วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11149 มติชนรายวัน
ประชาภิวัฒน์
โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
การลุกขึ้นสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีจุดเริ่มต้นมาจากการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเพื่อหนีการถูกยุบพรรคและฟอกความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง
นับจากวันที่ 25 พฤษภาคม ที่พันธมิตรนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาถึงวันนี้ที่พันธมิตรเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลาเกือบ 120 วัน หรือ 4 เดือน แกนนำพันธมิตรต้องเผชิญกับการถูกตำรวจตั้งข้อหาต่างๆ ผู้ชุมนุมต้องเผชิญกับความยากลำบากและได้รับอันตรายจากการถูกตำรวจตระเวนชายแดนและกลุ่มคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามทุบตี ทำร้ายด้วยอาวุธ กระบอง ปืน แก๊สน้ำตา ไม้ การถูกเตะ กระทืบ ฯลฯ จนบาดเจ็บสาหัสและบาดเจ็บธรรมดาไปหลายคน
ถือเป็นการลงทุนของฝ่ายพันธมิตรเพราะการต่อสู้ในเมืองที่ใช้พลังมวลชนเข้าขับเคลื่อนต้องเสี่ยงกับการเสียเลือดเนื้อและชีวิต เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐย่อมต้องดิ้นรนและหาทางสกัดกั้น ขัดขวาง ทุกวิถีทาง
กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐต้องพ่ายแพ้ ดังจะเห็นได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีอันต้องพับไป ในส่วนของนายสมัคร สุนทรเวช ผู้นิยมใช้ความรุนแรงทั้งอาวุธและวาจาก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ทีแรก ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลพยายามจะลงมติเลือกให้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสกดดันจากพันธมิตรและฝ่ายอื่นๆ ได้ ทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 12 กันยายน ต้องล่มเพราะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลพากันไม่เข้าห้องประชุม
และเมื่อพรรคพลังประชาชนจะสนับสนุนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกฯมาเป็นนายกฯแทน ก็ไม่วายจะถูก ส.ส.กลุ่มก๊วนที่เป็นเพื่อนของนายเนวิน ชิดชอบ 72 คน นัดประชุมและออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรค
ความเห็นที่ขัดแย้งนี้ไม่ว่าจะประนีประนอมกันได้หรือไม่ อย่างไร ก็ประจานตัวเองให้ผู้คนได้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนล้วนแต่ต้องการโควต้ารัฐมนตรีทั้งจำนวนและกระทรวงสำคัญให้อยู่ในกลุ่มของตนและรวมถึงการมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของพรรค หาใช่เป็น ส.ส.ที่เปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์แห่งความเสียสละอันควรแก่การฝากความหวังให้นักการเมืองเหล่านี้ได้บริหารประเทศชาติ
ใครบ้างที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง เงินและผลประโยชน์อื่นๆ ที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้ ส.ส.ในแต่ละก๊วนยังเกาะกลุ่มรวมตัวกันอยู่ต่อไปได้
มวลชนที่สังกัด นปช. ชมรมคนรักอุดรและผู้ที่ศรัทธา พ.ต.ท.ทักษิณ และรักนายสมัครอย่าได้เสียใจไปเลยที่เห็นความแตกแยกในพรรคพลังประชาชนเพราะนี่คือธาตุแท้ของนักการเมือง ตราบเท่าที่ผลประโยชน์ยังไม่ลงตัว ตราบนั้นจะพูดกันไม่รู้เรื่องและมักจะแสดงปฏิกิริยาออกมาโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของชาวบ้านว่าจะรำคาญและเอือมระอาแค่ไหน
กล่าวสำหรับพันธมิตรที่ได้นำเสนอ "การเมืองใหม่" และ "ประชาภิวัฒน์" ประชาชนโดยทั่วไปหรือแม้แต่คนมีความรู้ระดับนักวิชาการที่เป็นครูบาอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก รับรองได้เลยว่าไม่มีความเข้าใจว่าหมายถึงอะไร มิหนำซ้ำอาจจะมองว่าพันธมิตรเป็นตัวปัญหา การยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง การถูกตั้งข้อหากบฏนั้นชอบธรรมแล้ว การที่ 9 แกนนำพันธมิตรไม่มอบตัวและไม่ยอมให้ตำรวจเข้าไปจับกุมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
เรียกว่ายืนอยู่ตรงข้ามกับการต่อสู้ของพันธมิตร
จริงอยู่ ด้านหนึ่งเป็นเพราะพันธมิตรยังไม่มีความชัดเจนว่าวิธีการสร้างการเมืองใหม่หรือประชาภิวัฒน์จะทำอะไร อย่างไร จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ จะแก้มาตราไหน ให้ใครเป็นคนแก้ สื่อมวลชนก็ไม่ได้แสดงบทบาทหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารและการอธิบายต่อสังคม
อีกด้านหนึ่งคนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ปัญญาชนที่ได้ชื่อว่ามีความรู้สูงแต่กลับอับจนภูมิปัญญาที่จะคิดหาทางออกจากวังวนแห่งความตีบตันของการเมืองเก่าๆ ที่คิดได้แต่เพียงประชาธิปไตยคือการได้ไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงที่คูหา ไม่ได้สนใจและไม่เข้าใจว่าตนเองมีส่วนกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเฟ้นแต่คนดีๆ มาให้สมัคร ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พวกตนมีสิทธิเต็มที่ที่จะเรียกร้องให้พรรคการเมืองชี้แจงวิธีปฏิบัติในนโยบายสำคัญๆ รวมทั้งแสดงความไม่พอใจหากผู้นำพรรคการเมืองหลบเลี่ยงการร่วมดีเบตบนเวที การไม่ประกาศว่าจะเอาใครมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญหากได้จัดตั้งรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่คนเหล่านี้จะหงุดหงิดง่ายเมื่อเห็นการชุมนุมเกิดขึ้นและสะใจหากแกนนำพันธมิตรและผู้ชุมนุมถูกจับกุม หรือถูกทุบตี ทำร้าย
ทั้งๆ ที่ถ้าหากมีความเข้าใจระบบการเมืองการปกครองและสิทธิของประชาชนย่อมจะรู้ว่ากว่าที่ประเทศชาติจะมาถึงจุดนี้ได้ ล้วนแต่มีประชาชนจำนวนหนึ่งได้ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิเสรีภาพจากผู้ปกครองประเทศซึ่งมีทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำโดยเฉพาะตำรวจและทหาร ซึ่งการเรียกร้องแต่ละครั้งกว่าจะได้สิทธิเสรีภาพมาต้องสังเวยด้วยชีวิตเลือดเนื้อและการสูญเสียอิสรภาพ
ถ้าไม่มีผู้กล้าหาญเป็นแสนเป็นล้านคน คงไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้น หรือคนเหล่านี้ จะเถียงว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นแสนเป็นล้านคนในครั้งนั้นเป็นความผิด เป็นความเลว ควรจะถูกตำรวจจับกุม ถูกยิงตายไปทั้งหมด
เช่นเดียวกับครั้งนี้ การลุกขึ้นสู้ในเมืองและเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกำลังได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วโลก ข้อเรียกร้องของแกนนำพันธมิตรอาจยังมองไม่เห็นว่าหนทางแห่งความสำเร็จจะก้าวเดินไปอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้จุดประกายแห่งความหวังว่าการเมืองใหม่จะต้องเข้ามาทดแทนการเมืองเก่าอย่างแน่นอน เพราะการเมืองเก่าอย่างที่เป็นมาแม้จะเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2540 ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง แต่สุดท้ายก็พังครืน จวบจนถึงวันนี้ นักการเมืองหาได้ปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้รับใช้ประชาชนไม่ คงเป็นเพียง "นักเลือกตั้ง" ที่ต้องลงทุน คนดีๆ ไม่มีใครอยากจะลงมาเกลือกกลั้วกับความสกปรกโสโครก การท้าทายให้ใครมาลงเลือกตั้งแข่งจึงเป็นเรื่องตลกร้ายที่น่าทุเรศที่สุด
การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของคนและเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องยากที่สุด บางทีการเน่าเฟะของการเมืองเก่า (การเมืองปัจจุบัน) และการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมหรือความรุนแรงมาแก้ปัญหากับแกนนำพันธมิตร และผู้ชุมนุมจนเกิดจลาจลใหญ่แล้วในที่สุดผู้มีอำนาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งให้กระจายไปยังสาขาอาชีพต่างๆ และรวมถึงการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ก็เป็นได้
เกิดมาไม่เคยเห็น "ประชาภิวัฒน์" อาจจะได้เห็นกันในยุคนี้ก็ได้!