คำว่ารัฐศาสตร์ หากพิจารณาโดยแยกศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ว่า “POLITICAL SCIENCE” เพื่อกำหนดความหมายพื้นฐานของรัฐศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่า “POLITICS” ซึ่งหมายความว่า การเมือง นั้น มีรากศัพท์มาจากคำว่า “polis” ในภาษากรีก หมายถึงนครรัฐ เป็นการจัดองค์กรทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ได้บังเกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว ในขณะที่ “SCIENCE” ก็คือศาสตร์ หรือวิชาในการแสวงหาความรู้ รัฐศาสตร์ตามรากศัพท์นี้ จึงเป็นวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือการสร้างบ้านเมือง หรือการสถาปนาชุมชน/เมืองขนาดใหญ่ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้คนใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยความสันติสุข
นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้ที่ได้ให้ความหมายของคำว่ารัฐศาสตร์ที่น่าสนใจพึงกล่าวถึงได้แก่ ยูเลา (Heinz Eulau 1963, 3) ซึ่งกล่าวว่า รัฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาว่าทำไมมนุษย์จึงคิดสร้างการปกครองมนุษย์ขึ้นมา
เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ (2508, 1-3) ให้นิยามของรัฐศาสตร์ว่าเป็น ศาสตร์ที่ว่าด้วยรัฐ (Science of the state) โดยเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับรัฐ วิวัฒนาการของรัฐ และรัฐในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกี่ยวกับองค์การปกครองหรือสถาบันทางการเมืองของรัฐ และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์ของเอกชนหรือกลุ่มชนกับรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ตลอดจนจนแนวการศึกษาความคิดทางการเมืองอันมีอิทธิพลมหาศาลต่อความคิดของนักการเมืองเอกของโลก และต่อวิวัฒนาการของรัฐและการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองการปกครอง ในทำนองเดียวกัน จรูญ สุภาพ (2522, 1) ได้นิยามรัฐศาสตร์ว่าเป็น สาขาขององค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ (Social Science) ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การจัดองค์กรทางการเมืองการปกครอง รัฐบาลหรือผู้ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง และวิธีรดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ โดยความหมายดังนี้ รัฐศาสตร์ จึงเป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับ 3 สิ่งคือ รัฐ สถาบันทางการเมืองการปกครอง และแนวความคิดทางการเมืองการปกครอง
มองลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับขอบข่ายเนื้อหาของการศึกษารัฐศาสตร์ เราจะได้นิยามความหมายของรัฐศาสตร์ว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการปกครองและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิด การรวม การเปลี่ยนแปลง และความเสื่อมของชุมชนการเมืองทั้งหลาย ตอลดจนรูปแบบของการปกครอง กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ชุมชนต่าง ๆ แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือทำการตัดสินใจ รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่ต่อกัน โดยเรื่องสำคัญ ๆ ที่ศึกษาได้แก่เรื่องความรุนแรง การปฏิวัติ การสงคราม ความสงบเรียบร้อย การปกครองแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการ การเลือกตั้ง การบริหาร หน้าที่พลเมือง การสรรหาผู้นำ ความปลอดภัยของชาติกับองค์การระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรม พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์กับพฤติกรรมทางการเมือง การกำหนดนโยบายสาธารณะ อุดมการณ์ทางการเมือง รวมทั้งความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของฝูงชน (Eulau and March 1975, 5)
สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ (เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ 2508, 10) เห็นว่า รัฐศาสตร์คือ การศึกษาเกี่ยวกับรัฐ และวิธีการอันเหมาะสมที่สุด ในอันที่จะปฏิบัติตามวิชาการที่เกี่ยวกับรัฐ ขอบเขตของวิชารัฐศาสตร์จึงรวมถึงส่วนประกอบทุกส่วนในความสัมพันธ์ภายในและภายนอกรัฐ
ทินพันธ์ นาคะตะ (2541, 3) อธิบายว่า รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งสำคัญ ต่าง ๆ ประกอบด้วย กำเนิดและลักษณะของรัฐ สถาบันการเมืองการปกครอง อำนาจ การตัดสินตกลงใจและนโยบายสาธารณะ ระบบการเมือง รวมทั้งการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความรู้ความเข้าใจ และหาคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ บังเกิดขึ้น
รัฐศาสตร์ในเชิงที่เป็นระเบียบการปกครอง อันแตกต่างไปจากคำว่า “การปกครอง” ที่หมายถึง ตัวกิจการที่ปฏิบัติ รัฐศาสตร์ในประการนี้จึงหมายความถึง ระบบของการปฏิบัติปกครอง โดยการจัดมาตรฐานและระเบียบภายในประชาคม (society) (เกษม อุทยานิน 2513, ข) ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งในสาขาสังคมศาสตร์ ที่เป็นวิชาใหญ่ในบรรดาวิชาการว่าด้วยสังคมมนุษย์ (เกษม อุทยานิน 2513, ก)
ความหมายของรัฐศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นศาสตร์ที่มีขอบเขตกว้างขวางของรัฐศาสตร์ ซึ่งผู้เรียบเรียงขอสรุปความหมายของรัฐศาสตร์โดยยึดความหมายดังที่ อานนท์ อาภาภิรม (2545, 2) ได้สรุปให้เห็นไว้ว่า รัฐศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับที่มาและพัฒนาการของรัฐ (Origin and Development of the State )การอธิบาย การวิเคราะห์และการเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญและรัฐบาล กระบวนการทางการเมือง (Political Process) ระบบกฎหมาย (Law System) บทบัญญัติของรัฐที่ใช้บังคับต่อปัจเจกชน (Individual) และกลุ่มคน (Groups) รวมไปถึงการศึกษาถึงองค์การและกิจกรรมของพรรคการเมือง (Political Parties) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและอุดมการณ์ระหว่างรัฐ การบัญญัติและการควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโดยวิธีการของกฎหมายระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ (International Organization) การกล่าวถึงนัยยะความหมายของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์อันมีคุณลักษณะในตัวที่เป็นแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์เช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้เห็นภาพส่วนประกอบของรัฐศาสตร์แล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานแก่ผู้ศึกษาที่จะทำความเข้าใจถึงขอบเขตของการศึกษา และโยงใยไปถึงแนวการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น
วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น