ได้ขึ้นมากุมการนำแทน

2) สร้างเงื่อนไขให้แก่การประนีประนอมทางชนชั้นระหว่างคนชั้นกลางชาวเมืองกับคนชั้นล่าง-ชั้นกลางในชนบท (class compromise)

โดยด้านหนึ่งสร้างหลักนโยบายใหม่ที่สามารถโน้มน้าวจูงใจดึงคนชั้นกลาง-ชั้นล่าง ชาวชนบทออกมาจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณเดิมได้

อีกด้านหนึ่งก็พยายามดึงคนชั้นกลางชาวเมืองออกมาจากแนวทางการเมืองแบบขุดรากถอนโคนสุดโต่งสุดขั้วนอกระบบต้านระบบของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผลักดันพลังของพวกเขาให้เข้าสู่ระบบสถาบันการเมืองที่เปิดช่องให้เสียงข้างน้อยซึ่งคัดค้านวิจารณ์ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลนอกคูหาเลือกตั้งมีความหมายและประสิทธิผลจริงในเชิงปฏิบัติ

สุดท้ายสื่อสารมวลชนไม่ว่าจะเป็นของสาธารณะหรือของเอกชน สื่อสิ่งพิมพ์หรืออิเล็กทรอนิกส์ ฟรีทีวีหรือเคเบิลทีวี วิทยุราชการหรือวิทยุชุมชน รวมทั้งเว็บไซต์ต่างๆ พึงใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ ในกรอบที่กำกับด้วยกฎหมายและองค์กรสาธารณะอันชอบธรรม เคารพความจริง สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น โน้มน้าวชักดึงให้คนชั้นต่างๆ ในสังคมไทยเยือกเย็นลง อดทนอดกลั้น หันมาเดินหนทางสายกลางทางการเมือง (political moderation)

กล่าวในแง่นี้ สัญญาณที่สอดคล้องต้องกันจากสถาบันหลักทางประเพณีที่มีทุนทางวัฒนธรรมสูงของสังคมไทยจะช่วยได้มากพอควร

3) ร่วมกันสร้างสรรค์สถาปนา "อำนาจนำที่สาม" (a third hegemony) ขึ้นมาในสังคมไทยให้เป็นทางเลือกทางออกสำหรับคนส่วนใหญ่นอกเหนือไปจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายที่ต่อสู้กันอยู่

โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักนโยบายรัฐสวัสดิการที่เหนือกว่าประชานิยม

สังคมประชาธิปไตย (social democracy) ที่เปิดช่องให้พลังจัดตั้งของผู้ใช้แรงงานถ่วงดุลอำนาจทั้งทุนผูกขาดในประเทศและทุนข้ามชาติ

และนิเวศประชาธรรมที่คำนึงถึงความอยู่รอดยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยในระยะยาว

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คุณภาพประชาธิปไตยไม่มี จะถามหาคุณภาพสังคมจากที่ไหน

โดย ถวิลวดี บุรีกุล สถาบันพระปกเกล้า



ความอึดอัดต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะเดินไปทางใดแน่ ทำให้นักวิชาการหลายคนพยายามแนะทางออกด้วยการมาสานเสวนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่เราพึงปรารถนาต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ยังไม่มีใครรู้ ตราบใดที่คนในประเทศยังแบ่งฝ่าย สภาวการณ์อย่างนี้หากมองในแง่ดีจัดเป็นอาการของการปกครองที่เรียกว่าอยากเป็นประชาธิปไตย เป็นสัญญาณของการตื่นตัวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ

เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนเราจะมีประชาธิปไตยแต่คำพูด เพราะค่อนข้างจะเป็นประชาธิปไตยที่ไร้คุณภาพ อันนำมาสู่สังคมที่ด้อยคุณภาพอีกด้วย

ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่แพร่หลายและหลายประเทศในโลกล้วนมุ่งไปทางนี้ แต่สิ่งที่หลายคนสนใจกลับมิใช่เรื่องการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการอธิบายลักษณะของการปกครองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการศึกษาประชาธิปไตยบางครั้งจึงมองไปที่การที่ประชาธิปไตยได้ฝังลึกเป็นสิ่งที่ดีอยู่ในทางจิตใจของคนในชาติเพียงไร

การปฏิรูปเพื่อปรับปรุงคุณภาพประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าประชาธิปไตยคือสิ่งที่เป็นไปเพื่อสันติสุขสถาพรหรือความยั่งยืน นอกจากนี้ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยมานานก็ยังต้องปฏิรูปเพื่อให้สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้ และคงไม่มีพลเมืองของประเทศใดจะมีความสุขอยู่ได้ ถ้าประเทศของเขามีแต่ความขัดแย้ง จนไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใด เป็นเหตุให้พวกเขาไม่สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้

บางครั้งอาการของความขัดแย้งก็เริ่มจากการเพิ่มขึ้นของการไม่เชื่อมั่นในรัฐ เพราะมีความสงสัยในการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ามีความไม่โปร่งใส ทำงานไม่สนองความต้องการของประชาชน แต่สนองตนเองและพวก เหล่านี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยหลายประเทศ จนจัดได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคของวิกฤตประชาธิปไตยก็ว่าได้

ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรที่ให้การสนับสนุนต่างๆ ต่างพยายามช่วยกันยกระดับการเป็นประชาธิปไตย และเรียกร้องให้มีการคำนึงถึงคุณภาพของประชาธิปไตย แทนการมุ่งสนใจประชาธิปไตยในเรื่องกระบวนการทางการเมือง และการเข้าสู่อำนาจแต่เพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะการที่ประเทศใดมีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ประเทศนั้นย่อมมีสังคมที่มีคุณภาพด้วย สองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน

แลลี่ ไดมอนด์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงคุณภาพประชาธิปไตยต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร

มันคือ การที่ประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่มีสิทธิในการเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งที่อิสระ เที่ยงธรรม มีการแข่งขัน มีพรรคการเมืองเข้าเสนอตัวสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อแข่งขันจริงๆ มากกว่าหนึ่งพรรค และมีแหล่งที่มาของข้อมูลที่เป็นทางเลือกที่หลากหลาย

ไม่ใช่เรื่องของการบังคับดู บังคับฟัง ประชาชนมีอิสระในการรวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองและสามารถรวมตัวในลักษณะของภาคประชาสังคม ตามความเชื่อและความสนใจของพวกเขา

นอกจากนี้สถาบันทางประชาธิปไตยต่างๆ มีอำนาจในตัวเอง ไม่อยู่ใต้อาณัติของชนชั้นนำ หรืออำนาจภายนอกที่ทำให้สถาบันเหล่านั้นไม่สามารถสนองตอบและรับผิดชอบต่อประชาชนได้

ประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร พิจารณาได้จากการบรรลุเป้าหมายของประชาธิปไตย เช่น ประชาธิปไตยในอุดมคติคือการที่พลเมืองมีอิสรภาพ มีอำนาจอธิปไตยที่สามารถควบคุมนโยบาย และเจ้าหน้าที่ที่กำหนดนโยบาย มีความเท่าเทียมกันทางการเมือง ทั้งสิทธิและอำนาจ ตามมาตรฐานของธรรมาภิบาล เช่น การมีความโปร่งใส ความชอบธรรม การมีความรับผิดชอบ การยึดหลักนิติธรรม คุณธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยที่ดีต้องไม่รวมการเป็นประชาธิปไตยแบบเทียมที่มีการเลือกตั้งแบบเผด็จการ กล่าวคือ การเลือกตั้งที่ขาดอิสระและความเที่ยงธรรม ดังนั้น ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพต่ำในประเทศที่มีปัญหาแบบนี้ เพราะสิทธิทางการเมืองมีปัญหา ไม่ยึดหลักนิติธรรม กฎหมายไม่มีความหมาย

คำว่าคุณภาพ จึงต้องการความเข้าใจที่ชัดเจน มิฉะนั้นบางคนจะหลงไปกับการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียมได้

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่พลเมืองสามารถควบคุมนโยบายและผู้กำหนดนโยบาย โดยมีสถาบันต่างๆ ที่มีความชอบธรรมสามารถดำเนินการตามหน้าที่โดยอิสระได้ และมีความมั่นคง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพจึงเป็นการปกครองที่มีความชอบธรรมที่นำมาซึ่งการบรรลุความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล (คุณภาพในลักษณะของผล)

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครองที่ประชาชน สมาคมและชุมชน พอใจต่อสิทธิ เสรีภาพความเท่าเทียมทางการเมือง (คุณภาพในลักษณะเนื้อหา)

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย สามารถติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ทั้งยังประเมินได้ว่ารัฐบาลได้ให้เสรีภาพและความเท่าเทียมทางกฎหมายหรือไม่

คุณภาพประชาธิปไตยแบ่งออกได้เป็นมิติต่างๆ อาทิ

คุณภาพในลักษณะของกระบวนการ ประกอบด้วยนิติธรรม การมีส่วนร่วม การแข่งขันได้ สำนึกรับผิดชอบทั้งทางแนวราบ (ตอบสนองต่อเจ้าหน้าที่รัฐกันเอง) และแนวตั้ง (ที่สนองตอบต่อประชาชน) ซึ่งทั้งหมดมักเป็นเรื่องของกฎระเบียบ และการปฏิบัติ

คุณภาพในลักษณะของการเคารพอิสรภาพของของพลเมือง ตลอดจนการปฏิบัติที่ก้าวหน้า เพื่อความเท่าเทียมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

คุณภาพในเรื่องการสำนึกรับผิดชอบที่เชื่อมมิติกระบวนการกับเนื้อหา โดยที่นโยบาย ที่รวมทั้งกฎหมาย การดำเนินการของสถาบันต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตามกระบวนการทางการเมือง (มิใช่เป็นไปตามความต้องการของชนบางกลุ่ม บางคน)

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของธรรมาภิบาลทั้งสิ้น ดังนั้น โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าหากประชาชนมีฐานะเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ เสรีภาพ มีอิสรภาพ ขณะที่รัฐเองมีสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชน และต่อรัฐเอง มากกว่าสำนึกรับผิดชอบต่อนายทุนหรือชนชั้นนำ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีความโปร่งใสในการทำงานอย่างแท้จริง ประเทศนั้นจะเรียกได้ว่ามีประชาธิปไตยที่คุณภาพ

เมื่อประชาธิปไตยมีคุณภาพ ผลที่ตามมาคือความคาดหวังของประชาชนได้รับการตอบสนอง ประชาชนจะมีการกินดี อยู่ดี มีความสุขใจ รู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สังคมจะมีคุณภาพสูง

คุณภาพสังคมเป็นแนวคิดที่มูลนิธิแห่งยุโรปว่าด้วยคุณภาพสังคมได้ทำการศึกษาและจัดทำตัวชี้วัดไว้ และขณะนี้มีการสร้างเครือข่ายมาทางเอเชียแล้ว คุณภาพสังคมเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกสังคม เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากกว่าการศึกษาเรื่องคุณภาพชีวิต

คุณภาพสังคม เป็นแนวคิดแบบบูรณาการของเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของชีวิตมนุษย์ เป็นเรื่องของการตระหนักตน และการมีส่วนร่วมในการสร้างอัตลักษณ์ที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาของชุมชนภายใต้สภาวการณ์ที่เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นไปตามศัยภาพของแต่ละคน

คุณภาพสังคมเป็นเป้าหมายที่ไม่เพียงเป็นเรื่องนโยบายสังคมแต่รวมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและนโยบายอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 มิติ คือ

1.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่หมายถึงการที่ประชาชนมีความมั่นคงทางทรัพยากร รวมถึงทรัพยากรทางการเงิน ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ และการจ้างงาน

2.การบูรณาการทางสังคม เป็นการที่ประชาชนมีการเข้าถึงและถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันต่างๆ และมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน การเข้าถึงการบริการทางสังคม ทั้งนี้ การบูรณาการทางสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนที่ขาดแคลนทรัพยากร การมีทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เขากลับเข้าสู่กระแสของสังคมปกติได้ ดังนั้น การบูรณาการทางสังคมจึงรวมรูปแบบของสิทธิของความเป็นพลเมือง การคำนึงถึงสถานภาพหญิงชาย การเข้าถึงการจ้างงาน และการบริการที่จัดให้ประชาชน เป็นต้น

3.ความสามัคคีในสังคม เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ในสังคม ค่านิยม บรรทัดฐานและการยอมรับการทำเพื่อส่วนรวม ทั้งนี้ ความสามัคคีในสังคมรวมความไว้วางใจกัน อันประกอบด้วยความไว้วางใจโดยทั่วไปหรือไว้วางใจผู้อื่นนั่นเอง และความไว้วางใจเฉพาะที่หมายถึงความไว้วางใจที่มีต่อสถาบันต่างๆ นอกจากนี้ความสามัคคีในสังคมยังรวมการสร้างเครือข่ายทางสังคม และการมีเอกลักษณ์อีกด้วย

4.การเสริมสร้างพลังทางสังคม เป็นการที่ประชาชนสามารถดำเนินการในด้านมิติต่างๆ ได้ ทั้งยังรวมการเสริมสร้างความสามารถของพวกเขาให้เข้าถึงมิติอื่นๆ ของคุณภาพสังคม เช่น การจัดการความรู้ การมีตลาดแรงงาน การพัฒนาศักยภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาชีวิตของครอบครัว วัฒนธรรมและชุมชน เป็นต้น

เมื่อทำการเชื่อมคุณภาพประชาธิปไตยกับคุณภาพสังคมจะเห็นได้ว่า หากผู้ปกครองประเทศมีธรรมาภิบาล ย่อมสามารถทำหน้าที่บริหารประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม ช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในชาติ พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการมีงานทำของประชาชน ประชาชนมีสวัสดิการที่ดี ประชาชนไว้วางใจกัน ทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม เพื่อเสริมสร้างความเป็นชาติ เกิดสังคมที่มีความสมานฉันท์ เพราะประชาชนมีความสามัคคี และยังไว้วางใจสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองที่ก่อให้เกิดนักปกครองประเทศให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ นั่นคือประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก่อให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพ

แต่เมื่อหันมาจับชีพจรประเทศไทยบนพื้นฐานของคุณภาพประชาธิปไตย คุณภาพสังคมพบว่า คุณภาพประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงดวงดาว เพราะประเด็นของมิติต่างๆ ที่อ่อนแอ

หากจะให้มีการพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตยจริง ต้องพัฒนาทุกมิติ ให้ก้าวไปพร้อมกันกับคุณภาพสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาวิธีคิดที่บ้านเรายังขาดอยู่มาก จนทำให้ไม่สามารถส่งให้เกิดบุคลากรเข้าสู่การเมืองที่มีคุณภาพได้เพียงพอ ไม่สามารถสร้างประชาชนที่มีจิตสำนึกของพลเมืองหรือจิตสาธารณะได้มากพอที่จะช่วยกันผลักดันสังคมไทยไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยบนพื้นฐานของการเน้นคุณภาพประชาธิปไตยได้

เพราะเราลืมการเรียนการสอนเรื่องการศึกษาของพลเมืองไปนานแล้ว

หน้า 7

พระบารมีในหลวง

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11217 มติชนรายวัน
ย้อนหลังกลับไปเกือบ 1 ปี ในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพรปีใหม่แก่ปวงชนชาวไทย ทรงเตือนสติให้คนไทยสามัคคี ทำหน้าที่ของตนให้ดี ช่วยกันประคับประคองบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยดีและเป็นปึกแผ่น ร่มเย็นเป็นสุข ไม่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน ผ่อนปรนเข้าหากันและอย่าก่อปัญหา สร้างเงื่อนไขที่จะสร้างความไม่สงบ แตกแยกในบ้านเมือง

นับจากต้นปีใหม่ 2551 มาถึงวันนี้ใกล้ครบปี จวนจะถึงวันขึ้นปีใหม่ 2552 สถานการณ์บ้านเมืองกลับมีความขัดแย้ง แตกแยกในหมู่คนไทยมากขึ้น ต่างไปจากปี 2550 ประเทศอยู่ในช่วงการรัฐประหาร เพิ่งจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ความขัดแย้ง แตกแยกยังมีไม่เท่าไร

ถอยหลังกลับไปในช่วงต้นปี 2549 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้น ยังไม่เกิดการรัฐประหาร แต่มีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว การจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณยุบสภา มีข้อขัดข้องและความปั่นป่วนวุ่นวายอันเนื่องมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยและมหาชนไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง คนในพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงแข่งขัน กกต.เปลี่ยนคูหาเลือกตั้ง ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่ผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม ณ วังไกลกังวล หัวหิน วันที่ 25 เมษายน 2549 ตอนหนึ่งว่า "เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุดในโลก"

เมื่อมาดูสถานการณ์ ณ เวลานี้ น่าจะกล่าวได้ว่าหนักหนาสาหัสเกินเลย "วิกฤตที่สุดในโลก" ไปมากแล้ว โอกาสจะเกิดสงครามการเมือง เกิดการนองเลือด เกิดมิคสัญญีกลียุคย่อมเป็นไปได้หากผู้เกี่ยวข้องอันได้แก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและฝ่ายที่เป็นคู่กรณีของความขัดแย้งแตกแยก นั่นคือรัฐบาลพรรคพลังประชาชนกับพันธมิตรโดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแนวร่วมไม่รู้จักลดราวาศอก ต่างหนึ่งต้องการเอาชนะ อีกฝ่ายหนึ่งดิ้นรนเพื่อให้รอดจากการเป็นผู้ถูกกระทำโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดกับชีวิตของผู้คนและความย่อยยับของชาติบ้านเมือง

เพื่อเป็นการเรียกสติของคนที่กำลังต่อสู้กันอยู่ให้กลับมา จึงขออัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพรปีใหม่ 2551 มาให้ได้อ่านและน้อมรับใส่เกล้าฯแล้วนำไปสู่การปฏิบัติให้สมกับเป็นผู้ที่พร่ำพูดอยู่ตลอดเวลาว่าจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ดังนี้

"ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ ถึงสาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2551 ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คนและขอขอบใจท่านเป็นอย่างมากในน้ำใจไมตรีที่ทุกคน ทุกฝ่ายแสดงให้เห็นทั้งในคราวที่เจ็บป่วย และในการจัดงานวันครบวันเกิดครบ 80 ปี รวมทั้งได้แสดงความวิตกห่วงใยอย่างจริงใจในการเจ็บป่วยของพี่สาวข้าพเจ้า

สถานการณ์บ้านเมืองเราแต่ปีก่อนและต่อเนื่องมาถึงปีที่แล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แก่ใจ แต่อย่างไรก็ตาม เราได้มีรัฐธรรมนูญและได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นับว่าประเทศชาติของเราได้ผ่านหัวเลี้ยวสำคัญอีกขั้นหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันประคับประคองกิจการของบ้านเมืองให้ดำเนินไปด้วยดี ให้มีความเป็นปึกแผ่นและร่มเย็นเป็นปกติสุข ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือ การทำความคิดให้ถูกตรงและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย แต่ละคน แต่ละฝ่ายจะต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว พยายามโอนอ่อนผ่อนปรนเข้าหากัน ด้วยไมตรีจิตและความเมตตากรุณา อย่าก่อปัญหาและก่อเงื่อนไขอันเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยก ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใดก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปให้ทันการณ์ทันเวลา ผลงานของทุกคนทุกฝ่ายจักได้ประกอบส่งเสริมกัน ให้ประเทศชาติอันเป็นที่อยู่ที่อาศัยของเราดำรงมั่นคงอยู่ด้วยความผาสุก..."

หน้า 2

วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ระเบียบวิธีการศึกษารัฐศาสตร์ (Methodology in Political Science

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ระเบียบวิธีการศึกษา หมายความถึง วิถีทางที่คน ๆ หนึ่งใช้ในการศึกษา ไม่ว่าจะนิยามหรือคำจำกัดความ หรือแนวทางในการวิเคราะห์ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่เป็นระบบหรือไม่ มีการสร้างแบบจำลองหรือตัวแบบของการศึกษาไว้หรือไม่ก็ตาม ระเบียบวิธีการศึกษาแต่ละแบบที่มีอยู่ในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์นั้น จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้นักรัฐศาสตร์สามารถทำความเข้าใจและอธิบายเกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น เกิดความรู้ความเข้าใจที่เที่ยงตรง และเนื่องจากรัฐศาสตร์มิได้กล่าวถึงเพียงแต่เรื่องการเมืองการปกครองประการเดียว แต่ยังหมายความกว้างถึงการศึกษาเกี่ยวกับการแจกแจงคุณค่าในเชิงอำนาจ การบริหารและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสังคมรัฐศาสตร์นอกจากที่ต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะแล้ว ยังเป็นการสานความรู้หรือประสมประสานบูรณาการความรู้ในศาสตร์ด้านอื่น อาทิประวัติศาสตร์ เศรษศาสตร์ การจัดการมนุษยวิทยา เป็นต้น ประกอบเข้าไปด้วย ในอันที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่ศึกษาเรื่องรัฐศาสตร์ที่มีความสลับซับซ้อน เป็นไปอย่างแตกฉานยิ่งขึ้น

ระเบียบวิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์หากพิจารณาตามนิยามที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ก็กล่าวได้ว่าระเบียบวิธีการศึกษาเกิดขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองนั่นเอง เพียงแต่แตกต่างกันไปบ้างตามจุดเน้นของแต่ละวิธี ซึ่งพิจารณาได้จากงานเขียนของ สนธิ เตชานันท์ (2543, 9-17) ซึ่งได้จำแนกไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. แนวทางการศึกษารัฐศาสตร์แบบเก่า (Traditional political science)

แนวการศึกษาแบบนี้ประกอบไปด้วยระเบียบวิธีการศึกษาหลายแบบ แต่ละแบบก็แตกต่างกันไปบ้าง ดังนี้

1.1 แบบปรัชญาการเมืองคลาสสิค (Classical political philosophy)

แนวทางการวิเคราะห์แบบนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ การประเมินค่าสิ่งที่นักปรัชญาการเมืองสนใจ ประกอบกับการใช้วิธีการอนุมานหรือคาดคิดเอาด้วยเหตุด้วยผลเท่าที่มีอยู่ว่าการเมืองคืออะไร ระบบการปกครองที่ดีที่สุด ผู้ปกครองที่ดีที่สุดควรจะเป็นอย่างไร ดังที่ได่กล่าวไปแล้วในเรื่องแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาการเมือง

1.2 แบบประวัติศาสตร์ (Historical method)

แนวทางการศึกษาแบบนี้ได้เริ่มต้นขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ใน สหรัฐอเมริกาและยังคงใช้กันมากในปัจจุบัน โดยนักรัฐศาสตร์เชื่อกันว่ารัฐศาสตร์มีต้นกำเนิดมาจากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ หรือเป็นวิชาประวัติศาสตร์การเมืองซึ่งรวมตลอดถึงประวัติพรรคการเมือง ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประวัติความคิดทางการเมืองที่สำคัญต่าง ๆ และเห็นว่าวิธีการศึกษาแบบนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้สามารถทำความเข้าใจความเป็นจริงของสถาบันการเมืองต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้

1.3 แบบกฎหมาย (Legalistic method)

แนวทางการศึกษาแบบนี้ถือว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่การศึกษาในเรื่องการเมืองกับกฎหมายหรือระบบกฎหมายมีความเกี่ยวพันกัน และได้กลายเป็นสิ่งที่วางพื้นฐานการศึกษารัฐศาสตร์อเมริกันที่พิจารณาว่า รัฐศาสตร์แท้จริงแล้วคือการศึกษาระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

1.4 แบบวิเคราะห์สถาบัน (Institutional analysis method)

แนวทางการวิเคราะห์แบบนี้เกิดขึ้นจากความตระหนักของนักรัฐศาสตร์ว่าการเมืองเป็นสิ่งที่มากไปกว่าระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้มีการพูดถึงการเมืองตามความเป็นจริงและเพียนงพ่อต่อการทำความเข้าใจรัฐศาสตร์ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จากวิธีการศึกษาแบบกฎหมายและประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์สถาบันการเมืองจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้นักรัฐศาสตร์มองเห็นหรือได้ศึกษาเกี่ยวกับความป็นจริงทางการเมืองมากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายของวิธีการศึกษาแบบนี้มีลักษณะสำคัญของการพรรณารายละเอียดสถาบันทางการเมือง อำนาจ บทบาทและหน้าที่ของประธานาธิบดี ด้วยวิธีการสังเกตที่ไม่ลึกซึ้ง ที่มิใช่การอธิบายระบบการเมือง

2. ระเบียบวิธีการศึกษาเชิงพฤติกรรมนิยม (Behavioralism)

ภายหลังที่นักรัฐศาสตร์ได้หันเหความสนใจไปศึกษาการเมืองในเชิงวิเคราะห์มากขึ้น เพื่อจะยกฐานะของวิชารัฐศาสตร์ให้ทัดเทียมกับวิชาสังคมศาสตร์อื่น ๆ พร้อมกับความก้าวหน้าทางระเบียบวิธีการศึกษาหลายอย่างที่อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ ได้ก่อให้การศึกษาวิชารัฐศาสตร์หันเหความสนใจจากเดิมที่เป็นการอนุมานหรือการประเมินค่าสิ่งที่ศึกษาตามความเห็นหรือทัศนะของนักรัฐศาสตร์ เช่นที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่าเป็น “การคาดคิดไปตามอำเภอใจ” ซึ่งได้รับการวิพากษ์ถึงความน่าเชื่อถือในแง่ความเป็นศาสตร์ที่สามารถนำมาอธิบายการเมืองได้อย่างกว้างขวางถูกต้อง ได้เป็นสิ่งผลักดันให้รัฐศาสตร์นำเอาเทคนิควิธีศึกษาเชิงศาสตร์อันได้แก่วิธีการเชิงปริมาณ การรวบรวมข้อมูลที่พิสูจน์ได้ สนใจปรากฎการณ์ที่สังเกตได้ การวัดที่มีความถูกต้องแม่นยำ การวิเคราะห์อย่างมีระเบียบวิธีและอ้างอิงทฤษฎี โดยเชื่อว่าทฤษฎีและผลของการค้นพบที่นำไปสู่ข้อสรุป จะช่วยเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของรัฐศาสตร์ทุกสาขา มาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของมนุษย์ไปด้วย โดยแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมด้านหนึ่งได้แก่การเน้นในการศึกษาพฤติกรรมของผู้ดำเนินการทางการเมืองเป็นสำคัญ ที่มักจะปฏิเสธแนวทางแบบวิเคราะห์สถาบัน ซึ่งนักรัฐศาสตร์บางท่านเช่น เดวิด อีสตัน (David Easton) ได้เรียกร้องให้นักรัฐศาสตร์หันมาสนใจศึกษาเกีย่วกับกิจกรรมทางการเมืองมากกว่าการศึกษาสถาบันทางการเมือง

3. ระเบียบวิธีการศึกษายุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (Post-behavioralism)

วิธีการศึกษาแบบนี้มีที่มาจากการที่นักวิชาการรัฐศาสตร์รุนใหม่ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ไม่ยอมรับระเบียบวิธีการศึกษาแบบพฦติกรรมนิยมที่ยึดมั่นวิธีการทางวิทยาศาสตร์มากเกินไ ป โดยวิภาควิจารณ์หรือกลับเคลื่อนไหวปฎิรูปวิชารัฐศาสตร์หรือเป็นยุคที่เรียกว่า “การปฏิวัติยุคหลังแนวการศึกษาเชิงพฤติกรรม (the Post-behavioralism Revolution)” โดยสาระสำคัญในแนวคิดของนักรัฐศาสตร์กลุ่มนี้คือเห็นว่ายิ่งรัฐศาสตร์ใช้วิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับการแยกค่านิยมออกจากการเมืองมากเท่าใด นักรัฐศาสตร์ก็จะยิ่งห่างไกลจากการเมืองมากขึ้นเท่านั้น และจะทำให้นักรัฐศาสตร์มุ่งแต่ความสนใจที่จะศึกษาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าที่จะมองปัญหาสำคัญ ๆ ทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ นักรัฐศาสตร์จึงต้องให้ความสำคัญต่อค่านิยมในการพิจารณาตัดสินเรื่องการเมืองการปกครอง อันแตกต่างไปจากการศึกษาเชิงพฤติกรรมนิยมที่มุ่งแยกส่วนค่านิยมออกจากข้อเท็จจริง

แนวทางการศึกษาวิเคราะห็และระเบียบวิธีการศึกษารัฐศาสตร์

แนวทางการศึกษารัฐศาสตร์ (Approaches in Political Science)

ด้วยประการที่เป้าหมายหลักของการศึกษารัฐศาสตร์คือ การแสวงหาหนทางหรือการที่จะทำความเข้าใจ (understanding) ถึงที่มาและความเป็นไปของปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในทางการเมือง เพื่อที่จะหาคำอธิบายและคาดการณ์แนวโนม้ของปรากฎการณ์ดังกล่าวในอนาคต ไม่ว่าจะมีการนำความรู้ด้านนี้ไปใช้เพียงใด หรือไม่ และเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตามการที่จะเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมืองได้อย่างชัดเจนนั้น จะต้องอาศัยวิธีการวิเคราะห์เป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งนี้เพราะการวิเคราะห์เป็นการจำแนกสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์ ด้วยการชี้ให้เห็นถึงระดับ ประเภทและทิศทางของความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ในภาวะการณ์หนึ่ง อันทำให้เข้าใจได้ว่าปรากฎการณ์ทางการเมืองนั้นคืออะไร ทำไมจึงเกิดขึ้นและเกิดขึ้นได้อย่างไร 31 หรือกล่าวได้ว่า นักรัฐศาสตร์จะใช้แนวทางการศึกษาวิเคราะห์มาเป็นกรอบความคิด (Conceptual Framework) สำหรับการมองขอบข่าย สาระ และปัญหาของเรื่องรวมหรือปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เขาสนใจ

ความพยายามที่จะทำความเข้าใจและอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองนี้ ได้ก่อให้เกิดแนวทางการศึกษาการเมืองหรือรัฐศาสตร์ขึ้นมาอย่างหลากหลาย เริ่มจากแนวทางที่เก่าแก่ที่สุดคือการนำแนวคิดเชิงปรัชญามาใช้พิจารณาและเลือกเป้าหมายทางการเมืองเพื่อเป็นแนวทางการปฏฏิบัติให้เกิดความสัมฤทธ์ผลในเป้าหมายยั้น นอกจากนี้ยังได้แก่ แนวคิดเชิงอำนาจ แนวคิดเรื่องสถาบัน แนวคิดในเรื่องกระบวนการนโยบายสาธารณะ เป็นต้น 32 ซึ่งแต่ละแนวทางก็มีกรอบการมองและวิเคราะห์การเมืองแตกต่างกันลงไปในหลักการและรายละเอียด ดังจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไป

นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายต่างเห็นพ้องกันว่า ในการศึกษารัฐศาสตร็ซึ่งได้มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณนั้น มิได้มีเพียงแนวทางการวิเคราะห์หรือระเบียบวิธีการศึกษาแบบหนึ่งแบบใดที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป แม้อาจปรากฎว่าแนวทางการศึกษาวิเคราะห์หรือระเบียบวิธีการศึกษาบางอย่างจะได้รักความนิยมในแง่ที่ถูกนำมาใช้เป็นรูปแบบหรือแนวทางในการศึกษากันอย่างกว้างขวาง แล้วแต่ความพยายามของนักรัฐศาสตร์แต่ละยุคแต่ละสมัยที่ต้องการจะทำความเข้าใจการเมืองในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ รวมทั้งการอธิบายและการนำเอาเหตุผล ข้อเท็จจริงไปสรุปเพื่อสร้างรูปแบบและแนวความคิดที่จะนำไปประยุกต์ใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น

แนวทางการศึกษาวิเคราะห์ (approach) หมายความได้ว่า เป็นวิธีการกว้าง ๆ ในการพิจารณาสืบสาวราวเรื่องหรือตรวจสอบในเรื่องการเมือง 33 ซึ่งแตกต่างไปจากระเบียบวิธีการศึกษา (method) ที่หมายความถึงวิถีทางที่คน ๆ หนึ่งใช้ไนการศึกษา ไม่ว่าจะมีนิยามหรือคำจำกัดความ (definition) หรือแนวทางในการวิเคราะห์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่เป็นระบบหรือไม่ หรือมีการสร้างแบบจำลองหรือตัวแบบ (mode) ของการศึกษาไว้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี พบว่า นักวิชาการยังมีความเห็นแตกต่างกันไปบ้างเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ อันเป็นผลมาจากมุมมองหรือทัศนะในการพิจารณาภูมิหลังของรัฐศาสตร์แต่ละแนวทางการศึกษา ซึ่งผู้เขียนได้นำมารวบรวมไว้ และขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า คำว่า “แนวทางการศึกษาวิเคราะห์” “แนวทางการศึกษา” “แนวทางการวิเคราะห์” แม้จะแตกต่างกันบ้างในเนื้อความ แต่ก็หมายความถึงประการเดียวกันคือ แนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์หรือแนวทางการศึกษาวิเคราะห์การเมือง นั่นเอง

เดวิด อี แอพเตอร์ (David E. Apter) ในหนังสือเรื่อง “Introduction to Political Analysis” ตีพิมพ์ในปี 1977 ได้แบ่งแนวทางการศึกษาวิเคราะห์การเมืองออกเป็น 6 แนวทาง ดังนี้

1. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบปรัชญาการเมือง (Political Philosophy)

แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้ ถือได้ว่าเป็นแนวทางที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากปรัชญาสมัยกรีกโบราณ สาระสำคัญของแนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้เป็นการพิจารณาถึงรูปแบบการปกครองที่ดี มีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งที่จะแสวงหาแนวทางการปรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้ใกล้เคียงสอดคล้องกับคุณค่าหรืออุดมคติที่ดีงามตามทัศนะของนักปรัชญาการเมืองโบราณ แนวทางการวิเคราะห์ของนักปรัชญาการเมืองโบราณเช่น เพลโต้ อริสโตเติ้ล เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการเสนอแนะแนวทางในการพิจารณาที่มีผลสืบเนื่องมาสู้นักรัฐศาสตร์ในสมัยปัจจุบันได้แก่ สเตราส์ (Leo Strauss) ที่เห็นว่า กิจกรรมทางการเมืองโดยธรรมชาติเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยม

2. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับรัฐ

แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้ เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 จากอิทธิพลแนวคิดของมาเคียเวลลี่ (Machiavelli) ซึ่งมองสภาพความเป็นจริงทางการเมืองและได้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับชนชั้นนักปกครองขึ้นมา ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เรื่องรัฐนี้ได้รับการปรับปรุงไปตามบริบทของสังคมโดยเน้นในเรื่องโครงสร้างแห่งกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการตามรัฐธรรมนูญ หรือมองรัฐในแง่กฎหมายมากขึ้น โดยเน้นถึงการกำเนิดรัฐและรูปแบบลักษณะของรัฐ

3. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เชิงสถาบันการเมืองการปกครอง

แนวทางแบบนี้ เน้นในเรื่องของที่มาแห่งอำนาจและการแบ่งแยกอำนาจ โดยการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญและรูปแบบการปกครองและสถาบันในการปกครองได้แก่ สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันฝ่ายบริหาร และสถาบันตุลาการ รวมทั้งเน้นไปที่การศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น คาร์ล ฟรีดริช (Carl J. Friedrich) ในหนังสือเรื่อง “Constitutional governent and politics” ตีพิมพ์ในปี 1937 กล่าวว่า แนวทางการวิเคราะห์การเมืองแบบนี้ มักถูกนำไปใช้ในการศึกษาการปกครองเปรียบเทียบ

4. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับอำนาจ

แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แนวนี้ ได้ให้ความสำคัญของการเมืองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ อันเป็นการกำหนดการมีส่วนร่วมในเรื่องอำนาจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่มนุษย์พยายามไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งอำนาจเพื่อการตัดสินใจ และบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ และในแนวคิดนี้ รัฐมิใช่โครงสร้างที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์และกฎหมาย แต่เป็นโครงสร้างของกลุ่มต่าง ๆ ที่แข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและเครื่องมือของรัฐ และจะเห็นได้ว่าแนวทางการศึกษาแบบนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย กระทั่งช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวการศึกษาวิเคราะห์เชิงอำนาจได้ขยายความสนใจไปศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างบุคคลกับชุมชนมากข้น อันมีส่วนทำให้รัฐศาสตร์เข้าใกล้ชิดกับสังคมศาสตร์มากขึ้นไปโดยปริยาย

5. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับการตัดสินใจและนโยบายสาธารณะ

แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แนวนี้ มองว่ารัฐศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการตัดสินใจและเรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งได้ก่อรูปขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 จุดสำคัญของแนวการศึกษาวิเคราะห์นี้กล่าวได้ว่าประกอบด้วย การเน้นที่กระบวนการตัดสินตกลงใจ (process of decision-making)และการเน้นที่เนื้อหานโยบาย (policy content)

ภายหลังปี 1945 เมื่อวิธีการศึกษาเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ได้รับความนิยมมากขึ้นในวงการรัฐศาสตร์ ได้มีส่วนผลักดันให้แนวการศึกษาวิเคราะห์ที่เน้นกระบวนการตัดสินตกลงใจในแนวแรก บดบังความสำคัญของการเน้นในเรื่องเนื้อหานโยบาย ซึ่งเป็นความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงประเด็นเรื่องการประเมินค่าและการเสนอแนะนโยบาย และหลีกเลี่ยงประเด็นข้อถกเถียงถึงความเป็นกฎเกณฑ์อันเป็นสากลเชิงศาสตร์ แต่กระนั้นก็ดี การศึกษาเนื้อหานโยบายก็ได้รับความสนใจจากนักรัฐศาสตร์บางส่วนมรามุ่งศึกษาผลลัพธ์ต่อสังคมของนโยบาย (policy outcomes) มากขึ้น

6. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เชิงระบบการเมือง

แนวทางนี้ได้เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1950 โดยเป็นความมุ่งหมายที่จะมองการเมืองให้กว้างไปจากการศึกษาเฉพาะเรื่องของรัฐและเรื่องของสถาบันทางการเมืองการปกครอง ด้วยการพยายามสร้างทฤษฎีไปใช้ในการวิเคราะห์การเมืองได้ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก โดนมุ่งเน้นศึกษาเรื่องกระบวนการทางการเมือง การทำหน้าที่ต่าง ๆ ของระบบการเมือง มากกว่าโครงสร้างหรือสถาบันทางการเมือง

สนธิ เตชานันท์ ได้จำแนกแนวทางการวิเคราะห์รัฐศาสตร์ไว้เป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย

1. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์เชิงนโยบาย (policy approach)

แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้ พิจารณาการเมืองในแง่กระบวนการกำหนดนโยบาย ด้วยการนำแนวคิดเชิงระบบ (system analysis) มาศึกษา อธิบายรวมทั้งเป็นแนวทางการปรับปรุงกระบวนการนำเข้า (input) ส่วนที่ทำหน้าที่แปลงสิ่งนำเข้า (conversion) ส่วนนำออกจากระบบ (output) และส่วนย้อนกลับ (feedback) โดยมีความมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจและอธิบายการดำเนินการของกระบวนการต่าง ๆ ดังกล่าวจากการสังเกตผลการดำเนินงานเท่าที่จะสามารถกระทำได้ อันเป็นผลให้รัฐศาสตร์ได้รับการพิจารณาว่าเป็นวิชาที่เน้นในเรื่องนโยบายศาสตร์

2. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เชิงอำนาจ (power approach)

แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้เห็นว่า อำนาจ (power) และการต่อสู้แข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เป็นแก่นสารัตถะหรือเนื้อแท้ของการเมือง ซึ่งแตกต่างไปจากแนวทางการวิเคราะห์เชิงนโยบายอย่างมาก เนื่องจากมิได้ให้ความสนใจมองว่าการเมืองเป็นกระบวนการที่มีระเบียบแบบแผนตามตัวแบบระบบ (systems model) แต่การเมือง เป็นการต่อสู้แข่งขันและการแสดงออกเชิงอิทธิพลของคนหรือกลุ่มคนที่ครอบงำต่อการทำงานของระบบการเมือง ด้วยเหตุนี้ การศึกษาวิเคราะห์การเมืองแนวนี้ จึงมีสาระสำคัญในการศึกษาถึงประเด็นการได้มาซึ่งอำนาจ การใช้อำนาจ และการคงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองโดยเชื่อว่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุดในการทำความเข้าใจและอธิบายถึงคงามพ่ายแพ้และชัยชนะทางการเมืองได้

3. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เชิงศิลธรรมหรือเป้าหมาย (moral and goals approach)

แนวทางการศึกษาแบบนี้ มิได้ให้ความสนใจต่อกระบวนการของระบบการเมืองและอำนาจทางการเมืองเช่นเดียวกับแนวทาง 2 แนวทางที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่เป็นการพิจารณาถึงทิศทางและเป้าหมายของการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยลักษณะทางศิลธรรม รูปแบบพื้นฐานของความชอบ ความถูกต้อง และความเหมาะสมทางการเมือง ซึ่งก็ต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดของขอบเขตอำนาจทางการเมือง อันดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักต่อการทำความเข้าใจ และมักปรากฎว่ามีนักรัฐศาสตร์จำนวนน้อยที่เห็นด้วยกับแนวทางการศึกษาแนวนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์เชิงนโยบายและเชิงอำนาจเช่นที่ได้กล่าวถึงแล้ว

กล่าวโดยสรุป จากแนวทางในการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า รัฐศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เก่าแก่ซึ่งเกิดขึ้นมาควบคู่กับสังคมมนุษย์ในยุคสมัยที่เริ่มมีการรวมกลุ่มปกครองตนเองและสังคมอย่างชัดเจน นับย้อนไปได้ถึงยุคกรีกโบราณเมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว โดยเป็นวิชาที่ศึกษาถึงลักษณะและวัตถุประสงค์และการจัดองค์กรของรัฐ รวมถึงระบบการเมืองการปกครองและสถาบันเกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยได้วิวัฒนาการเชิงลักษณะวิชาผ่านยุคสมัยที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และยุคสมัยใหม่ ดังที่ได้แบ่งยุคการศึกษารัฐศาสตร์ให้เห็นกันไปแล้ว กระนั้น วิวัฒนาการของการศึกษารัฐศาสตร์ดังกล่าว ก็ล้วนแล้วแต่กำเนิดเกิดขึ้นและเป็นไปในบริบทของสังคม และเติบโตไปตามพลังทางเศรษฐกิจการเมืองของสังคมตะวันตก เนื้อหาสาระของแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ก็ได้แตกต่างกันไปตามสภาวะการณ์ปัญหาทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัยตามทัศนะของนักคิดนักปรัชญาการเมืองในยุคนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องจากแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ที่แตกต่างกันหลากหลายดังกล่าว นักวิชาการรัฐศาสตร์บางรายหรือบางสำนักจึงอาจนิยมชมชอบแนวทางการศึกษาแนวใดแนวหนึ่งเป็นการเฉพาะ ในขณะที่หลายรายอาจนำเอาแนวทางการศึกษาหลายแนวมาผสมผสานกัน ซึ่งได้ส่งผลให้ขอบเขตของการศึกษากว้างขวางออกไป ในบางยุคสมัย แนวทางการศึกษาหนึ่งอาจได้รับความนิยมอย่างโดดเด่น ในขณะที่บางแนวการศึกษาอาจไม่ได้รับการยอมรับและถูกต้องวิพารษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องเหมาะสมต่อการนำเอามาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ดังเช่น แม้รัฐศาสตร์ยุคใหม่จะนิยมแนวทางการศึกษาแบบประจักษ์นิยมเชิงตรรก (logical positivism) ซึ่งเป็นแนวทางและระเบียบวิธีการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์อย่างหนึ่งที่ไม่มีการตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี หรือปราศจากค่านิยมต่อสิ่งที่ศึกษา ( value-free judgement) และมีความเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ความเป็นเหตุเป็นผล (casuality) และความเป็นจริงของสิ่งที่นำมาศึกษา หรือที่เรียกกันว่า “การศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมศาสตร์ (behavioralism)” ที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ในระยะต่อมา ได้มีนักรัฐศาสตร์ยุคใหม่ได้โต้แย้งว่า ท้จริงแล้วรัฐศาสตร์ที่ปราศจากคุณค่าหรือค่านิยม และอคติ อันเป็นสาระสำคัญของการศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมนิยมนั้น หาได้เป็นความจริงแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากการเลือกประเด็นที่จะศึกษาก็เป็นการตัดสินใจที่แฝงคุณค่าหรือค่านิยมต่อเรื่องนั้นอยู่แล้ว เช่น การศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองโดยละเลยที่จะพิจารณา บทบาทของรัฐ นโยบายของรัฐและรูปแบบทางการเมืองการปกครอง ก็ย่อมเป็นข้อสรุปเบื้องต้นอย่างกลาย ๆ อยู่แล้วว่า ผู้ศึกษามองรูปแบบการปกครองของรัฐนั้นว่าเหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องของการแสดงฝักฝ่ายในการศึกษาอยู่นั่นเอง นอกจากนี้ การที่รัฐศาสตร์ล้วนพัวพันกับอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองการปกครองและการแบ่งสรรผลประโยชน์หรือคุณค่าต่าง ๆ ในสังคม ก็ยังป็นสิ่งที่สะท้องให้เห็นว่าความเป็นกลาง (neutrality) และความเป็นศาสตร์ (science) อย่างแท้จริงของรัฐศาสตร์แนวพฤติกรรมนิยมนี้ หาได้เป็นเช่นดังที่ เนวิล จอห์นสัน (Nevil Johnson) กล่าวไว้แต่อย่างใดเลย

แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันในวงวิชาการรัฐศาสตร์ว่า แนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์นั้น พอจะแบ่งออกได้เป็น 6 แนวทางใหญ่ ๆ คือ

1. การศึกษาเรื่องรัฐบทบาทและหน้าที่ของรัฐ

2. การศึกษาเรื่องสถาบันทางการเมืองและการปกครอง ที่มาแห่งอำนาจ การบ่งสรรอำนาจและรูปแบบการปกครอง

3. การศึกษาเรื่องอำนาจ ผู้ครอบอำนาจ การใช้อำนาจหน้าที่

4. การศึกษาเรื่องการตัดสินตกลงใจและนโยบายสาธารณะ

5. การศึกษาเรื่องพฤติกรรมทางการเมือง ช่น การรวมกลุ่ม การลงคะแนนเสียง และทัศนคติทางการเมือง

6. การศึกษารัฐศาสตร์โดยพิจารณาถึงปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่เรียกว่า สังคมวิทยาการเมือง (Political Sociology) และ เศรษฐกิจการเมือง (Political economy)

ขอบข่ายหรือสาขาของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์

แม้ในปัจจุบันนักรัฐศาสตร์ต่างยังไม่อาจหาข้อยุติได้ว่าการศึกษารัฐศาสตร์ควรมีขอบข่ายวิชาครอบคลุมไปในเรื่องขอลข่ายอะไรบ้างและควรศึกษาอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของวิธีการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ และผู้เขียนเอกสารบรรยายก็มิได้มุ่งประสงค์ที่จะชี้ข้อสรุปเช่นนั้น ดังจะเห็นได้จากขอบข่ายการศึกษาวิชานี้ที่ได้ยกมาให้เห็นอย่างค่อนข้างหลากหลายแต่อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในทางหนึ่ง ไม่ว่าขอบข่ายของการศึกษารัฐศาสตร์จะเป็นไปในแบบใด ต่างก็เน้นไปที่ความมุ่งหมายของการศึกษารัฐศาสตร์อย่างน้อย 2 ประการ คือ (1) เพื่อแสวงหาความเป็นศาสตร์ทางการเมือง และ (2) แสวงหาหนทางไปสู่ความมีชีวิตที่ดีของมนุษย์ในสังคม ด้วยกันทั้งสิ้น

การศึกษาวิชารัฐศาสตร์หรือแขนงวิชารัฐศาสตร์นั้น ได้มีนักวิชาการทั้งต่างประเทศและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ไทยได้จำแนกแยกย่อยขอบเขตของวิชารัฐศาสตร์ไว้หลายแขนง เช่นที่ เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ (2508, 10-11) ได้จำแนกขอบเขตการศึกษารัฐศาสตร์เพื่อความสะดวกและประโยชน์ในการวิจัย ออกเป็น 6 แขนงประกอบด้วย

1.ทฤษฎีการเมืองและประวัติความคิดทางการเมือง (Political theory and History of political thought)

กลุ่มนี้วิจัยถึงทฤษฎี ตำราและความคิดเห็นต่าง ๆ ที่สำคัญตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยปัจจุบันเพื่อทราบถึงเหตุและผล รวมทั้งการต่อเนื่องกันของสถาบันการเมือง

2.สถาบันทางการเมือง (political inlititutions)

สาขาวิชานี้เจาะจงวิจัยและนิยามระบบ องค์ประกอบ และอำนาจของสถาบันทางการเมือง รวมทั้งนโยบายการจัดตั้งและโครงร่างของการปกครองของรัฐ (รวมทั้งการปกครองส่วนท้องถิ่น) และการปกครองเปรียบเทียบระหว่างรัฐ (Comparative govemment)

3.กฎหมายสาธารณะ (Public laws)

กลุ่มนี้มุ่งไปในงานวิจัยรากฐานของรัฐรวมทั้งปัญหาของการแบ่งแยกอำนาจ ค้นคว้าถึงความสัมพันธ์ของกฎหมายทั่วไปกับกฎหมายสูงสุดของรัฐ และปัญหาการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย การพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของระบบศาลยุติธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างจารีตประเพณีกับกฎหมายด้วย

4.พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลและประชามติ (Political parties, Pressure hroups and publics opinion)

กลุ่มนี้พิจารณาถึงบทบาท จุดประสงค์การจัดตั้งและผลของพรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพล และประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความพยายามที่จะมีอิทธิพลต่อสถาบันทางการเมืองรวมทั้งการประเมินผลการใช้ปัจจัยทั้งสามโดยนักการเมือง

5.รัฐประศาสนศาสตร์ (Public administration)

ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการกำลังคน เงินและวัตถุ ในอันที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตจำนงของการปกครองของรัฐ กลุ่มนี้จึงเกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติ (execution) ให้เป็นไปตามอุดมคติและจุดประสงค์ของรัฐอย่างมีสมรรถภาพและได้ผลที่สุด

6. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relation)

พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนโยบาย หลักการและวิธีการในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐแขนงวิชาที่รวมอยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ นโยบายต่างประเทศ การเมืองและการบริหารระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศและการดำเนินการทางการฑูต

จรูญ สุภาพ (2522, 7-10) ได้จำแนกขอบเขตการศึกษารัฐศาสตร์ออกเป็น 8 แขนง ประกอบด้วย

1. ทฤษฎีหรือปรัชญาการเมือง

คำว่า “ทฤษฎีการเมือง (Political Theory)” นั้น มีความเกี่ยวข้องกับหลายคำที่เราท่านอาจเคยได้ยินหรือคุ้นเคยมาบ้างเช่นคำว่า “ความคิดทางการเมือง (Political Thought)” ซึ่งหมายถึง ความเชื่อเกี่ยวกับการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดในยุคหนึ่งยุคใดและปรัชญาทางการเมือง อันหมายถึง หลักจริยธรรมซึ่งถือเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของสังคม อันเป็นเสมือนหลักการแห่งเหตุผล หรืออธิบายในแง่หนึ่งได้ว่าเป็นเหมือนราดฐานของระบบการเมือง ซึ่งแต่ละรูปแบบระบบการเมืองก็จะมีปรัชญาการเมืองเป็นเบื้องหลังแตกต่างกันไป ควบคู่ไปกับอุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) ซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายทางการเมืองที่เป็นพลังผลักดันให้มนุษย์มีพฤติกรรมหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น เหตุที่ทฤษฎีทางการเมืองเกี่ยวข้องกับปรัชญาทางการเมือง และความคิดทางการเมืองก็เนื่องมาจาก ทฤษฎีการเมืองเป็นสาขาวิชาที่มีรากฐานมาจากวิชาปรัชญาการเมืองหรือความคิดทางการเมือง (ทินพันธ์ นาคะตะ 2541, 19)

นอกจากนี้ ทฤษฎีการเมืองนี้สิ่งสำคัญยังช่วยให้นักรัฐศาสตร์สามารถรวบรวมข้อมูลที่ได้จากสาขาวิชาอื่น และดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่เกี่ยวกับการเมืองได้อย่างมีกรอบและทิศทางอ้างอิง และสามารถนำข้อมูลนั้นมาหาข้อสรุปและแนวทางในการแก้ไขปัญหาเชิงปฏิบัติ เช่น การใช้หลักกฏหมายในการปกครองประเทศ การถ่วงดุลอำนาจ เป็นต้น

2. พรรคการเมือง มติมหาชน และกลุ่มอิทธิพล ซึ่งรวมเรียกว่า Political Dynamics

สาขาวิชานี้นับได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ได้รับความสนใจกันทั่วไป โดยเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาถึงพลังต่าง ๆ ที่มีผลต่อรัฐบาลและการเมือง เช่น อำนาจทางศิลธรรม เศรษฐกิจสังคม เป็นต้น และพลังอำนาจเหล่านี้ จะช่วยให้เข้าใจถึงการดำเนินงานทางการเมืองและลักษณะแห่งปรากฎการณ์ทางการเมือง สาขานี้ครอบคลุมถึงการศึกษาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ องค์การ และวิธีการต่าง ๆ ของพรรคการเมือง บทบาทของกลุ่มอิทธิพล การวัดและการใช้มติมหาชน การวิเคราะห์การโฆษณาชวนเชื่อ และคำที่สือความหมายทางการเมือง ประโยชน์ของวิชานี้คือช่วยในการวิเคราะห์ทางการเมือง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมือง

3. กฎหมายที่เกี่ยวกับสาธารณะหรือกฎหมายมหาชน

การศึกษารัฐศาสตร์ในสาขากฎหมายมหาชน นับได้ว่ามีพัฒนาการความเป็น มาอันยาวนาน กระทั่งกล่าวได้ว่ากฎหมายมหาชนเป็นองค์ประกอบที่เก่าแก่ที่สุดของรัฐศาสตร์ ในอดีตกฎหมายมหาชนศึกษาเกี่ยวกับอำนาจและขอบเขตแห่งอำนาจของรัฐบาลการควบคุมกิจกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยรัฐบาล รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลกัลรัฐบาล เช่น การศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง เป็นต้น ส่วนปัจจุบันกฎหมายมหาชนได้หันมาศึกษาถึงปกากฎการณ์ทางกฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับการเมืองการปกครอง เช่น แนวความคิดต่าง ๆ ที่เน้นในกฎหมายรัฐธรรมนูญ การกำหนดและตีความในข้อบัญญัติเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของรัฐบาล กฎหมายปกครอง ตลอดจนการศึกษาในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระบวนการตุลาการกล่าวเช่นนี้ นักศึกษาจะเห็นภาพได้ว่า วิชารัฐศาสตร์จะเริ่มต้นด้วยการศึกษาเกี่ยวกับหรือสัมพันธ์กัยกฎหมายมหาชนอย่างแยกไม่ออก เนื่องจากกิจกรรมเกือบทุกอย่างของรัฐบาลย่อมมีความเกี่ยวพันกับกฎหมายอยู่เสมอ

4. รัฐประศาสนศาสตร์

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจ นับได้ว่าเป็นสาขาหรือแขนงใหม่ของวิชารัฐศาสตร์ เนื่องจากการที่รัฐบาลมีขอบเขตการทำงานหรือการบริหารงาน ที่ต้องนำเอากฎหมายและนโยบาลการตัดสินใจไปสู้การปฏิบัติที่กว้างขวางมากขึ้นนอกจากนี้ ยังเป็นความสำคัญที่จะต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่าง ๆ ในการจัดองค์การและการบริหารงาน โดยมุ่งเน้นในเรื่องความถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในปัจจุบัน การศึกษารัฐประศาสตร์มีความสัมพันธ์กับรัฐศาสตร์และประกอบไปด้วยการศึกษาที่ยึดหลักประสิทธิภาพในการบริหาร ความเสมอภาคและเป็นธรรมในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง นโยบาย และการบริหาร มนุษย์สัมพันธ์ ภาวะผู้นำ องค์การสาธารณะ ระบบราชการ ทฤษฎีองค์การ รัฐประศาสนศาสตร์เปรียบเทียบ พัฒนบริหารศาสตร์ รวมทั้งเทคนิคตลอดจนวิธีดำเนินการวิจัยทางการปฏิบัติการใหม่ ๆ เป็นต้น

5.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการฑูต การเมืองระหว่างประเทศกฎหมายระหว่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ

การศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ได้รับความสนใจอย่างมาก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งก่อนสงครามโลกครั้งดังกล่าว มิได้ถือกันว่าวิชานี้เป็นสาขาหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ โดยต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้นในภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระยะหลังมีหลายสาขาที่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาทิเช่น การฑูต การเมืองระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศนโยบายต่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์และความรู้ของวิชาต่าง ๆ ในสาขาสังคมศาสตร์ด้วย เช่น ภูมิศาสตร์ ประชากร เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นต้น

6.รัฐบาลเปรียบเทียบ

สาขาวิชานี้นับได้ว่าเป็นสาขาวิชาที่เก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่ง พอ ๆ กับวิชาทฤษฎีการเมือง ดูได้จากการศึกษาสังเกตลักษณะของรัฐบาลต่าง ๆ ของอริสโตเติ้ลในสมัยโบราณ ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษารัฐบาลเปรียบเทียบเป็นครั้งแรกของโลก สาระสำคัญของวิชานี้คือการสำรวจศึกษาระบบ รัฐบาลและการเมืองของประเทศต่าง ๆ ในนานาทวีป

7. สภา (Legislature) และการออกกฎหมาย (Legislation)

8. รัฐบาล และการธุรกิจ

โรดี และคณะ (Rodee and Others 1983, 7-15) กล่าวว่า นับเป็นเวลาประมาณ 2,500 ปี ที่วิชารัฐศาสตร์ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับรัฐในเรื่องการกำเกิดรัฐ การตัดสินความ ข้อจำกัดอำนาจหน้าที่ กระบวนการและกระบวนการวิธีเหมาะสมในการศึกษา แต่กระนั้น นักรัฐศาสตร์ก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับการจำแนกแยกย่อยขอบเขตของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ที่สมบูรณ์และถูกต้องเพียงพอ (complete and sufficiently exact)

โรดี และคณะ (Rodee and Others 1983, 7-15) ได้จำแนกขอบเขตการศึกษารัฐศาสตร์ไว้ 12 สาขาด้วยกัน กล่าวคือ

1. ปรัชญาการเมือง (Political philosophy)

2. การตัดสินความและกระบวนการทางกฎหมาย (Judicial and legal process)

3. กระบวนการทางบริหาร (Executive process)

4. องค์การทางการบริหารและพฤติกรรม (Administrative organization and behavior)

5. การเมืองว่าด้วยการนิติบัญญัติ (Legislative politics)

6. พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ (Political parties and interest groups)

7. การออกเสียงและมติมหาชน (Voting and public opinion)

8. การกล่อมเกลาทางการเมืองและพฤติกรรมทางการเมือง (Political socialization and political culture)

9. การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative politics)

10. การพัฒนาทางการเมือง (Political development)

11. การเมืองระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ (International politics and organization)

12. ทฤษฎีทางการเมืองและวิธีการศึกษา (Political theories and methodology

ประวัติความเป็นมาของวิชารัฐศาสตร์

รัฐศาสตร์นั้น กล่าวได้ว่ามีการพัฒนาก้าวหน้ามาจนเป็นวิชาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเองโดยเฉพาะ การกล่าวเช่นนี้ย่อมหมายถึงวิชารัฐศาสตร์ได้ผ่านขั้นตอนของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ที่สืบสาวกลับไปถึงสมัยกรีกโบราณเมื่อประมาณ 300-500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช

สมัยกรีกโบราณ (ancient Greek) ที่ถือเป็นแหล่งสืบค้นเรื่องราวการศึกษาเกี่ยวกับการเมืองและรัฐดังกล่าว เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดนักปราชญ์ทางด้านการเมืองเรียกว่า นักปรัชญาการเมืองที่สำคัญของโลก ได้แก่ เพลโต (Plato , 427-347 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของวิชาทฤษฎีการเมืองและอริสโตเติล (Aristotle,384-322 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้ถือว่าเป็นบิดาของวิชารัฐศาสตร์ตะวันตก

แนวความคิดที่สำคัญของนักปรัชญาการเมืองกรักโบราณทั้งเพลโตและอริสโตเติลนั้น มุ่งพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างมนุษย์กับรัฐในแง่คิดปรัชญาการเมือง(political philosophy) ด้วยการมองปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น การแสวงหาความยุติธรรม และรูปแบบของการปกครองที่ดี โดยมีภารกิจหลักพื้นฐานหรือที่เรียกว่าเจตจำนงค์อันเป็นเป้าหมายทางการเมืองของรัฐและรัฐบาลคือการสร้างสรรชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในรัฐ

ผลงานตามแนวคิดของเพลโต้ปรากฏในงานเขียนอันโด่งดังเรื่อง “อุตมรัฐ” หรือ “Republic” ได้กล่าวถึงรูปเบบการปกครองตามอุดมคติที่จะต้องปกครองด้วยนักปราชญ์ผู้ทรงความรู้และคุณธรรมกล่าวคือ เป็นผู้ที่มีความรู้สูงและรักษาความยุติธรรม หรือที่เพลโต้เรียกว่า “ราชาปราชญ์ (Philosopher King) อุตมรัฐนั้นเองจะเป็นเครื่องมือที่แก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของมนุษย์และสถาบันทางการเมือง เ พลโต้เชื่อว่ามนุษย์จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อร่วมกันทำคุณงามความดี โดยหน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐก็คือการส่งเสริมให้มนุษย์มีคุณธรรมความดี (virtue) และมีความสุข (happiness) และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่างรัฐจึงจำเป็นต้องมีกฏเกหมายและสถาบันทางการปกครอง กฎหมายมีไว้เพื่อให้บุคคลประกอบความดีละเว้นความชั่ว ส่วนสถาบันการปกครองนั้นมีไว้เพื่อเป็นส่วนส่งเสริมให้การใช้กฎหมายนั้นเป็นไปได้ รัฐในทัศนะของเพลโต้จึงเป้นผลที่สืบเนื่องมาจากความมาสมบูรณ์ของมนุษย์(imperfection of human nature) (อานนท์ อาภาภิรม 2545, 5)

อริสโตเดิ้ล ลูกศิษย์คนสำคัญที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเพลโต้ ผู้ได้ให้ฉายาวิชารัฐศาสตร์ว่าเป็นวิชาหรือ “ศาสตร์สถาปัตยสมบูรณ์ลักษณ์” (Architectonic Science) นั้น ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์แสวงหารูปแบบการปกครองที่เหมาะสม จากรัฐบาลต่าง ๆ ที่ตนได้สังเกตการณ์ซึ่งแตกต่างกันไปตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละรัฐ รวมทั้งได้สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้จากนักปราชญ์รายอื่นและที่สำคัญได้แก่ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มการาช ผู้เป็นลูกศิษย์เอก

แนวความคิดสำคัญเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของอริสโตเติ้ลปรากฎในหนังสือชื่อ “การเมือง” หรือ “Politics” โดยกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเป็นอำนาจสูงสุด (Ulitimate Sovereign) มาควบคุมมนุษย์ เนื่องจากอริสโตเติ้ลเชื่อว่ามนุษย์ในสภาพธรรมชาติไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และความต้องการของมนุษย์จะไม่อาบรรลุได้เลยอันหมายความว่าชีวิตมนุย์ไม่อาจสมบูรณ์ได้หากมิได้อยู่ในนครรัฐ (อริสโตเติ้ลหมายถึงนครรัฐกรีก) และระบบการเมืองและมนุษย์จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Aristotle. The politics of Aristotle, ed.And trans. by Ernest Barker 1966 อ้างถึงในทินพันธ์ นาคะตะ 2541, 63-64) และกฎหมายหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญเมื่อประกอบกับองค์การรัฐบาลแล้ว จะยังผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเสมอภาคทั้งในด้านกฎหมายและศีลธรรม ความคิดทางการเมืองในยุคสมัยกรักโบราณที่มุ่งแสวงหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของการเมืองและรูปเบบการเมืองการปกครองที่ดี มีความยุติธรรมที่สุด เพื่อเอื้อให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีภายในนครรัฐ ได้เป็นแก่นสารัตถะของปรัชญาความคิดทางการเมืองสมัยกรีกโบราณ โดยเฉพาะจากผลงานของเพลโตและอริสโตเติ้ล ดังกล่าว ได้กลายเป็นกรอบความคิดพื้นฐานของการเมือง อันเป็นหัวใจของวิชารัฐศาสตร์ (วิวัฒน์ เอี่ยมไพรวัน 2544, 9) สืบต่อเนื่องมากระทั่งปัจจุบัน และได้ส่งผลให้การศึกษาทางรัฐศาสตร์เติบโตขึ้นมาเป็นลำดับ และท้าทายให้นักคิดนักปราชญ์ทางการเมืองในยุคต่อมา เกิดความสนใจศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และการเมืองที่แตกต่างมุมมองกันออกไป ตัวอย่างเช่น นักปราชญ์กลุ่มสตอยอิกส์ (Stoic Philosophist) ในยุคโรมันตอนต้น มีทัศนะที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเพลโตและอริสโตเติ้ลที่ว่าชีวิตที่ดีของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ภายใต้นครรัฐ ซึ่งเป็นการผูกเงื่อนไขในเรื่องความจำเป็นของการมีรัฐและรูปแบบของรัฐไว้กับการมีชีวิตที่ดีของมนุษย์ในรัฐ ในขณะที่นักปราชญ์กลุ่มดังกล่าวเห็นว่า ชีวิตที่ดีของมนุษย์นั้นแท้จริงก็คือความเป็นปัจเจกชนที่ไม่ต้องผูกพันธ์อยู่กับรัฐ เนื่องเพราะรัฐและอำนาจการเมือง เป็นสิ่งที่มนุษย์ สูญเสียเสรีภาพที่มีมาพร้อมกับความเป็นปัจเจกบุคคล รวมทั้งความเสมอภาคในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้น

ในช่วงระหว่าง 200 ปี ก่อนคริสต์ศักราช จนถึงช่วงราวศตวรรษที่ 4 หรือเรียกว่า ยุคโรมัน วิทยาการความรู้ไม่เพียงเฉพาะรัฐศาสตร์ในเชิงปรัชญา และวิชาการทางสังคมศาสตร์อื่นถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นตกอยู่ในภาวะความชะงักงัน ทั่งนี้ด้วยเพราะชาวโรมันไม่ใคร่จะใส่ใจแนวคิดเรื่องปรัชญาทางการเมืองสักเท่าใดนัก แต่ให้ความสำคัญกับงานทางด้านสถาปัตยกรรมหรือเทคนิคการก่อสร้างและงานด้านการเกษตรกรรมเพาะปลูกพืช ในช่วงนี้ องค์ความรู้ที่ได้สั่งสมมาจากยุคกรีกโบราณจึงไม่ได้รับการกล่าวถึงแต่อย่างใด แต่กระนั้น จักรวรรดิโรมันยังนับว่าได้สร้างคุณูปการอันเป็นมรดกแก่วิชารัฐศาสตร์สืบต่อมาได้แก่ หลักกฎหมายหรือหลักนิติศาสตร์ หลักการบริหารราชการหรือการบริหารรัฐกิจตลอดจนแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติ และสิทธิธรรมชาติของมนุษย์ (Natural Rights) ของซิเซโร (Cicero) หลักการและแนวคิดเหล่านี้ จรูญ สุภาพ (2522, 3) อธิบายว่า มีรากฐานสำคัญมาจากปรัชญาสตอยอิค (stoicism) ซึ่งถือว่ามนุษย์ทั่งปวงมีความเสมอภาค ภราดรภาพและมีที่มาจากพระเจ้า รวมทั้งการเคารพในคุณค่าของปัจเจกชน (individual) โดยไม่คำนึงถึงฐานทางสังคมของบุคคล อันถือได้ว่าเป็นต้นธารปรัชญาและหลักการการปกครองแบบประชาธิปไตยตะวันตก

ในยุคกลางหรือยุคสมัยที่คริสตจักร (the Church of Christ) เรืองอำนาจก่อนสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือที่เรียกกันว่า ยุคกลาง อยู่ในช่วงนับจากยุคหลังจักรวรรดิโรมันถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยประมาณ การศึกษาเรื่องรัฐมีความสำคัญลดลงจนเรียกว่ได้เป็นยุคมืดของการศึกษารัฐศาสตร์ เนื่องจากในยุคนี้อิทธิพลทางการปกครองถูกครอบงำโดยอำนาจของศาสนจักร (the Mediaval Hegemony of the Church) หรือการมีอิทธิพลของศาสนจักรหรือผู้นำทางศาสนาในการสถาปนาและถอดถอนกษัตริย์ในยุคกลาง และการเข้ามามีบทบาทบงการนฑโยบายของรัฐรวมถึงการวินิจฉัยข้อโต้แย้งทางการเมืองของศาสนจักรซึ่งเป็นผลมาจากการครอบงำทางความคิดเรื่องการได้มีซึ่งอำนาจการปกครองจากพระผู้เป็นเจ้าของศาสนจักร ดังปรากฎแนวคิดของนักบุญหลายท่านเช่น “ The City of God” ของเซนต์ออกัสติน (St.Augustine) ผลงานของเซนต์โธมัส อะไควนัส (Aquinas) เป็นต้น กระทั่งทฤษฎีการเมือง (political theory) ได้กลายสภาพมาเป็นสาขาหนึ่งของศาสนศาสตร์ (Theology) อย่างไรก็ดี เบอร์นอล (J.D. Bernal 1971, 270)ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ปรัชญาทางรัฐศาสตร์และตกต่ำในสมัยนี้ ภาระหน้าที่ในการพัฒนาความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อันรวมไปถึงงานทางวิชาการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะงานเขียนเกี่ยวกับปรัชญาความรู้ทางการเมืองของสมัยกรีกโบราณ ยังคงได้รับการสืบทอดรักษาจนกระทั่งมาเป็นมรดกของโลกในปัจจุบันโดยพวกนักปราชญ์หรือปัญญาชนชาวอาหรับ โดยอาศัยการแปลต้นฉบับมาเป็นภาษาอาหรับที่แพร่หลายในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-11 ก่อนที่จะกลับมาฟื้นฟูในยุโรปอีกครั้งหนึ่งในยุคเรเนอซองค์หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

เป็นที่น่าสนใจกล่าวถึงว่าศาสนจักรสมัยนั้นเข้ามามาบทบาทในปริมณฑลทางการเมืองการปกครองทางโลกได้อย่างไร ปัญหาข้อนี้พิจารณาได้จากผลงานเขียนของ อนุสรณ์ ลิ่มมณี (2542B, 12-14) ได้ว่า การเติบโตของคริสตศาสนจักรได้แยกรัฐออกจากสังคม จากเดิมเคยเป็นมาในลักษณะคล้ายนครรัฐของกรีกโบราณที่เป็นแบบรัฐสังคมที่ได้กล่าวไปแล้ว และเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับสังคมได้ขยายกว้างมากขึ้นในยุคจักรวรรดิโรมันที่รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมเป็นไปอย่างเสรี บุคคลมีสิทธิเสรีภาพและเริ่มคิดเรื่องส่วนตัว (private) หรือกล่าวได้ว่ามีความเป็นปัจเจกชนนิยมมากขึ้น ในขณะเดียวกับที่ความคิดทางศาสนาได้กันคนออกจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม อันเป็นเรื่องที่จะต้องเกี่ยวกับรัฐ คนเริ่มมีโลกส่วนตัวที่อสวงหาศาสนามาเป็นเครื่องยืดเหนี่ยวมากขึ้น กระทั่งอำนาจของคริสตจักรได้แทรกซึมไปมีอิทธิพลเหนือจิตใจของผู้คนในสังคม และเริ่มแผ่อิทธิพลอำนาจเชิงปกครองไปยังประชาชนโดยตรง โดยอาศัยระยะเวลาหลายร้อยปีผ่านพีธีกรรมและการตีความหลักการทางศาสนาและการหล่อหลอมกล่อมเกลาความเชื่อทางศาสนาที่คาบเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง รวมทั้งการเสนอแนวคิดทฤษฎีทั้งหลายที่เกี่ยวกับอำนาจของศาสนจักรและอำนาจสองฝ่าย (Theories of Dyarchy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิสองอำนาจ (Doctrine of Two Powers)ในช่วงศตวรรษที่ 1 ถึงศตวรรษที่ 5 ลัทธิเกี่ยวกับสภาพแห่งจุดมุ่งหมายทางโลก (Doctrine of the Nature of Temporal End)ที่ได้เสนอไว้ในช่วงศตวรรษที่ 13 การยกเลิกอำนาจของฝ่ายอาณาจักรในสมัยสันตปาปา Boniface ที่ 8 ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 14

แต่อย่างไรก็ดี ศาสนาจักรก็มิได้มีบทบาทในการเมืองการปกครองรัฐและสังคมแต่เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายอาณาจักรที่เป็นผู้ปกครองตามระบบฟิวดัล (Feudalism) ก็ยังมีอำนาจส่วนหนึ่งในการปกครองอาณาจักร และได้พัฒนาความเข้มแข็งของกองกำลังทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจุดประสงค์แรกเริ่มในการคานอำนาจ กระทั่งต่อมาได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่วนสำคัญในการริดลอดลดทอนบทบาทและอำนาจของฝ่ายศาสนจักรต่อการแทรกแซงสังคมให้ลดลง นอกเหนือไปจากปัจจัยอีกอย่างน้อย 2 ประการซึ่งได้แก่ การเติบโตขึ้นของแนวคิดเชิงปัจเจกชนนิยมและระบบการผลิตแบบทุนนิยม รวมถึงการตีความศาสนาในแนวทางใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของปัจเจกชนและไม่จัดกับการแสวงหากำไรจากการผลิตของชนชั้นกลาง (bourgeoisie) และการปฏิรูปศาสนาในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 จากการเรียกร้องของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King) นักบวชในคริสตจักรชาวเยอรมัน

ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (the Age of Renaissance) ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศอิตาลีในราวต้นศตวรรษที่ 14 จารการที่บรรดาปัญญาชนในยุคนั้นได้หันกลับมาให้ความสนใจผลงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาการเมืองการปกครอง อุดมการณ์แห่งรัฐและสังคมของกรีกโบราณและโรมันอย่างเอาจริงเอาจัง ความสนใจนี้ได้แพร่หลายออกไปสู่ประเทศทางยุโรปตอนบน ในลักษณะของขบวนการทางศิลปะและวิชาการที่อาศัยรากฐานความรู้ของกรีกโบราณ อาทิ ศิลปกรรม วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ปรัชญา การเมืองการศึกษาและการศาสนา ซึ่งได้ยังผลต่อเนื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดความเชื่อในหมู่ประชากร เบิร์น (Edward Burns 1963, 384) กล่าวว่า ผู้คน ในสังคมยุโรปสมัยนั้นเริ่มมีโลกทัศน์ที่กว้างขวางยึดถือความเชื่อในเรื่องในของการแสวงหาความสุขส่วนบุคคลหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และความเป็นปัจเจกชนนิวม (Individualism) มากขึ้น พร้อม ๆ ไปกับการเติบโตของระบบการผลิตแบบทุนนิยม ซึ่งเกื้อหนุนกับความคิดแบบปัจเจกชนนิยมดังกล่าว ประกอบกับการถูกลดทอนลงของอำนาจพระสังฆราช (pope) และจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Emperor) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการปฏิรูป(the Reformation) ภายใต้อำราจการปกครองและอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งของกษัตริย์ที่ได้เติบโตถ่วงดุลอำนาจใหม่ระหว่างอาณาจักรและศาสนจักรในคาบเวลาต่อมา การศึกษารัฐศาสตร์ในยุคนี้จึงได้หวนกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง ด้วยการนำองค์ความรู้และผลวารของนักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ในสมัยกรีกโบราณและโรมันมาปัดฝุ่นอีกครั้งดังกล่าว

วิวัฒนาการของรัฐศาสตร์ได้เดินทางเรื่อยมากระทั่งถึง ยุคใหม่ ซึ่งนับเริ่มตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ศาสตราจารย์ ดร.บรรพต วีระสัย และอวยชัย ชบา ได้อธิบายว่า ในยุคนี้ วิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์มักไม่สนใจในเรื่องมาตรฐานของความดีหรือความชั่วความควรหรือไม่ควรในทางการเมือง แต่หันไปให้ความสนใจกับการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขี้นเป็นกรณี ๆ ไปหรือที่เรียกกันว่า การศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioralism ดู “BEHAVIORALISM” ) ด้วยการให้ความสำคัญกับแหล่งข้อมูลที่ได้จาการรวบรวมเชิงประจักษ์และผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้ที่อิงแนวคิด ทฤษฎีหรือข้อสรุปทั่วไป(Generalization) มากกว่าในยุคแรกที่เป็นการศึกษาเชิงปรัชญาทางการเมือง (บรรพต วีระสัย และอวยชัย ชบา 2525, 16)โดยมุ่งพิจารณาเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหรือการเสนอแนะรูปแบบการประพฤติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น 16 นี่เป็นสิ่งที่อธิบายให้เห็นได้ว่าเหตุใดการศึกษารัฐศาสตร์โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมุ่งเน้นไปในเรื่องของการศึกษาปรากฎการณ์และพฤติกรรมทางเมือง

การลำดับวิวัฒนาการของการศึกษาหรือความเป็นมาของวิชารัฐศาสตร์ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น เราอาจสรุปเป็นหัวข้อการแบ่งวิวัฒนาการของการศึกษารัฐศาสตร์ออกเป็น 4 สมัยด้วยกัน ดังที่ ทินพันธ์ นาคะตะ (2541, 14-17) ได้เสนอดังนี้

1. สมัยที่ศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาทางศีลธรรมทั่วไป

ในสมัยนี้ นับเนื่องจากสมัยกรีกโบราณจนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นเวลายาว นานประมาณ 2,500 ปี ลักษณะสำคัญของการศึกษารัฐศาสตร์ยุคนี้คือวิชาการเมืองยังคงรวมศึกษาอยู่ในการศึกษาเกี่ยวกับสังคมทั่วไป จึงยังไม่ปรากฎสาขาวิชาย่อยใด ๆ ของศาสตร์ว่าด้วยดารเมืองเช่นในสมัยปัจจุบัน การศึกษาได้เน้นในเรืองความเป็นมาของความคิดทางการเมืองในสังคมตะวันตก โดยในสายตัวของนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาแบบเน้นความเป็นศาสตร์ รัฐศาสตร์ในยุคนี้มิได้มีความเป็นศาสตร์อันแท้จริงและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื้อหาสาระของวิชาส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยหัวข้อที่มีความสัมพันธ์กันน้อย ขาดแนวคิดทางทฤษฎีที่ชัดเจนและขาดระเบียบวิธีการศึกษาที่รัดกุม โดยมีลักษณะเป็นการรวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสังคมในสมัยหนึ่ง ๆ ซึ่งไม่ค่อยซ้ำแบบกันมาศึกษาเท่านั้น

2. สมัยการศึกษาในเรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐ

การศึกษารัฐศาสตร์ในยุคนี้กล่าวได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการศึกษารัฐศาสตร์ที่เน้นวิชาการเมืองที่มีลักษณะเป็นศาสตร์ โดยมีนักคิดสำคัญชื่อศาสตราจารย์เบอร์เกส (J. W.Burgess) ร่วมกับนักคิดหลายท่านเป็นผู้นำแนวทางการศึกษาแบบปฏิฐานนิยม (Positivism)ของเจเรมี่ เบนแธม (Jeremy Bentham) และออสติน แรนนี่ (Austin Ranney) มาปรับใช้ในการศึกษาความเป็นไปไม่เกี่ยวกับรัฐ นับจากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเริ่มปรากฎตำราต่าง ๆ ทางรัฐศาสตร์อย่างมากมายหลากหลาย โดยเน้นความสนใจศึกษาในเรื่องความก้าวหน้าของกฎหมาย ข้อกำหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองแบบต่าง ๆ อำนาจที่เป็นทางการของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และศาล ประกอบควบคู่กับการศึกษาเรื่องปรัชญาการเมืองโบราณเป้าหมายของการปกครองและเป้าหมายของรัฐ และเน้นศึกษาความเป็นจริงทางการเมืองต่าง ๆ มากขึ้น

3. สมัยการศึกษารัฐศาสตร์เชิงอำนาจ หรือระยะที่สาม

การศึกษาการเมืองในยุคนี้ได้เน้นความสนใจศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มต่าง ๆ ที่ต่อสู้แข่งขันกันเพื่อมีอำนาจทางการเมือง จวบจนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราวปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 ความประการนี้พิจารณาจากแนวคิดของนักวิชาการสำคัญบางท่านได้แก่ เบนท์ลี่ (Bently) และทรูแมน (Truman) ที่เห็นว่ากิจกรรมทางการเมืองเป็นปรากฎการณ์ของกลุ่มหรือการเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ หรือเป็นการศึกษาที่เน้นในเรื่องกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งเป็นความพยายามอธิบายว่าการเมืองเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เพื่อมีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือการปกครองและนโยบายสาธารณะ อันเป็นการขยายขอบเขตของการศึกษาให้กว้างขวางมากขึ้นไปกว่าการยึดหลักกฎหมายและสถาบันที่มีอยู่ในสังคม ในระยะนี้เอง การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ได้ประกอบไปด้วยเรื่องปรัชญาทางการเมือง กฎหมายมหาชน การปกครองภายในประเทศรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจ การปกครองเปรียบเทียบและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศความก้าวหน้าเช่นนี้ส่งผลประการสำคัญต่อการศึกษารัฐศาสตร์ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งมีทฤษฎีต่าง ๆ สำหรับเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเน้นในการปฏิบัติที่สนใจศึกษาปัญหาต่าง ๆ ของสังคม

4. สมัยการศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมศาสตร์(Behavioralism)

เป็นยุคที่การศึกษารัฐศาสตร์มีพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กล่าวคือ เป็นการศึกษารัฐศาสตร์โดยหันมาให้ความสนใจอธิบายสาเหตุของปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ มีการนำเทคนิคในเชิงศาสตร์(Science) อย่างมีแนวคิดและทฤษฎีเป็นกรอบกำหนดความสัมพันธ์ของสิ่งที่ศึกษามาศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองของตัวบุคคล เช่น การศึกษาทัศนคติ สิ่งจูงใจ ค่านิยมแทนการศึกษาในรัฐศาสตร์ในเชิงโครงสร้างและสถาบัน ซึ่งมีผลทำให้วิชาการเมืองหรือรัฐศาสตร์ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นศาสตร์เชิงวิเคราะห์มากขึ้น การศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมศาสตร์นี้ กล่าวได้ว่าเป็นแนวทางการวิเคราะห์ที่แตกต่างไปจากแนวการศึกษาในรัฐศาสตร์แบบเก่า (Traditional Method) ซึ่งเป็นการใช้แนวทางการวิเคราะห์รัฐศาสตร์ด้วยปรัชญาทางการเมืองคลาสสิค อันจัดว่าเป็นวิธีการที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุด และมีลักษณะสำคัญเน้นในการประเมินค่าทางการเมือง การวินิจฉัยสถาบันหรือวิธีดำเนินการทางการเมืองว่าอย่างไรดี อย่างไรเลว อย่างไรจึงจะยุติธรรม และนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีของประชาชน 22 ด้วยการอนุมาน (deductive) มากกว่าการพิจารณาความเป็นเหตุเป็นผล (rationlity) เช่นที่ได้กล่าวถึงแนวความคิดของเพลโต้และอริสโตเติ้ลเป็นตัวอย่างการใช้รูปแบบการประเมินหรือการวินิจฉัยคุณค่าด้วยแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งจากนักวิชาการรุ่นใหม่ที่แสวงหาความเป็นสากลและความน่าเชื่อถือในความรู้ของรัฐศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ในปี 1920 นักรัฐศาสตร์อเมริกันบุคคลสำคัญซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก้ชื่อชาร์ลส์ เมอร์เรี่ยม (Charles E.Merrian) จึงได้นำเสนอรูปแบบการวิเคราะห์ทางการเมืองแบบพฤติกรรมขึ้น โดยนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแสวงหาความรู้สำหรับทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะ พฤติกรรมทางการเมืองของปัจเจกบุคคลอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งมีขอบเขตตั้งแต่การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบที่ไม่เคร่งครัดมากนัก เพียงแต่มีลักษณะของการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantification) ที่เป็นระบบและใช้การสังเกตการณ์ ไปจนถึงการใช้หลักการและสมมติฐานทางการวิจัยอย่างรัดกุมสมบูรณ์แบบมากกว่าการเป็นประเด็นทางปรัชญาโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัมนาข้อสรุปทั่วไปที่สร้างขึ้นจากข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical Generalization) และสร้างทฤษฎีที่เป็นระบบ (Systematic Theory) หรือมีทฤษฎีไว้เป็นแนวทางที่ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ นำไปอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง อันได้รับการกล่าวถึงว่าจะเป็นผลดีต่อวิชารัฐศาสตร์เป็นอันมาก ดังความเห็นของอีสตัน (David Eastion) นักรัฐศาสตร์ชื่อก้อง เจ้าของแนวคิดทฤษฎีระบบ ในสารานุกรม Intermational Encyclopedia of Social Science (1968) และยังช่วยให้นักรัฐศาสตร์สามารถมุ่งความสนใจศึกษาปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีความสำคัญต่อสังคม และศึกษาได้ง่ายขึ้น เช่น การศึกษาพฤติกรรมในการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน เป็นต้น

การศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมีความหมายเช่นไร จำเป็นเพียงไหนและมีลักษณะอย่างไร จะได้กล่าวถึงไว้โดยสังเขปเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ศึกษาดังนี้

การศึกษารัฐศาสตร์ในรูปแบบพฤติกรรมศาสตร์นั้นกล่าวได้ว่าเริ่มต้นกล่าวถึงกันนับแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา โดยอิทธิพลของแนวคิดปฏิฐานนิยมเชิงตรรก (Logical Positivism) ที่ได้ฝังรากลึกลงในการศึกษาวิทยาการทางสังคมศาสตร์อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ช่วยให้เกิดการวางกรอบความคิดทฤษฎีและขอบเขตของการศึกษาสาขาต่าง ๆ รวมทั้งรัฐศาสตร์ที่ชัดเจนสอดคล้องกับความคิดและสิ่งที่ศึกษาในแต่ละเรื่อง หรือช่วยสร้างรูปแบบวิธีการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับกันถึงความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้ 23 อันส่งผลให้การศึกษาในแบบปรัชญาและแนวนิติสถาบัน ซึ่งไม่มีรูปแบบและไม่สามารถพิสูจน์โดยหลักทางตรรกศาสตร์ได้ถูกกีดกันออกไปจากวงการวิชาการรัฐศาสตร์ในสังคมตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจาก ค.ศ. 1950 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสนใจอย่างเข้มข้นและความพยายามในการผลักดันให้การศึกษารัฐศาสตร์เป็นการศึกษาที่อิงวิทยาศาสตร์ ดังกล่าวได้เปิดทางให้ปรัชญาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) เข้ามามีอิทธิพลของการศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลต่อการศึกษาและวิเคราะห์การเมือง (Gabriel A. Almond 1990, chapter 2) ที่ยังได้รับความนิยมมาจนปัจจุบัน

คำว่า รัฐศาสตร์

คำว่ารัฐศาสตร์ หากพิจารณาโดยแยกศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ว่า “POLITICAL SCIENCE” เพื่อกำหนดความหมายพื้นฐานของรัฐศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่า “POLITICS” ซึ่งหมายความว่า การเมือง นั้น มีรากศัพท์มาจากคำว่า “polis” ในภาษากรีก หมายถึงนครรัฐ เป็นการจัดองค์กรทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ได้บังเกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว ในขณะที่ “SCIENCE” ก็คือศาสตร์ หรือวิชาในการแสวงหาความรู้ รัฐศาสตร์ตามรากศัพท์นี้ จึงเป็นวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือการสร้างบ้านเมือง หรือการสถาปนาชุมชน/เมืองขนาดใหญ่ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้คนใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยความสันติสุข

นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้ที่ได้ให้ความหมายของคำว่ารัฐศาสตร์ที่น่าสนใจพึงกล่าวถึงได้แก่ ยูเลา (Heinz Eulau 1963, 3) ซึ่งกล่าวว่า รัฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาว่าทำไมมนุษย์จึงคิดสร้างการปกครองมนุษย์ขึ้นมา

เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ (2508, 1-3) ให้นิยามของรัฐศาสตร์ว่าเป็น ศาสตร์ที่ว่าด้วยรัฐ (Science of the state) โดยเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับรัฐ วิวัฒนาการของรัฐ และรัฐในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกี่ยวกับองค์การปกครองหรือสถาบันทางการเมืองของรัฐ และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์ของเอกชนหรือกลุ่มชนกับรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ตลอดจนจนแนวการศึกษาความคิดทางการเมืองอันมีอิทธิพลมหาศาลต่อความคิดของนักการเมืองเอกของโลก และต่อวิวัฒนาการของรัฐและการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองการปกครอง ในทำนองเดียวกัน จรูญ สุภาพ (2522, 1) ได้นิยามรัฐศาสตร์ว่าเป็น สาขาขององค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ (Social Science) ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การจัดองค์กรทางการเมืองการปกครอง รัฐบาลหรือผู้ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง และวิธีรดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ โดยความหมายดังนี้ รัฐศาสตร์ จึงเป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับ 3 สิ่งคือ รัฐ สถาบันทางการเมืองการปกครอง และแนวความคิดทางการเมืองการปกครอง

มองลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับขอบข่ายเนื้อหาของการศึกษารัฐศาสตร์ เราจะได้นิยามความหมายของรัฐศาสตร์ว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการปกครองและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิด การรวม การเปลี่ยนแปลง และความเสื่อมของชุมชนการเมืองทั้งหลาย ตอลดจนรูปแบบของการปกครอง กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ชุมชนต่าง ๆ แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือทำการตัดสินใจ รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่ต่อกัน โดยเรื่องสำคัญ ๆ ที่ศึกษาได้แก่เรื่องความรุนแรง การปฏิวัติ การสงคราม ความสงบเรียบร้อย การปกครองแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการ การเลือกตั้ง การบริหาร หน้าที่พลเมือง การสรรหาผู้นำ ความปลอดภัยของชาติกับองค์การระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรม พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์กับพฤติกรรมทางการเมือง การกำหนดนโยบายสาธารณะ อุดมการณ์ทางการเมือง รวมทั้งความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของฝูงชน (Eulau and March 1975, 5)

สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ (เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ 2508, 10) เห็นว่า รัฐศาสตร์คือ การศึกษาเกี่ยวกับรัฐ และวิธีการอันเหมาะสมที่สุด ในอันที่จะปฏิบัติตามวิชาการที่เกี่ยวกับรัฐ ขอบเขตของวิชารัฐศาสตร์จึงรวมถึงส่วนประกอบทุกส่วนในความสัมพันธ์ภายในและภายนอกรัฐ

ทินพันธ์ นาคะตะ (2541, 3) อธิบายว่า รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งสำคัญ ต่าง ๆ ประกอบด้วย กำเนิดและลักษณะของรัฐ สถาบันการเมืองการปกครอง อำนาจ การตัดสินตกลงใจและนโยบายสาธารณะ ระบบการเมือง รวมทั้งการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความรู้ความเข้าใจ และหาคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ บังเกิดขึ้น

รัฐศาสตร์ในเชิงที่เป็นระเบียบการปกครอง อันแตกต่างไปจากคำว่า “การปกครอง” ที่หมายถึง ตัวกิจการที่ปฏิบัติ รัฐศาสตร์ในประการนี้จึงหมายความถึง ระบบของการปฏิบัติปกครอง โดยการจัดมาตรฐานและระเบียบภายในประชาคม (society) (เกษม อุทยานิน 2513, ข) ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งในสาขาสังคมศาสตร์ ที่เป็นวิชาใหญ่ในบรรดาวิชาการว่าด้วยสังคมมนุษย์ (เกษม อุทยานิน 2513, ก)

ความหมายของรัฐศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นศาสตร์ที่มีขอบเขตกว้างขวางของรัฐศาสตร์ ซึ่งผู้เรียบเรียงขอสรุปความหมายของรัฐศาสตร์โดยยึดความหมายดังที่ อานนท์ อาภาภิรม (2545, 2) ได้สรุปให้เห็นไว้ว่า รัฐศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับที่มาและพัฒนาการของรัฐ (Origin and Development of the State )การอธิบาย การวิเคราะห์และการเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญและรัฐบาล กระบวนการทางการเมือง (Political Process) ระบบกฎหมาย (Law System) บทบัญญัติของรัฐที่ใช้บังคับต่อปัจเจกชน (Individual) และกลุ่มคน (Groups) รวมไปถึงการศึกษาถึงองค์การและกิจกรรมของพรรคการเมือง (Political Parties) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและอุดมการณ์ระหว่างรัฐ การบัญญัติและการควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโดยวิธีการของกฎหมายระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ (International Organization) การกล่าวถึงนัยยะความหมายของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์อันมีคุณลักษณะในตัวที่เป็นแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์เช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้เห็นภาพส่วนประกอบของรัฐศาสตร์แล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานแก่ผู้ศึกษาที่จะทำความเข้าใจถึงขอบเขตของการศึกษา และโยงใยไปถึงแนวการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น

รัฐศาสตร์คืออะไร

รัฐศาสตร์ เป็นการศึกษากระบวนการแบ่งปันและถ่ายโอนอำนาจในกระบวนการตัดสินใจ เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ การศึกษาด้านรัฐศาสตร์นั้นถูกจัดว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวและสถาบันที่เป็นสาธารณะ สาขาวิชานี้มักถูกแบ่งเป็นหลายด้าน เช่น รัฐศาสตร์เปรียบเทียบ รัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ปรัชญาทางรัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ระดับชาติ (ที่รวมการศึกษาเกี่ยวกับสถาบันหลักของรัฐ การเมืองเรื่องการเลือกตั้ง และการเมืองในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น) รวมไปถึงระเบียบวิธีวิจัย

รัฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กระบวนการทางการเมือง สถาบันทางการเมือง รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆทางการเมือง การศึกษารัฐศาสตร์เป็นการศึกษาในลักษณะของสหวิทยาการ โดยอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาอี่นมาช่วยในการอธิบายหรือประกอบในการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้น

สาขาวิชาที่สำคัญของรัฐศาสตร์

ในประเทศไทย การศึกษารัฐศาสตร์มักแบ่งออกเป็น สาขาวิชาหลักๆได้สามสาขา ดังนี้

การเมืองการปกครอง
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาในเรื่องของหลักวิชาในการเมือง การปกครอง ความคิดทางการเมือง ระบบการเมือง ระบบการปกครอง ปรัชญาการเมือง รัฐธรรมนูญ และอื่นๆ โดยมีจุดมุ่งเน้นที่ การบูรณาการองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระบบระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มศึกษาจากทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พัฒนาการของระบบระหว่างประเทศ นโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง การทูตและการต่างประเทศ และอื่นๆ
รัฐประศาสนศาสตร์
เป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นในการบริหารกิจการต่างๆอันเป็นของรัฐ หรือการบริหารงานภาครัฐ สาขาวิชานี้ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงอย่างมากในปัจจุบัน และเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมจากผู้สนใจศึกษารัฐศาสตร์ค่อนข้างมาก

ประวัติการศึกษารัฐศาสตร์ของไทย
การศึกษาด้านรัฐศาสตร์ของไทยเริ่มต้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน เพื่อรับคัดเลือกนักเรียนเข้ามาฝึกหัดเป็นข้าราชการตามกระทรวงต่างๆ (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์) ต่อมาได้มีการขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพัฒนาโรงเรียนดังกล่าวเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภายหลังได้สถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากเหตุดังกล่าวนี้ การศึกษารัฐศาสตร์จึงเริ่มต้นขึ้น โดยคณะรัฐศาสตร์แห่งแรก คือ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แห่งที่สอง คือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ประชาภิวัฒน์

วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11149 มติชนรายวัน


ประชาภิวัฒน์

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่



การลุกขึ้นสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีจุดเริ่มต้นมาจากการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเพื่อหนีการถูกยุบพรรคและฟอกความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง

นับจากวันที่ 25 พฤษภาคม ที่พันธมิตรนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาถึงวันนี้ที่พันธมิตรเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลาเกือบ 120 วัน หรือ 4 เดือน แกนนำพันธมิตรต้องเผชิญกับการถูกตำรวจตั้งข้อหาต่างๆ ผู้ชุมนุมต้องเผชิญกับความยากลำบากและได้รับอันตรายจากการถูกตำรวจตระเวนชายแดนและกลุ่มคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามทุบตี ทำร้ายด้วยอาวุธ กระบอง ปืน แก๊สน้ำตา ไม้ การถูกเตะ กระทืบ ฯลฯ จนบาดเจ็บสาหัสและบาดเจ็บธรรมดาไปหลายคน

ถือเป็นการลงทุนของฝ่ายพันธมิตรเพราะการต่อสู้ในเมืองที่ใช้พลังมวลชนเข้าขับเคลื่อนต้องเสี่ยงกับการเสียเลือดเนื้อและชีวิต เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐย่อมต้องดิ้นรนและหาทางสกัดกั้น ขัดขวาง ทุกวิถีทาง

กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐต้องพ่ายแพ้ ดังจะเห็นได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีอันต้องพับไป ในส่วนของนายสมัคร สุนทรเวช ผู้นิยมใช้ความรุนแรงทั้งอาวุธและวาจาก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ทีแรก ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลพยายามจะลงมติเลือกให้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสกดดันจากพันธมิตรและฝ่ายอื่นๆ ได้ ทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 12 กันยายน ต้องล่มเพราะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลพากันไม่เข้าห้องประชุม

และเมื่อพรรคพลังประชาชนจะสนับสนุนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกฯมาเป็นนายกฯแทน ก็ไม่วายจะถูก ส.ส.กลุ่มก๊วนที่เป็นเพื่อนของนายเนวิน ชิดชอบ 72 คน นัดประชุมและออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรค

ความเห็นที่ขัดแย้งนี้ไม่ว่าจะประนีประนอมกันได้หรือไม่ อย่างไร ก็ประจานตัวเองให้ผู้คนได้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนล้วนแต่ต้องการโควต้ารัฐมนตรีทั้งจำนวนและกระทรวงสำคัญให้อยู่ในกลุ่มของตนและรวมถึงการมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของพรรค หาใช่เป็น ส.ส.ที่เปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์แห่งความเสียสละอันควรแก่การฝากความหวังให้นักการเมืองเหล่านี้ได้บริหารประเทศชาติ

ใครบ้างที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง เงินและผลประโยชน์อื่นๆ ที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้ ส.ส.ในแต่ละก๊วนยังเกาะกลุ่มรวมตัวกันอยู่ต่อไปได้

มวลชนที่สังกัด นปช. ชมรมคนรักอุดรและผู้ที่ศรัทธา พ.ต.ท.ทักษิณ และรักนายสมัครอย่าได้เสียใจไปเลยที่เห็นความแตกแยกในพรรคพลังประชาชนเพราะนี่คือธาตุแท้ของนักการเมือง ตราบเท่าที่ผลประโยชน์ยังไม่ลงตัว ตราบนั้นจะพูดกันไม่รู้เรื่องและมักจะแสดงปฏิกิริยาออกมาโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของชาวบ้านว่าจะรำคาญและเอือมระอาแค่ไหน

กล่าวสำหรับพันธมิตรที่ได้นำเสนอ "การเมืองใหม่" และ "ประชาภิวัฒน์" ประชาชนโดยทั่วไปหรือแม้แต่คนมีความรู้ระดับนักวิชาการที่เป็นครูบาอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก รับรองได้เลยว่าไม่มีความเข้าใจว่าหมายถึงอะไร มิหนำซ้ำอาจจะมองว่าพันธมิตรเป็นตัวปัญหา การยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง การถูกตั้งข้อหากบฏนั้นชอบธรรมแล้ว การที่ 9 แกนนำพันธมิตรไม่มอบตัวและไม่ยอมให้ตำรวจเข้าไปจับกุมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

เรียกว่ายืนอยู่ตรงข้ามกับการต่อสู้ของพันธมิตร

จริงอยู่ ด้านหนึ่งเป็นเพราะพันธมิตรยังไม่มีความชัดเจนว่าวิธีการสร้างการเมืองใหม่หรือประชาภิวัฒน์จะทำอะไร อย่างไร จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ จะแก้มาตราไหน ให้ใครเป็นคนแก้ สื่อมวลชนก็ไม่ได้แสดงบทบาทหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารและการอธิบายต่อสังคม

อีกด้านหนึ่งคนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ปัญญาชนที่ได้ชื่อว่ามีความรู้สูงแต่กลับอับจนภูมิปัญญาที่จะคิดหาทางออกจากวังวนแห่งความตีบตันของการเมืองเก่าๆ ที่คิดได้แต่เพียงประชาธิปไตยคือการได้ไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงที่คูหา ไม่ได้สนใจและไม่เข้าใจว่าตนเองมีส่วนกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเฟ้นแต่คนดีๆ มาให้สมัคร ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พวกตนมีสิทธิเต็มที่ที่จะเรียกร้องให้พรรคการเมืองชี้แจงวิธีปฏิบัติในนโยบายสำคัญๆ รวมทั้งแสดงความไม่พอใจหากผู้นำพรรคการเมืองหลบเลี่ยงการร่วมดีเบตบนเวที การไม่ประกาศว่าจะเอาใครมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญหากได้จัดตั้งรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่คนเหล่านี้จะหงุดหงิดง่ายเมื่อเห็นการชุมนุมเกิดขึ้นและสะใจหากแกนนำพันธมิตรและผู้ชุมนุมถูกจับกุม หรือถูกทุบตี ทำร้าย

ทั้งๆ ที่ถ้าหากมีความเข้าใจระบบการเมืองการปกครองและสิทธิของประชาชนย่อมจะรู้ว่ากว่าที่ประเทศชาติจะมาถึงจุดนี้ได้ ล้วนแต่มีประชาชนจำนวนหนึ่งได้ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิเสรีภาพจากผู้ปกครองประเทศซึ่งมีทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำโดยเฉพาะตำรวจและทหาร ซึ่งการเรียกร้องแต่ละครั้งกว่าจะได้สิทธิเสรีภาพมาต้องสังเวยด้วยชีวิตเลือดเนื้อและการสูญเสียอิสรภาพ

ถ้าไม่มีผู้กล้าหาญเป็นแสนเป็นล้านคน คงไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้น หรือคนเหล่านี้ จะเถียงว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นแสนเป็นล้านคนในครั้งนั้นเป็นความผิด เป็นความเลว ควรจะถูกตำรวจจับกุม ถูกยิงตายไปทั้งหมด

เช่นเดียวกับครั้งนี้ การลุกขึ้นสู้ในเมืองและเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกำลังได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วโลก ข้อเรียกร้องของแกนนำพันธมิตรอาจยังมองไม่เห็นว่าหนทางแห่งความสำเร็จจะก้าวเดินไปอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้จุดประกายแห่งความหวังว่าการเมืองใหม่จะต้องเข้ามาทดแทนการเมืองเก่าอย่างแน่นอน เพราะการเมืองเก่าอย่างที่เป็นมาแม้จะเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2540 ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง แต่สุดท้ายก็พังครืน จวบจนถึงวันนี้ นักการเมืองหาได้ปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้รับใช้ประชาชนไม่ คงเป็นเพียง "นักเลือกตั้ง" ที่ต้องลงทุน คนดีๆ ไม่มีใครอยากจะลงมาเกลือกกลั้วกับความสกปรกโสโครก การท้าทายให้ใครมาลงเลือกตั้งแข่งจึงเป็นเรื่องตลกร้ายที่น่าทุเรศที่สุด

การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของคนและเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องยากที่สุด บางทีการเน่าเฟะของการเมืองเก่า (การเมืองปัจจุบัน) และการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมหรือความรุนแรงมาแก้ปัญหากับแกนนำพันธมิตร และผู้ชุมนุมจนเกิดจลาจลใหญ่แล้วในที่สุดผู้มีอำนาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งให้กระจายไปยังสาขาอาชีพต่างๆ และรวมถึงการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ก็เป็นได้

เกิดมาไม่เคยเห็น "ประชาภิวัฒน์" อาจจะได้เห็นกันในยุคนี้ก็ได้!

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

วิธีทำใจ เมื่อ.."เบื่อการเมือง"

เวลานี้เชื่อว่าหลายคนกำลังอยู่ในอาการ "เบื่อการเมือง" ไม่อยากรับรู้หรือสนใจเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันการเมืองที่กำลังเป็นอยู่

บางคนบ่นว่าเปิดวิทยุคลื่นไหนก็มีแต่เรื่องการเมือง ขนาดเปิดคลื่นเอเอ็มกะว่าจะฟังเพลงลูกทุ่งเสียหน่อย- -ดีเจ กลับนำเอาข่าวการเมืองมาอ่านให้ฟังอีก หัวหมุนติ้ว..คลื่นเหียนเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม

ทั้งการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การประชุมรัฐสภาของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยุบสภา-หรือไม่ยุบ ชิงไหวชิงพริบ..ด่ากันทางอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย

ประชาชนส่วนหนึ่งจึงมองการเมืองแล้วรู้สึกไม่สบายใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ รู้สึกไม่มีความหวัง และไม่มีทีท่าว่าเรื่องวุ่นๆ เหล่านี้จะยุติลงเมื่อใด นักการเมืองเดิมๆ หน้าเดิมๆ ยังคงกลับมามีบทบาทเวียนว่ายตายเกิดในวงจร

ท่ามกลางสถานการณ์อย่างนี้ เราคนไทยจะทำอย่างไร?

คำถามนี้หลายคนอยากรู้คำตอบ และก่อนที่จะเบื่อการเมืองมากขึ้นไปยิ่งกว่านี้ คำตอบจาก "พระพรหมคุณาภรณ์" (ป.อ.ปยุตฺโต) อาจจะพอเป็น

ทางออกและคำแนะนำสำหรับประชาชนคนไทยทั้งหลายที่กำลังเบื่อการเมืองใจจะขาดได้บ้าง

"พระพรหมคุณาภรณ์" หรือที่เราเรียกกันติดปาก "เจ้าคุณประยุทธ์" ท่านบอกเล่าถึงวิธีทำใจเมื่อกำลังเบื่อการเมืองไว้ในหนังสือชื่อ "เบื่อการเมือง" หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ สามารถพกติดตัวไปไหนมาไหนอ่านได้ในทุกโอกาสสถานที่

ก่อนจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ มีว่าคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความวิตกเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง ได้ไปปรึกษาพระเดชพระคุณเจ้าคุณประยุทธ์ ที่วัดญาณเวศกวัน อ.ศาลายา จ.นครปฐม ว่า ในสภาพบ้านเมืองอย่างนี้ควรทำใจอย่างไร ท่านเองมีเมตตาเทศนาธรรมชี้ทางสว่างให้ฟัง ซึ่งการสนทนาธรรมครั้งนั้นได้บันทึกเทปไว้ด้วย แล้วในที่สุดบทธรรมะดังกล่าวก็ออกมาเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ ที่ชื่อ "เบื่อการเมือง"

ในหนังสือเล่มนี้พระพรหมคุณาภรณ์ท่านบอกกล่าวถึงวิธีทำใจเมื่อเกิดอาการเบื่อการเมืองไว้หลายวิธีหลายอย่างด้วยกัน เพื่อให้คนอ่านได้เลือกใช้ว่าปัญหาและอารมณ์ของตนเองนั้นควรใช้ข้อใดในการแก้ไข

ขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นเรื่องๆ- - -
พระพรหมคุณาภรณ์




เรื่องแรกมีผู้ถามว่า เบื่อการเมืองหนักหนา อยากปิดหูปิดตาเสีย เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบันมีความน่ากลัว วิธีที่คนผู้นี้เลือกทำก็คือ ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่อยากเห็นหน้านักการเมืองบางคนที่มีประวัติไม่ดี จึงหนีไปอยู่พัทยา เพื่อจะได้พ้นๆ จากเรื่องราวเหล่านี้ เขาจึงอยากรู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตดี? และสถานการณ์อย่างนี้จะช่วยสังคมอย่างไร?

พระพรหมคุณาภรณ์ท่านเมื่อได้ฟังคำถาม ท่านกล่าวขึ้นว่า ต้องบอกก่อนว่าเรื่องการเมืองนี่พระไม่ยุ่งด้วย แต่พระต้องพูดเรื่องธรรมะสำหรับการเมือง คราวนี้ดูเหมือนจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาของคนที่มีความทุกข์เพราะการเมือง

เจ้าคุณประยุทธ์เทศน์ต่อว่า ที่พูดมานั้นก็เป็นการแสดงความเบื่อหน่ายต่อนักการเมือง ก็เลยพลอยเบื่อการเมืองไปด้วย คลุมไปหมด ที่สำคัญการเมืองในที่นี้เป็นเรื่องของประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ที่ว่าเบื่อการเมืองก็เหมือนกับบอกว่าเบื่อระอาประชาธิปไตยของบ้านเมืองนี้ ถึงขนาดปิดหูปิดตาไม่อยากได้ยิน เท่ากับตัดความมีส่วนร่วมทิ้งไปเลย

"ถ้าถึงขั้นนี้ ก็เห็นจะเตรียมชี้ชะตาประชาธิปไตยของเมืองไทยได้แล้ว" เสียงพระเดชพระคุณท่านว่า

เจ้าคุณประยุทธ์กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ต้องมองเป็นขั้นๆ ไป การจะไม่ยอมรับรู้ปิดหูปิดตาไปเลย ก็หนักไปหน่อย อาจถือว่าสุดโต่งไปข้างหนึ่ง แต่ถ้าเราจะติดตามเรื่องเอาจริงเอาจังจนกระทั่งเสียการเสียงาน ใจไม่อยู่กับงาน ก็สุดโต่งไปอีกข้างเหมือนกัน

"ฉะนั้น ต้องหาความพอดี สำหรับคนทั่วไป คือไม่ใช่คนที่มีหน้าที่หรือเอาใจใส่เรื่องนั้นโดยเฉพาะ แต่ก็จำเป็นต้องรู้เรื่องสภาพแวดล้อมว่าข่าวการบ้านการเมืองที่เป็นอยู่มีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรที่เป็นข้อมูลทั่วไปพอให้ทราบไว้เพื่อว่าเราจะอยู่ได้โดยมีความสบายใจ ปรับตัวได้ทันการณ์"

"ในฐานะชาวบ้านหรือคนทั่วไปที่อยู่ในสังคมนี้ เราควรรู้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พรรคการเมืองต่างๆ แก่งแย่งคน ชิงดีชิงเด่น เราก็รู้ให้ทัน ฟังข่าวก็พอจับเรื่องได้ ไม่ต้องถึงกับติดตามเรื่องเอาจริงเอาจัง เพราะฉะนั้น ขั้นที่หนึ่งคือ ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ขั้นที่สองคือไม่ให้มันเป็นภาระแก่จิตใจที่จะต้องมาคิดวิตกกังวล"

เจ้าคุณประยุทธ์ได้รับคำถามสอดแทรกเพิ่มเติมว่า ถึงแม้จะฟังแค่พอรู้ แต่มันบั่นทอนจิตใจตลอดเวลา ท่านเจ้าคุณจึงกล่าวว่า เราต้องรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น เป็นไปในสังคมไทย เอาแค่พอรู้เรื่องเท่านั้น ปัญหาอยู่ที่การวางใจของเราต่างหาก สิ่งที่ผ่านไปผ่านมา หรือเราเดินทางผ่านไป เราจะปิดตาไม่มอง ปิดหูไม่ฟัง คงไม่ถูกต้อง เราควรรับฟัง ดู เห็น ไปตามที่มันเป็น แต่เราไม่เอาใจไปหมกมุ่นกับมัน ไม่ต้องไปรู้สึกอะไร

"รู้ นี่สำคัญมาก ถึงแม้ว่าเราจะไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เราก็ต้องรู้หรือควรจะรู้มัน เราเอาแต่ความรู้ ส่วนความรู้สึกเราไม่ยุ่ง ถ้าเกิดความรู้สึกขึ้นมา เราก็รู้ว่าเรามีความรู้สึกนั้น แค่นั้นพอ ไม่ต้องตามมันไป ปัญหาอยู่ที่ว่า บางทีเราไม่แยกระหว่างความรู้กับความรู้สึก พอรู้อะไร ความรู้สึกก็มาทันที เพราะว่าพอรู้ก็มีถูกใจหรือไม่ถูกใจ ชอบใจหรือไม่ชอบใจ นี่คือรู้สึกแล้วแทนที่จะอยู่กับความรู้หรือเก็บความรู้ต่อไป เลยไถลไปกับความรู้สึก นี่คือผิดทาง.."

"ในทางที่ถูก เมื่อรู้สึกไม่ชอบใจ ก็ให้รู้ตัวว่าเราไม่ชอบใจ แล้วก็จบ รู้ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย ถ้าไม่รู้เลยจะลำบากมาก พอเกิดอะไรขึ้นมาก็มองไม่ออกว่าสถานการณ์นี้มันมาอย่างไร จะไปอย่างไร เมื่อรู้แล้วต้องรู้ให้เท่าทัน ต้องแยกความรู้กับความรู้สึกให้ได้.."

คำแนะนำของท่านเจ้าคุณยังมีต่อไป จากคำถามที่ว่า "นักการเมืองบางคนพอเราเห็นหน้าเขาแล้วก็ไม่พอใจ เขาเป็นคนไม่ดี แต่ก็ยังอยู่ในแวดวงการเมือง ทำไมสังคมถึงยอมรับเขา จะทำอย่างไรดี?"

ท่านเจ้าคุณก็ว่า ต้องรู้ทัน แต่ไม่เอาตัวเข้าไปหมกมุ่น สำหรับเรารู้แค่ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น รู้ระดับนี้ก็พอแล้ว เมื่อเหตุการณ์เป็นไปอย่างไรเราก็พอ

มองออกเพราะมีข้อมูล แต่คนที่ไม่มีข้อมูล เวลาเกิดอะไรขึ้นจะมองไม่ออก ตั้งท่าทีไม่ถูก แล้วเรื่องบ้านเมืองนี่ต่อไปมันต้องมาเกี่ยวกับเราแน่นอน

"ที่ว่านักการเมืองไม่ดี ทำไมอยู่ในแวดวงการเมืองได้ดีและสังคมก็ยอมรับ นี่ก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่าสังคมนี้ชอบนักการเมืองอย่างนั้น ปัญหาจึงไม่รู้แค่ที่ตัวนักการเมือง แต่อยู่ที่สังคมทั้งหมด คือคนทั่วไปมีคุณภาพแค่นั้น เพราะฉะนั้นจะแก้ปัญหาให้ได้ผลจริง ก็หนีไม่พ้นว่าต้องพัฒนาคุณภาพของประชาชน ดังนั้น คุณภาพของประชาธิปไตย จึงอยู่ที่คุณภาพของประชาชน.." เป็นคำตอบของท่านเจ้าคุณ

อีกคำถามหนึ่งที่ดูเหมือนแทงใจดำของคนดีทั่วประเทศ มีว่า "สถานการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้ คนดีไม่อยากไปยุ่งเพราะรู้สึกต้านกระแสไม่ไหว คนมีประวัติด่างพร้อยเข้ามาเต็มไปหมด..?"

ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ตอบคำถามนี้ว่า "เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระยะยาว คือไม่ใช่แค่ว่าคนดีท้อใจ แต่อีกชั้นหนึ่งซึ่งกว้างกว่าคือ เป็นเพราะสภาพสังคมมีค่านิยมที่เป็นปัญหาด้วย มันจึงไม่เอื้อ คือค่านิยมของสังคมไม่ได้เชิดชูคนดี เพราะฉะนั้น คนดีจึงไม่มีกำลัง ถ้าหากสังคมมีค่านิยมเชิดชูคนดี ยกย่องคนดี ก็จะยกคนดีให้มีกำลังเองไปสู้ได้ คนกลัวการเมืองแบบที่ว่าเลยไม่กล้าเข้าไป ถ้าอย่างนั้นเราอาจไปเดินทางด้านอื่น โดยคิดในระยะยาวว่าจะต้องทำอย่างไรในการที่จะแก้ปัญหานี้ แล้วอาจคิดได้วิธีการที่ออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปเข้าสนามเดียวกับเขา..ทางนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ได้ผล ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการไปใช้วิธีการแห่งปัญญา.."

ตัวอย่างคำถามที่ยกมาตอบคำถามในใจของใครหลายคน หากต้องการอ่านอย่างละเอียดจุใจ หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ นี้จำหน่ายในราคาย่อมเยา เพราะสิ่งที่ต้องการไม่ใช่สตังค์ แต่ต้องการเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป

"เบื่อการเมือง" พิมพ์ที่สำนักพิมพ์วัลลดา จัดจำหน่ายโดยศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2255-4433 หรือ www.chulabook.com

สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ นอกจากต้อง "รู้ให้เท่าทัน" อย่างท่านเจ้าคุณแนะแล้ว คำตบท้ายของท่านก็น่าคิดไม่น้อย- -

"สังคมไทยทุกวันนี้ไม่มีหลัก ถ้าสังคมไทยมีหลักแค่ 3 ข้อต้นของมงคลสูตร คือไม่คบคนพาล คบบัณฑิต บูชาคนที่ควรบูชา สังคมก็ไปรอดแล้ว แต่คนไทยในปัจจุบันแค่ 3 ข้อต้นของมงคลสูตร ก็ยังไม่ได้ จะไปรอดได้อย่างไร? นอกจากจะไม่ได้แล้วยังไปทางตรงกันข้าม สวนทางไปเสียอีก แล้วจะพ้นอัปมงคลได้อย่างไร...?" เป็นคำถามที่คนไทยทั้งหลายต้องหาคำตอบกันเอาเอง

ใครคือคนพาล ใครคือบัณฑิต และใครเป็นคนที่ควรบูชา

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551

เมืองพัทยา

พัทยา หรือ เมืองพัทยา เป็นเขตปกครองพิเศษเขตหนึ่งที่ตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ฉบับ วันที่ 29 พฤจิกายน พ.ศ. 2521 (เทียบเท่าเทศบาลนคร) ในเขตจังหวัดชลบุรี จัดเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลกโดยเฉพาะหาดทรายที่ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเล จัดได้ว่ามีความสวยงามอีกแห่งของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 140 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งพัทยาแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่ พัทยาเหนือ พัทยากลาง พัทยาใต้ และหาดจอมเทียน

ประวัติเมืองพัทยา
เริ่มรู้จักกันจากคำบอกเล่าต่อกันมาว่า เมื่อ พ.ศ. 2310 ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า 3 เดือน พระยาตาก (สิน) ขณะนั้นยังเป็นพระยากำแพงเพชร ลงความเห็นว่า หากกรุงศรีอยุธยายังต่อสู้กับพม่าอย่างอ่อนแอเช่นนี้ ต่อไปจะต้องสูญเสียกรุงให้พม่าอย่างแน่นอน พระยากำแพงเพชรจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกออกไปตั้งหลักใหม่ ให้มีกำลังทัพเข้มแข็งขึ้นค่อยกลับมากู้กรุงคืน พระยากำแพงเพชรได้เริ่มเคลื่อนทัพออกจากค่ายวัดพิชัยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สู้พรางร่นถอยหนีการตามล่า ของทหารพม่าไปพลาง จนกระทั่งเลยเข้าแขวงเมืองชลบุรี พระยากำแพงเพชรหยุดพักทัพที่บริเวณหน้าวัดใหญ่อินทารามในปัจจุบัน แล้วเดินทัพมุ่งตรงไปยังจันทบุรี ระหว่างทางได้พักที่บ้านหนองไผ่ ตำบลนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง ปัจจุบันอยู่ด้านหลังสถานีตำรวจภูธรพัทยา

ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเล่ม 2 กล่าวเอาไว้ว่า ขณะที่ นายกลม เป็นนายชุมนุมคุมไพร่ พลอยู่ที่นั่น ตั้งทัพคอยสกัดคิดจะต่อรองพระยากำแพงเพชรในตอนนั้นขึ้นช้างพลายถือปืนนกสับรางแดงพร้อม ด้วยพลทหารที่ร่วมเดินทางมาแห่ล้อมหน้าหลัง ตรงเข้าไปในระหว่างพวกพลนายกลมมาสกัดอยู่ ด้วยเดชะบารมีบันดาลให้นายกลมเกิดเกรงกลัวพระเดชานุภาพวางอาวุธสิ้น พาพรรคพวกพลเข้าร่วมกองทัพกับพระยากำแพง เพชร จากนั้นพระยากำแพงเพชรก็นำทัพไปหยุดประทับ ณ สถานที่ที่มีหนองน้ำครั้งรุ่งขึ้น หรือวันอังคารแรม 6 ค่ำ เดือนยี่

นายกลมจึงนำไพร่พลหมี่นหนึ่งนำทัพไปถึง ณ ตำบลหนึ่ง และหยุดพักเสียหนึ่งคืน วันต่อมาจึงเดินทัพมาถึง นาจอมเทียนและทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ โดยหยุดพักแรมแห่งละคืน ต่อมาชาวบ้านก็เรียกตำบลนี้ว่า ทัพพระยา และเปลี่ยนมาเรียกใหม่ พัทธยา เนื่องจากเห็นว่าตรงบริเวณที่พระยาตากมาตั้งทัพนั้นทำเลดี และมีลมทะเลชื่อ ลมพัทธยา ซึ่งก็คือลมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือในต้นฤดูฝน จึงเรียกสถานที่ แห่งนี้ว่า หมู่บ้านพัทธยา ต่อมาปัจจุบันคำว่า พัทธยา ได้เขียนใหม่เป็น พัทยา[1]

อีกเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พัทยาเป็นที่รู้จักไปทั่ว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2502 เมื่อมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ของทหารอเมริกันประมาณ 4-5 คัน บรรทุกทหารเต็มคันรถ ประมาณคันละ 100 คน จากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งที่นั่นมีฐานทัพของทหารอเมริกันอยู่ มุ่งมาสู่พัทยา และมาเช่าบ้านตากอากาศของพระยาสุนทร บริเวณตอนใต้ของหาด โดยผลัดกันมาพักผ่อนเป็นงวด งวดละสัปดาห์ จากพฤติกรรมของทหารอเมริกันเช่นนี้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวเมืองพัทยาตอนนี้เอง จากสภาพหมู่บ้านชายทะเลที่เงียบสงบ ก็พลันเปลี่ยนกลับกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศ

ในเวลาต่อมา หมู่บ้านพัทยาก็ถูกพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ในระดับนานาชาติ เป็นที่รู้จักไปทั่วทุกมุมโลก อย่างเช่นปัจจุบัน

กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครมีลักษณะเป็นเขตการปกครองพิเศษ (หนึ่งในสองเขต อีกแห่งคือ พัทยา) ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้ง และเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน อยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง และมีการแต่งตั้งปลัดกรุงเทพมหานครร่วมบริหารงาน การดำเนินงานมีสภากรุงเทพมหานครที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงทำงานร่วมด้วย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพคนปัจจุบัน คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และปลัดกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันคือ นายพงศักติ์ฐ เสมสันต์

ตราของกรุงเทพมหานคร เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระหัตถ์ทรงสายฟ้า ตรานี้กรมศิลปากรออกแบบโดยอาศัยภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นต้นแบบ เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2516 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ฉบับที่ 60 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 (สมัยเมื่อยังเป็นจังหวัดพระนครนั้นใช้ตราพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นตราประจำจังหวัด)
ต้นไม้ประจำกรุงเทพมหานคร คือ ต้นไทรย้อยใบแหลม (Ficus benjamina)
คำขวัญของกรุงเทพมหานคร :(กรุงเทพมหานครไม่มีคำขวัญประจำจังหวัด)ช่วยชุมชนแออัด ขจัดมลพิษ แก้ปัญหารถติด ทุกชีวิตรื่นรมย์ (น่าจะเป็นข้อความรณรงค์มากกว่าคำขวัญ)

การปกครองในกรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็น 50 เขตการปกครอง

เขต (อังกฤษ: Khet) คือชื่อของระดับการปกครองของรัฐบาลระดับเดียวกับ อำเภอ ซึ่งเป็นระดับสอง รองมาจากจังหวัด แต่ใช้เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ในแต่ละเขตจะแบ่งย่อยออกเป็น แขวง ในปัจจุบันกรุงเทพ ฯ มี 50 เขต ในบางครั้งจะมีการสับสนการใช้ ระหว่างคำว่า เขต และ อำเภอ

50 เขตทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร

เขตพระนคร
เขตดุสิต
เขตหนองจอก
เขตบางรัก
เขตบางเขน
เขตบางกะปิ
เขตปทุมวัน
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
เขตพระโขนง
เขตมีนบุรี
เขตลาดกระบัง
เขตยานนาวา
เขตสัมพันธวงศ์
เขตพญาไท
เขตธนบุรี
เขตบางกอกใหญ่
เขตห้วยขวาง
เขตคลองสาน
เขตตลิ่งชัน
เขตบางกอกน้อย
เขตบางขุนเทียน
เขตภาษีเจริญ
เขตหนองแขม
เขตราษฎร์บูรณะ
เขตบางพลัด
เขตดินแดง
เขตบึงกุ่ม
เขตสาทร
เขตบางซื่อ
เขตจตุจักร
เขตบางคอแหลม
เขตประเวศ
เขตคลองเตย
เขตสวนหลวง
เขตจอมทอง
เขตดอนเมือง
เขตราชเทวี
เขตลาดพร้าว
เขตวัฒนา
เขตบางแค
เขตหลักสี่
เขตสายไหม
เขตคันนายาว
เขตสะพานสูง
เขตวังทองหลาง
เขตคลองสามวา
เขตบางนา
เขตทวีวัฒนา
เขตทุ่งครุ
เขตบางบอน

องค์การบริหารส่วนตำบล

องค์การบริหารส่วนตำบล มีชื่อย่อเป็นทางการว่า อบต. มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็น ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546 โดยยกฐานะจากสภาตำบล ที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท

รูปแบบองค์การ
องค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนหมู่บ้านละสองคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น กรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงหนึ่งหมู่บ้านให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหกคน และในกรณีมีเพียงสองหมู่บ้านให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หมู่บ้านละสามคน
องค์การบริหารส่วนตำบลมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หนึ่งคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

การบริหาร
กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร อบต. (ม.58) ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง

อำนาจหน้าที่ของ อบต.
อบต. มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วน ตำบล พ.ศ. 2537 และ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542)

พัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (มาตรา 66)
มีหน้าที่ต้องทำตามมาตรา 67 ดังนี้
จัดให้มีและบำรุงทางน้ำและทางบก
การรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุและพิการ
คุ้มครอง ดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย
มีหน้าที่ที่อาจทำกิจกรรมในเขต อบต. ตามมาตรา 68 ดังนี้
ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและการเกษตร
ให้มีและบำรุงไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ
ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร และกิจการสหกรณ์
ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพ
การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของ อบต.
ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
การท่องเที่ยว
การผังเมือง

ประเภทของ อบต
ปัจจุบันมีการแก้ไขประเภทของ อบต.แบ่งเป็น 3 ขนาด คือ 1.อบต.ขนาดใหญ่ 2.อบต.ขนาดกลาง 3.อบต.ขนาดเล็ก แต่เดิมนั้น อบต. แบ่งออกตามลำดับได้เป็น 5 ประเภทและมีจำนวนองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ ประจำปี 2543ดังนี้

อบต. ชั้นที่ 1 จำนวน อบต. 74 แห่ง

อบต. ชั้นที่ 2 จำนวน อบต. 78 แห่ง

อบต. ชั้นที่ 3 จำนวน อบต. 205 แห่ง

อบต. ชั้นที่ 4 จำนวน อบต. 844 แห่ง

อบต. ชั้นที่ 5 จำนวน อบต. 5196 แห่ง

อบต. ชั้นที่ 5 จัดตั้งใหม่ (14 ธันวาคม 2542) จำนวน อบต. 349 แห่ง

รวม อบต. ทั่วประเทศทั้งสิ้นจำนวน 6746 แห่ง

เทศบาลนครเชียงใหม่

เทศบาลนครเชียงใหม่ หรือ เขตนครเชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญมากที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทย ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีพิกัดภูมิศาสตร์ 18°47′20″ เหนือ 98°59′00″ ตะวันออก นครเชียงใหม่ ถูกเปรียบว่าเป็น กุหลาบแห่งเมืองเหนือ เนื่องด้วยเป็นเมืองที่สวยงาม บรรยากาศดีแห่งหนึ่งของประเทศ นครเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือ มีศักยภาพและความพร้อมในหลาย ๆ ด้านมาก

ประวัติเทศบาลนครเชียงใหม่
นครเชียงใหม่ เมื่อเริ่มแรกมีฐานะเป็นเพียงสุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458 และยังขึ้นตรงต่อมณฑลพายัพ แต่ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในปีพ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติสมควรจัดตั้งชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุขาภิบาลให้มีฐานะเป็น เทศบาล โดยในครั้งนั้นนครเชียงใหม่ได้รับฐานะใหม่จากสุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็น "เทศบาลนครเชียงใหม่" ในปี พ.ศ. 2478 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 80 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2478 นับเป็นเทศบาลนครแห่งแรกในประเทศไทย

ประชากร
นครเชียงใหม่มีประชากรประมาณ 150,000 คน

พื้นที่
นครเชียงใหม่มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 40.216 ตารางกิโลเมตรโดยครอบคลุมพื้นที่ 14 ตำบลของอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ตำบลหายยา ตำบลช้างม่อย ตำบลศรีภูมิ ตำบลวัดเกต ตำบลช้างคลาน ตำบลพระสิงห์ ตำบลสุเทพ ตำบลป่าแดด ตำบลฟ้าฮ่าม ตำบลหนองป่าครั่ง ตำบลท่าศาลาบางส่วน ตำบลป่าตัน ตำบลหนองหอย และตำบลช้างเผือก

การแบ่งเขตการปกครอง
นครเชียงใหม่แบ่งการปกครอง ออกเป็น 4 แขวง ได้แก่
แขวงนครพิงค์ มีพื้นที่ 11.7 ตารางกิโลเมตร
แขวงกาวิละ มีพื้นที่ 11.4 ตารางกิโลเมตร
แขวงเม็งราย มีพื้นที่ 7.7 ตารางกิโลเมตร
แขวงศรีวิชัย มีพื้นที่ 9.2 ตารางกิโลเมตร

เทศบาล

เทศบาล เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองรูปแบบเทศบาลเป็นการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นดำเนินการปกครองตนเอง ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพ ฯ ร.ศ.116 (พ.ศ. 2440) โดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ในส่วนภูมิภาค มีการตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล ท่าฉลอม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ขึ้นมีวิวัฒนาการเรื่อย ๆ มา จนถึงปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการ กระจายอำนาจการปกครองที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

โดยมีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2476 โดยมีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 มีการยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลหลายแห่ง ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิก กฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลหลายครั้ง จนในที่สุดได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม ทั้งหมดขณะนี้ยังมีผลบังคับใช้ซึ่งมีการแก้ไขครั้งสุดท้าย โดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543 จากวิวัฒนา การรูปแบบการปกครองท้องถิ่นจนถึงปัจจุบัน มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้ยกเลิกการปกครองท้องถิ่น รูปสุขาภิบาลจนหมดสิ้น ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ทำให้มีเทศบาลใน ปัจจุบันทั้งสิ้น จำนวน 1,164 แห่ง

การปกครองท้องถิ่นได้เริ่มต้นมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่การปกครอง ท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ยังไม่เข้มแข็งพอแต่พอจะเป็นหลักได้บ้างก็คือการปกครองท้องถิ่นรูปแบบของกรุงเทพมหานคร และเทศบาลเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลหลายรัฐบาลได้พยายามที่จะพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับประเทศไทยอยู่หลายครั้ง โดยมี การทดลองรูปแบบเมืองพัทยาแต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควรจึงกลับมาดำเนินการในรูปแบบเทศบาล โดยให้เมืองพัทยาบริหารตาม รูปแบบของเทศบาลนคร ในปัจจุบันนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 78 ให้ สามารถรวมการปกครองท้องถิ่นในจังหวัดให้เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั้งจังหวัดได้ดังนี้

"มาตรา 78 รัฐต้องกระจายอำนาจให้ ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึง และเท่าเทียมกันทั่วประเทศรวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมย์ของประชาชนในจังหวัดนั้น"
สภาเทศบาล
เทศบาลตำบล ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 12 คน
เทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 18 คน
เทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 24 คน
ทั้งนี้ สภาเทศบาล ประกอบไปด้วย ประธานสภาเทศบาลหนึ่งคน และรองประธานสภาเทศบาลสองคน และนายกเทศบาล ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานในเทศบาลทั้งหมด