ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ระเบียบวิธีการศึกษา หมายความถึง วิถีทางที่คน ๆ หนึ่งใช้ในการศึกษา ไม่ว่าจะนิยามหรือคำจำกัดความ หรือแนวทางในการวิเคราะห์ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่เป็นระบบหรือไม่ มีการสร้างแบบจำลองหรือตัวแบบของการศึกษาไว้หรือไม่ก็ตาม ระเบียบวิธีการศึกษาแต่ละแบบที่มีอยู่ในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์นั้น จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้นักรัฐศาสตร์สามารถทำความเข้าใจและอธิบายเกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น เกิดความรู้ความเข้าใจที่เที่ยงตรง และเนื่องจากรัฐศาสตร์มิได้กล่าวถึงเพียงแต่เรื่องการเมืองการปกครองประการเดียว แต่ยังหมายความกว้างถึงการศึกษาเกี่ยวกับการแจกแจงคุณค่าในเชิงอำนาจ การบริหารและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสังคมรัฐศาสตร์นอกจากที่ต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะแล้ว ยังเป็นการสานความรู้หรือประสมประสานบูรณาการความรู้ในศาสตร์ด้านอื่น อาทิประวัติศาสตร์ เศรษศาสตร์ การจัดการมนุษยวิทยา เป็นต้น ประกอบเข้าไปด้วย ในอันที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่ศึกษาเรื่องรัฐศาสตร์ที่มีความสลับซับซ้อน เป็นไปอย่างแตกฉานยิ่งขึ้น
ระเบียบวิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์หากพิจารณาตามนิยามที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ก็กล่าวได้ว่าระเบียบวิธีการศึกษาเกิดขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองนั่นเอง เพียงแต่แตกต่างกันไปบ้างตามจุดเน้นของแต่ละวิธี ซึ่งพิจารณาได้จากงานเขียนของ สนธิ เตชานันท์ (2543, 9-17) ซึ่งได้จำแนกไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. แนวทางการศึกษารัฐศาสตร์แบบเก่า (Traditional political science)
แนวการศึกษาแบบนี้ประกอบไปด้วยระเบียบวิธีการศึกษาหลายแบบ แต่ละแบบก็แตกต่างกันไปบ้าง ดังนี้
1.1 แบบปรัชญาการเมืองคลาสสิค (Classical political philosophy)
แนวทางการวิเคราะห์แบบนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ การประเมินค่าสิ่งที่นักปรัชญาการเมืองสนใจ ประกอบกับการใช้วิธีการอนุมานหรือคาดคิดเอาด้วยเหตุด้วยผลเท่าที่มีอยู่ว่าการเมืองคืออะไร ระบบการปกครองที่ดีที่สุด ผู้ปกครองที่ดีที่สุดควรจะเป็นอย่างไร ดังที่ได่กล่าวไปแล้วในเรื่องแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาการเมือง
1.2 แบบประวัติศาสตร์ (Historical method)
แนวทางการศึกษาแบบนี้ได้เริ่มต้นขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ใน สหรัฐอเมริกาและยังคงใช้กันมากในปัจจุบัน โดยนักรัฐศาสตร์เชื่อกันว่ารัฐศาสตร์มีต้นกำเนิดมาจากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ หรือเป็นวิชาประวัติศาสตร์การเมืองซึ่งรวมตลอดถึงประวัติพรรคการเมือง ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประวัติความคิดทางการเมืองที่สำคัญต่าง ๆ และเห็นว่าวิธีการศึกษาแบบนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้สามารถทำความเข้าใจความเป็นจริงของสถาบันการเมืองต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้
1.3 แบบกฎหมาย (Legalistic method)
แนวทางการศึกษาแบบนี้ถือว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่การศึกษาในเรื่องการเมืองกับกฎหมายหรือระบบกฎหมายมีความเกี่ยวพันกัน และได้กลายเป็นสิ่งที่วางพื้นฐานการศึกษารัฐศาสตร์อเมริกันที่พิจารณาว่า รัฐศาสตร์แท้จริงแล้วคือการศึกษาระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
1.4 แบบวิเคราะห์สถาบัน (Institutional analysis method)
แนวทางการวิเคราะห์แบบนี้เกิดขึ้นจากความตระหนักของนักรัฐศาสตร์ว่าการเมืองเป็นสิ่งที่มากไปกว่าระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้มีการพูดถึงการเมืองตามความเป็นจริงและเพียนงพ่อต่อการทำความเข้าใจรัฐศาสตร์ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จากวิธีการศึกษาแบบกฎหมายและประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์สถาบันการเมืองจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้นักรัฐศาสตร์มองเห็นหรือได้ศึกษาเกี่ยวกับความป็นจริงทางการเมืองมากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายของวิธีการศึกษาแบบนี้มีลักษณะสำคัญของการพรรณารายละเอียดสถาบันทางการเมือง อำนาจ บทบาทและหน้าที่ของประธานาธิบดี ด้วยวิธีการสังเกตที่ไม่ลึกซึ้ง ที่มิใช่การอธิบายระบบการเมือง
2. ระเบียบวิธีการศึกษาเชิงพฤติกรรมนิยม (Behavioralism)
ภายหลังที่นักรัฐศาสตร์ได้หันเหความสนใจไปศึกษาการเมืองในเชิงวิเคราะห์มากขึ้น เพื่อจะยกฐานะของวิชารัฐศาสตร์ให้ทัดเทียมกับวิชาสังคมศาสตร์อื่น ๆ พร้อมกับความก้าวหน้าทางระเบียบวิธีการศึกษาหลายอย่างที่อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ ได้ก่อให้การศึกษาวิชารัฐศาสตร์หันเหความสนใจจากเดิมที่เป็นการอนุมานหรือการประเมินค่าสิ่งที่ศึกษาตามความเห็นหรือทัศนะของนักรัฐศาสตร์ เช่นที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่าเป็น “การคาดคิดไปตามอำเภอใจ” ซึ่งได้รับการวิพากษ์ถึงความน่าเชื่อถือในแง่ความเป็นศาสตร์ที่สามารถนำมาอธิบายการเมืองได้อย่างกว้างขวางถูกต้อง ได้เป็นสิ่งผลักดันให้รัฐศาสตร์นำเอาเทคนิควิธีศึกษาเชิงศาสตร์อันได้แก่วิธีการเชิงปริมาณ การรวบรวมข้อมูลที่พิสูจน์ได้ สนใจปรากฎการณ์ที่สังเกตได้ การวัดที่มีความถูกต้องแม่นยำ การวิเคราะห์อย่างมีระเบียบวิธีและอ้างอิงทฤษฎี โดยเชื่อว่าทฤษฎีและผลของการค้นพบที่นำไปสู่ข้อสรุป จะช่วยเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของรัฐศาสตร์ทุกสาขา มาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของมนุษย์ไปด้วย โดยแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมด้านหนึ่งได้แก่การเน้นในการศึกษาพฤติกรรมของผู้ดำเนินการทางการเมืองเป็นสำคัญ ที่มักจะปฏิเสธแนวทางแบบวิเคราะห์สถาบัน ซึ่งนักรัฐศาสตร์บางท่านเช่น เดวิด อีสตัน (David Easton) ได้เรียกร้องให้นักรัฐศาสตร์หันมาสนใจศึกษาเกีย่วกับกิจกรรมทางการเมืองมากกว่าการศึกษาสถาบันทางการเมือง
3. ระเบียบวิธีการศึกษายุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (Post-behavioralism)
วิธีการศึกษาแบบนี้มีที่มาจากการที่นักวิชาการรัฐศาสตร์รุนใหม่ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ไม่ยอมรับระเบียบวิธีการศึกษาแบบพฦติกรรมนิยมที่ยึดมั่นวิธีการทางวิทยาศาสตร์มากเกินไ ป โดยวิภาควิจารณ์หรือกลับเคลื่อนไหวปฎิรูปวิชารัฐศาสตร์หรือเป็นยุคที่เรียกว่า “การปฏิวัติยุคหลังแนวการศึกษาเชิงพฤติกรรม (the Post-behavioralism Revolution)” โดยสาระสำคัญในแนวคิดของนักรัฐศาสตร์กลุ่มนี้คือเห็นว่ายิ่งรัฐศาสตร์ใช้วิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับการแยกค่านิยมออกจากการเมืองมากเท่าใด นักรัฐศาสตร์ก็จะยิ่งห่างไกลจากการเมืองมากขึ้นเท่านั้น และจะทำให้นักรัฐศาสตร์มุ่งแต่ความสนใจที่จะศึกษาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าที่จะมองปัญหาสำคัญ ๆ ทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ นักรัฐศาสตร์จึงต้องให้ความสำคัญต่อค่านิยมในการพิจารณาตัดสินเรื่องการเมืองการปกครอง อันแตกต่างไปจากการศึกษาเชิงพฤติกรรมนิยมที่มุ่งแยกส่วนค่านิยมออกจากข้อเท็จจริง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น