
โดย เกษียร เตชะพีระ
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11220 มติชนรายวัน
ที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือสังคมการเมืองที่ไร้อำนาจนำ!
หากนิยาม "อำนาจนำ" (hegemony) ว่าหมายถึงความสามารถในการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของผู้ตาม (leadership by consent) หรือนัยหนึ่งการยอมปฏิบัติตามผู้นำโดยไม่ต้องถูกบังคับ (non-coercive compliance) แล้ว
สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดความขัดแย้งต่อสู้รุนแรงแตกหักบนฐานเครือข่าย-ชนชั้น-อุดมการณ์-ภูมิสังคม-ภูมิภาค-และระบอบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แตกต่างกันในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า "ระบอบ-ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ของไทยเรากำลังตกอยู่ในสภาวะไม่มีอำนาจนำทาง การเมือง
ไม่มีกลุ่มการเมืองใดสามารถกุมการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายต่างๆ ทุกฝ่ายซึ่งอยู่ในฐานะสำคัญทางยุทธศาสตร์ในสังคมไทย
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่มีการนำของกลุ่มการเมืองใดสามารถบันดาลให้พลังยุทธศาสตร์ทุกฝ่ายในสังคมไทยยอมปฏิบัติตามโดยไม่ต้องถูกบังคับ
ในภาวะเช่นนี้ ไม่ว่าสังคมการเมืองใด ระบอบการปกครองไหนก็ย่อมไม่อาจดำรงภาวะปกติสุขอยู่ได้ และย่อมแสดงออกซึ่ง "กลุ่มอาการอำนาจนำเสื่อม" (hegemony deficiency syndrome) ทางการเมือง หนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่?..
- การแบ่งฝ่ายแยกข้างสุดโต่งสุดขั้วทางการเมือง (political polarization)
- ระบอบอำนาจนิยมและการใช้กำลังบังคับทางการเมือง (authoritarianism & political coercion)
- ความขัดแย้งทางชนชั้น (class conflict)
- บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป (no rule of law)
- อนาธิปไตย, รัฐล้มเหลวและการใช้ความรุนแรงก่อการร้ายต่อกัน (anarchy, state failure & terroristic violence)
พูดอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ สภาวะแบบที่เราพบเห็นกันกลางกรุง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม (ม็อบปะทะกัน), 26 สิงหาคม (ทำเนียบรัฐบาลและสถานีเอ็นบีทีถูกบุกยึดครอง), 2 กันยายน (ม็อบปะทะกัน) และตลอดวันที่ 7 ตุลาคม (ม็อบปิดรัฐสภาและปะทะตำรวจ) ศกนี้ รวมทั้งเหตุปะทะประปรายอื่นๆ ตามหัวเมืองต่างจังหวัดเรื่อยมา-แล้วคูณ 10 คูณ 100 เข้าไป!
ฐานรากทางสังคมของกระบวนการนี้คือ การเปลี่ยนย้ายอำนาจ (power shift) จากมือเครือข่ายอำนาจบนฐานพันธมิตรทางชนชั้นเดิมไปสู่เครือข่ายอำนาจบนฐานพันธมิตรทางชนชั้นใหม่ ซึ่งฝ่ายหลังปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่รอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งโดยตั้งใจและไร้เจตนา
ปมปัญหาคือ เราจะสามารถปรับเปลี่ยนเหล่าสถาบันทางการเมืองการปกครองแห่ง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ให้เปิดกว้างทันสมัยยืดหยุ่นเข้มแข็งพอที่จะเป็นกรอบกติกา รองรับการต่อสู้เปลี่ยนแปลงที่ย่อมจะมีมาในกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้นี้หรือไม่?
สถาบันการเมืองการปกครองของเราจะสามารถปฏิรูปปรับตัวเพื่อเป็นช่องทางชักพาโน้มนำความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในวิถีทางแห่งหลักนิติธรรมและระบอบรัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตยและสันติวิธีได้หรือไม่ อย่างไร?
เพื่อการนี้ มีเงื่อนไขจำเป็นจำนวนหนึ่งที่หากเราช่วยกันรักษาไว้ได้ก็อาจพอเอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนย้ายอำนาจคลี่คลายขยายตัว อย่างไม่สร้างความบาดเจ็บเสียหายแก่สังคมไทยโดยรวมเกินไป, ไม่ถึงแก่ทำลายเยื่อใยสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันอันมีมาแต่ก่อนให้ฉีกขาดแตกสลายจนไม่อาจคืนดี กล่าวคือ :-
1) ต้องคัดค้านต่อต้านและโดดเดี่ยวกลุ่มแกนนำที่มีความคิดการเมืองสุดโต่งทั้งสองฝ่าย (anti-fanaticism)
คัดค้านต่อต้านและโดดเดี่ยวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปฏิกิริยาสุดโต่งที่เรียกร้อง "การเมืองใหม่" ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ระบอบรัฐธรรมนูญ
หรือฝ่ายโลกาภิวัตน์สุดโต่งที่ต้องการ "ระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชนฯ"
ไม่ปล่อยให้พวกเขาผูกขาดการนำ ครอบงำขบวนการและยึดกุมการเป็นตัวแทนของคู่ขัดแย้ง
เข้าวิวาทะวิพากษ์วิจารณ์ให้แต่ละฝ่ายเผยแสดงความหลากหลายภายในออกมา
ผลักดันให้กลุ่มแกนนำอื่นที่มีความคิดไม่สุดโต่ง, ปฏิบัตินิยม, ยอมรับและเริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ไม่ตรงและไม่เป็นไปตามอุดมคติ, และพร้อมประนีประนอม เพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ให้ก้าวหน้าต่อไปในกรอบระบอบรัฐธรรมนูญ เสรีประชาธิปไตยและสันติวิธี - ได้ขึ้นมากุมการนำแทน
2) สร้างเงื่อนไขให้แก่การประนีประนอมทางชนชั้นระหว่างคนชั้นกลางชาวเมืองกับคนชั้นล่าง-ชั้นกลางในชนบท (class compromise)
โดยด้านหนึ่งสร้างหลักนโยบายใหม่ที่สามารถโน้มน้าวจูงใจดึงคนชั้นกลาง-ชั้นล่าง ชาวชนบทออกมาจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณเดิมได้
อีกด้านหนึ่งก็พยายามดึงคนชั้นกลางชาวเมืองออกมาจากแนวทางการเมืองแบบขุดรากถอนโคนสุดโต่งสุดขั้วนอกระบบต้านระบบของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผลักดันพลังของพวกเขาให้เข้าสู่ระบบสถาบันการเมืองที่เปิดช่องให้เสียงข้างน้อยซึ่งคัดค้านวิจารณ์ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลนอกคูหาเลือกตั้งมีความหมายและประสิทธิผลจริงในเชิงปฏิบัติ
สุดท้ายสื่อสารมวลชนไม่ว่าจะเป็นของสาธารณะหรือของเอกชน สื่อสิ่งพิมพ์หรืออิเล็กทรอนิกส์ ฟรีทีวีหรือเคเบิลทีวี วิทยุราชการหรือวิทยุชุมชน รวมทั้งเว็บไซต์ต่างๆ พึงใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ ในกรอบที่กำกับด้วยกฎหมายและองค์กรสาธารณะอันชอบธรรม เคารพความจริง สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น โน้มน้าวชักดึงให้คนชั้นต่างๆ ในสังคมไทยเยือกเย็นลง อดทนอดกลั้น หันมาเดินหนทางสายกลางทางการเมือง (political moderation)
กล่าวในแง่นี้ สัญญาณที่สอดคล้องต้องกันจากสถาบันหลักทางประเพณีที่มีทุนทางวัฒนธรรมสูงของสังคมไทยจะช่วยได้มากพอควร
3) ร่วมกันสร้างสรรค์สถาปนา "อำนาจนำที่สาม" (a third hegemony) ขึ้นมาในสังคมไทยให้เป็นทางเลือกทางออกสำหรับคนส่วนใหญ่นอกเหนือไปจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายที่ต่อสู้กันอยู่
โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักนโยบายรัฐสวัสดิการที่เหนือกว่าประชานิยม
สังคมประชาธิปไตย (social democracy) ที่เปิดช่องให้พลังจัดตั้งของผู้ใช้แรงงานถ่วงดุลอำนาจทั้งทุนผูกขาดในประเทศและทุนข้ามชาติ
และนิเวศประชาธรรมที่คำนึงถึงความอยู่รอดยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยในระยะยาว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น