วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คุณภาพประชาธิปไตยไม่มี จะถามหาคุณภาพสังคมจากที่ไหน

โดย ถวิลวดี บุรีกุล สถาบันพระปกเกล้า



ความอึดอัดต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะเดินไปทางใดแน่ ทำให้นักวิชาการหลายคนพยายามแนะทางออกด้วยการมาสานเสวนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่เราพึงปรารถนาต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ยังไม่มีใครรู้ ตราบใดที่คนในประเทศยังแบ่งฝ่าย สภาวการณ์อย่างนี้หากมองในแง่ดีจัดเป็นอาการของการปกครองที่เรียกว่าอยากเป็นประชาธิปไตย เป็นสัญญาณของการตื่นตัวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ

เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนเราจะมีประชาธิปไตยแต่คำพูด เพราะค่อนข้างจะเป็นประชาธิปไตยที่ไร้คุณภาพ อันนำมาสู่สังคมที่ด้อยคุณภาพอีกด้วย

ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่แพร่หลายและหลายประเทศในโลกล้วนมุ่งไปทางนี้ แต่สิ่งที่หลายคนสนใจกลับมิใช่เรื่องการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการอธิบายลักษณะของการปกครองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการศึกษาประชาธิปไตยบางครั้งจึงมองไปที่การที่ประชาธิปไตยได้ฝังลึกเป็นสิ่งที่ดีอยู่ในทางจิตใจของคนในชาติเพียงไร

การปฏิรูปเพื่อปรับปรุงคุณภาพประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าประชาธิปไตยคือสิ่งที่เป็นไปเพื่อสันติสุขสถาพรหรือความยั่งยืน นอกจากนี้ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยมานานก็ยังต้องปฏิรูปเพื่อให้สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้ และคงไม่มีพลเมืองของประเทศใดจะมีความสุขอยู่ได้ ถ้าประเทศของเขามีแต่ความขัดแย้ง จนไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใด เป็นเหตุให้พวกเขาไม่สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้

บางครั้งอาการของความขัดแย้งก็เริ่มจากการเพิ่มขึ้นของการไม่เชื่อมั่นในรัฐ เพราะมีความสงสัยในการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ามีความไม่โปร่งใส ทำงานไม่สนองความต้องการของประชาชน แต่สนองตนเองและพวก เหล่านี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยหลายประเทศ จนจัดได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคของวิกฤตประชาธิปไตยก็ว่าได้

ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรที่ให้การสนับสนุนต่างๆ ต่างพยายามช่วยกันยกระดับการเป็นประชาธิปไตย และเรียกร้องให้มีการคำนึงถึงคุณภาพของประชาธิปไตย แทนการมุ่งสนใจประชาธิปไตยในเรื่องกระบวนการทางการเมือง และการเข้าสู่อำนาจแต่เพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะการที่ประเทศใดมีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ประเทศนั้นย่อมมีสังคมที่มีคุณภาพด้วย สองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน

แลลี่ ไดมอนด์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงคุณภาพประชาธิปไตยต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร

มันคือ การที่ประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่มีสิทธิในการเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งที่อิสระ เที่ยงธรรม มีการแข่งขัน มีพรรคการเมืองเข้าเสนอตัวสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อแข่งขันจริงๆ มากกว่าหนึ่งพรรค และมีแหล่งที่มาของข้อมูลที่เป็นทางเลือกที่หลากหลาย

ไม่ใช่เรื่องของการบังคับดู บังคับฟัง ประชาชนมีอิสระในการรวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองและสามารถรวมตัวในลักษณะของภาคประชาสังคม ตามความเชื่อและความสนใจของพวกเขา

นอกจากนี้สถาบันทางประชาธิปไตยต่างๆ มีอำนาจในตัวเอง ไม่อยู่ใต้อาณัติของชนชั้นนำ หรืออำนาจภายนอกที่ทำให้สถาบันเหล่านั้นไม่สามารถสนองตอบและรับผิดชอบต่อประชาชนได้

ประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร พิจารณาได้จากการบรรลุเป้าหมายของประชาธิปไตย เช่น ประชาธิปไตยในอุดมคติคือการที่พลเมืองมีอิสรภาพ มีอำนาจอธิปไตยที่สามารถควบคุมนโยบาย และเจ้าหน้าที่ที่กำหนดนโยบาย มีความเท่าเทียมกันทางการเมือง ทั้งสิทธิและอำนาจ ตามมาตรฐานของธรรมาภิบาล เช่น การมีความโปร่งใส ความชอบธรรม การมีความรับผิดชอบ การยึดหลักนิติธรรม คุณธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยที่ดีต้องไม่รวมการเป็นประชาธิปไตยแบบเทียมที่มีการเลือกตั้งแบบเผด็จการ กล่าวคือ การเลือกตั้งที่ขาดอิสระและความเที่ยงธรรม ดังนั้น ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพต่ำในประเทศที่มีปัญหาแบบนี้ เพราะสิทธิทางการเมืองมีปัญหา ไม่ยึดหลักนิติธรรม กฎหมายไม่มีความหมาย

คำว่าคุณภาพ จึงต้องการความเข้าใจที่ชัดเจน มิฉะนั้นบางคนจะหลงไปกับการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียมได้

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่พลเมืองสามารถควบคุมนโยบายและผู้กำหนดนโยบาย โดยมีสถาบันต่างๆ ที่มีความชอบธรรมสามารถดำเนินการตามหน้าที่โดยอิสระได้ และมีความมั่นคง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพจึงเป็นการปกครองที่มีความชอบธรรมที่นำมาซึ่งการบรรลุความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล (คุณภาพในลักษณะของผล)

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครองที่ประชาชน สมาคมและชุมชน พอใจต่อสิทธิ เสรีภาพความเท่าเทียมทางการเมือง (คุณภาพในลักษณะเนื้อหา)

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย สามารถติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ทั้งยังประเมินได้ว่ารัฐบาลได้ให้เสรีภาพและความเท่าเทียมทางกฎหมายหรือไม่

คุณภาพประชาธิปไตยแบ่งออกได้เป็นมิติต่างๆ อาทิ

คุณภาพในลักษณะของกระบวนการ ประกอบด้วยนิติธรรม การมีส่วนร่วม การแข่งขันได้ สำนึกรับผิดชอบทั้งทางแนวราบ (ตอบสนองต่อเจ้าหน้าที่รัฐกันเอง) และแนวตั้ง (ที่สนองตอบต่อประชาชน) ซึ่งทั้งหมดมักเป็นเรื่องของกฎระเบียบ และการปฏิบัติ

คุณภาพในลักษณะของการเคารพอิสรภาพของของพลเมือง ตลอดจนการปฏิบัติที่ก้าวหน้า เพื่อความเท่าเทียมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

คุณภาพในเรื่องการสำนึกรับผิดชอบที่เชื่อมมิติกระบวนการกับเนื้อหา โดยที่นโยบาย ที่รวมทั้งกฎหมาย การดำเนินการของสถาบันต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตามกระบวนการทางการเมือง (มิใช่เป็นไปตามความต้องการของชนบางกลุ่ม บางคน)

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของธรรมาภิบาลทั้งสิ้น ดังนั้น โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าหากประชาชนมีฐานะเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ เสรีภาพ มีอิสรภาพ ขณะที่รัฐเองมีสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชน และต่อรัฐเอง มากกว่าสำนึกรับผิดชอบต่อนายทุนหรือชนชั้นนำ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีความโปร่งใสในการทำงานอย่างแท้จริง ประเทศนั้นจะเรียกได้ว่ามีประชาธิปไตยที่คุณภาพ

เมื่อประชาธิปไตยมีคุณภาพ ผลที่ตามมาคือความคาดหวังของประชาชนได้รับการตอบสนอง ประชาชนจะมีการกินดี อยู่ดี มีความสุขใจ รู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สังคมจะมีคุณภาพสูง

คุณภาพสังคมเป็นแนวคิดที่มูลนิธิแห่งยุโรปว่าด้วยคุณภาพสังคมได้ทำการศึกษาและจัดทำตัวชี้วัดไว้ และขณะนี้มีการสร้างเครือข่ายมาทางเอเชียแล้ว คุณภาพสังคมเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกสังคม เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากกว่าการศึกษาเรื่องคุณภาพชีวิต

คุณภาพสังคม เป็นแนวคิดแบบบูรณาการของเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของชีวิตมนุษย์ เป็นเรื่องของการตระหนักตน และการมีส่วนร่วมในการสร้างอัตลักษณ์ที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาของชุมชนภายใต้สภาวการณ์ที่เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นไปตามศัยภาพของแต่ละคน

คุณภาพสังคมเป็นเป้าหมายที่ไม่เพียงเป็นเรื่องนโยบายสังคมแต่รวมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและนโยบายอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 มิติ คือ

1.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่หมายถึงการที่ประชาชนมีความมั่นคงทางทรัพยากร รวมถึงทรัพยากรทางการเงิน ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ และการจ้างงาน

2.การบูรณาการทางสังคม เป็นการที่ประชาชนมีการเข้าถึงและถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันต่างๆ และมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน การเข้าถึงการบริการทางสังคม ทั้งนี้ การบูรณาการทางสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนที่ขาดแคลนทรัพยากร การมีทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เขากลับเข้าสู่กระแสของสังคมปกติได้ ดังนั้น การบูรณาการทางสังคมจึงรวมรูปแบบของสิทธิของความเป็นพลเมือง การคำนึงถึงสถานภาพหญิงชาย การเข้าถึงการจ้างงาน และการบริการที่จัดให้ประชาชน เป็นต้น

3.ความสามัคคีในสังคม เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ในสังคม ค่านิยม บรรทัดฐานและการยอมรับการทำเพื่อส่วนรวม ทั้งนี้ ความสามัคคีในสังคมรวมความไว้วางใจกัน อันประกอบด้วยความไว้วางใจโดยทั่วไปหรือไว้วางใจผู้อื่นนั่นเอง และความไว้วางใจเฉพาะที่หมายถึงความไว้วางใจที่มีต่อสถาบันต่างๆ นอกจากนี้ความสามัคคีในสังคมยังรวมการสร้างเครือข่ายทางสังคม และการมีเอกลักษณ์อีกด้วย

4.การเสริมสร้างพลังทางสังคม เป็นการที่ประชาชนสามารถดำเนินการในด้านมิติต่างๆ ได้ ทั้งยังรวมการเสริมสร้างความสามารถของพวกเขาให้เข้าถึงมิติอื่นๆ ของคุณภาพสังคม เช่น การจัดการความรู้ การมีตลาดแรงงาน การพัฒนาศักยภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาชีวิตของครอบครัว วัฒนธรรมและชุมชน เป็นต้น

เมื่อทำการเชื่อมคุณภาพประชาธิปไตยกับคุณภาพสังคมจะเห็นได้ว่า หากผู้ปกครองประเทศมีธรรมาภิบาล ย่อมสามารถทำหน้าที่บริหารประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม ช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในชาติ พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการมีงานทำของประชาชน ประชาชนมีสวัสดิการที่ดี ประชาชนไว้วางใจกัน ทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม เพื่อเสริมสร้างความเป็นชาติ เกิดสังคมที่มีความสมานฉันท์ เพราะประชาชนมีความสามัคคี และยังไว้วางใจสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองที่ก่อให้เกิดนักปกครองประเทศให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ นั่นคือประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก่อให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพ

แต่เมื่อหันมาจับชีพจรประเทศไทยบนพื้นฐานของคุณภาพประชาธิปไตย คุณภาพสังคมพบว่า คุณภาพประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงดวงดาว เพราะประเด็นของมิติต่างๆ ที่อ่อนแอ

หากจะให้มีการพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตยจริง ต้องพัฒนาทุกมิติ ให้ก้าวไปพร้อมกันกับคุณภาพสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาวิธีคิดที่บ้านเรายังขาดอยู่มาก จนทำให้ไม่สามารถส่งให้เกิดบุคลากรเข้าสู่การเมืองที่มีคุณภาพได้เพียงพอ ไม่สามารถสร้างประชาชนที่มีจิตสำนึกของพลเมืองหรือจิตสาธารณะได้มากพอที่จะช่วยกันผลักดันสังคมไทยไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยบนพื้นฐานของการเน้นคุณภาพประชาธิปไตยได้

เพราะเราลืมการเรียนการสอนเรื่องการศึกษาของพลเมืองไปนานแล้ว

หน้า 7

ไม่มีความคิดเห็น: