วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทิศทางการปกครองท้องถิ่นไทย จากมุมมองของ ดร.โกวิทย์


สนทนาวิชาการครั้งปฐมฤกษ์นี้ เราได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม อาจารย์ประจำภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้แง่คิด และมุมมองที่อาจารย์มีต่อทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทย ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองท้องถิ่น








อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับคำพูดที่ว่า การกระจายอำนาจก็เหมือนกับการกระจายการทุจริตคอรัปชั่นไปยังท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ?

ไม่เห็นด้วย เนื่องจากหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็คือ หลักที่ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีอำนาจภารกิจมากขึ้น เป็นการกระจายความรับผิดชอบให้แก่องค์กรท้องถิ่นที่ต้องทำงานทดแทนภาคส่วนของรัฐ เป็นการแบ่งเบาภารกิจรัฐบาล เพื่อทำให้งานจัดบริการสาธารณะต่างๆ ท้องถิ่นได้ใช้กระบวนการคิดกระบวนการมีส่วนร่วมที่จะต้องทำร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น

ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจก็เหมือนกับการ กระจายการทุจริตคอรัปชั่นไปยังท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้น เป็นคำพูดที่เปรียบเทียบ ซึ่งทำให้องค์กรท้องถิ่นต้องมาคิดว่า การกระจาย อำนาจที่กระจายเงิน ใช้งบประมาณกระจายภารกิจไปให้ท้องถิ่นต้องจัดทำภารกิจแบ่งเบาภารกิจรัฐบาล ปรากฏว่ามีบางท้องถิ่นก็มีการทุจริตคอรัปชั่น บางท้องถิ่นทำงานไม่โปร่งใส บางท้องถิ่นก็ทำงานขาดหลักการมีส่วนร่วม ซึ่งอันนี้ขัดกับหลักการกระจายอำนาจ

การกระจายอำนาจที่แท้จริงนั้น คือ การทำงานเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมที่จะช่วยกันจัดสรรทรัพยากรของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก อาจจะรู้สึกว่าเขาได้เป็นเจ้าของภารกิจ เจ้าของงาน เจ้าของเงิน โดยหลักการแล้วหลักการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ดี

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อาจารย์คิดว่า เราจะรักษาความสมดุลระหว่างแนวคิดการกระจายอำนาจของการทุจริตในการปกครองท้องถิ่นอย่างไร?

คิดว่าการกระจายอำนาจมันเป็นเรื่องที่ทำให้ท้องถิ่นต้องมีการทำงานที่โปร่งใส สิ่งสำคัญนั้น ก็คือ การทำให้เกิดการมีธรรมาภิบาลขึ้นในท้องถิ่น การปกครองท้องถิ่นต้องมีความปกครองรักษาธรรมาภิบาลในท้องถิ่น หมายถึงประชาชนต้องมีส่วนร่วมประชาชนต้องคอยตรวจสอบ ประชาชนต้องแสดงให้เห็นว่า ท้องถิ่นของตนเองทำงานได้อย่างโปร่งใส และมีความรับผิดชอบ ผมคิดว่าการคอรัปชั่นในที่สุดมันจะลดลงไปเอง ถ้าประชาชนมีความคิดเห็นส่วนร่วมคอยกำกับดูแล และรู้สึกว่าท้องถิ่นของตัวเองเป็นที่หวงแหน และเป็นส่วนหนึ่งที่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สังคมไทยยังมีภูมิคุ้มกันเรื่องการทุจริตมากน้อยเพียงใดจะทำให้การบริหารงานปราศจากคอรัปชั่น?

ก็เห็นด้วยกับข้อนี้ เพราะสังคมไทยยังไม่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมมากที่จะทำให้การบริหารท้องถิ่นปราศจากการทุจริต มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผมคิดว่าสังคมไทยยังเพิกเฉย หรือยังไม่กระตือรือร้นที่จะช่วยกันคุ้มครองสังคมที่คุ้มกันสังคมให้ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น แต่ก็มองการคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่ปกติเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งเป็นอันตรายต่อองค์กรปกครองท้องถิ่นกับสังคมไทย ฉะนั้นสังคมไทยต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมเพื่อประชาชนจะได้เรียนรู้ได้ตระหนักถึงการทำงานที่ปราศจากการทุจริต และคอรัปชั่น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความก้าวหน้าเรื่องการปกครองท้องถิ่นมากที่สุด อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร?

เห็นด้วยกับข้อนี้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีส่วนทำให้การปกครองท้องถิ่นมีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยเฉพาะการบัญญัติหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นไว้ในหลักการหลายเรื่อง รวมทั้งหมวดว่าด้วยสิทธิ และหน้าที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายประเด็น

ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรม การพิทักษ์คุณธรรมจริยธรรมของบุคลากรของท้องถิ่น การทำงานของผู้บริหารท้องถิ่น การมีองค์กรพิทักษ์คุณธรรมก็มีส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงฐานะของพนักงานเป็นข้าราชการของการปกครองท้องถิ่น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นความก้าวหน้า และเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการมีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่คอยดูแลการแต่งตั้งการโยกย้าย หรือการพัฒนาข้าราชการท้องถิ่น ผมคิดว่าส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่เพิ่มเติมแล้วก็ให้มีการกำกับดูแลตรวจสอบท้องถิ่นโดยภาคประชาชนง่ายขึ้น

ความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีการพิทักษ์คุณธรรมข้าราชการท้องถิ่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงฐานะข้าราชการท้องถิ่นเป็นข้าราชการท้องถิ่น มีกฎหมายข้าราชการท้องถิ่นแล้ว ก็มีการทำให้มันง่ายต่อการตรวจสอบโดยภาคประชาชน การเข้าถึงของประชาชนในการเสนอถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มันจัดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการอัดฉีดเงินถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างที่กระทรวงมหาดไทย นักวิชาการของไทยบางคนกำลังทำอยู่ในขณะนี้มิใช่เป็นการกระจายอำนาจอย่างยั่งยืน อาจารย์มีความคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างไร?

คิดว่าการกระจายอำนาจมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนภารกิจการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการโอนภารกิจ เมื่อมีการโอนภารกิจแล้ว การโอนเงินงาน งานก็คือภารกิจ เงินก็คืองบประมาณ รวมทั้งการยักย้ายถ่ายเทบุคลากรก็เป็นเรื่องที่จำเป็น

แต่การพัฒนาองค์กรท้องถิ่น หรือการกระจายอำนาจท้องถิ่นให้ยั่งยืนนั้น ผมคิดว่าจะต้องทำความเข้าใจกับส่วนภาคต่างๆ ทั้งในแง่ของภาคราชการ ส่วนภาครัฐ แล้วก็ส่วนภูมิภาคที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีคิดเป็นที่จะทำให้รู้ว่า เมื่อถ่ายโอนภารกิจลงไปแล้ว จำเป็นอยู่เองที่ต้องถ่ายโอนงบประมาณ น้ำหนักของงบประมาณแทนที่จะอยู่ในส่วนกลาง หรือภูมิภาคก็ต้องถ่ายโอนไปท้องถิ่น เพียงแต่ว่าการให้เงิน หรือจัดสรรงบประมาณแบบอัดฉีดเงินท้องถิ่นก็อาจเป็นประเด็นที่ไม่น่าพึงประสงค์นัก เพราะว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือ ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีรายได้ของท้องถิ่นที่จะเพียงพอเลี้ยงตนเอง

ผมคิดว่าจะต้องไปปรับปรุงกฎหมาย รายได้ของท้องถิ่นเป็นหลักสำหรับประเด็นนี้ เพราะว่า การปกครองท้องถิ่นต้องมีรายได้จากภาษีอากรต้องมีวิธีคิดในการเก็บภาษีอากรอย่างเต็มกำลัง และต้องพัฒนาให้คนในท้องถิ่นต้องเรียนรู้ในการจัดเก็บภาษี จำเป็นต้องมีบุคลากรมืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาษีท้องถิ่นรายได้ท้องถิ่น เพื่อที่ทำให้การกระจายอำนาจของการปกครองท้องถิ่นมีความยั่งยืน มากกว่าที่คอยพึ่งงบประมาณของรัฐบาลกลาง ซึ่งจะทำให้การกระจายอำนาจนี้มีความยั่งยืน และก็มีการปรับเปลี่ยนไป

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มีนักวิชาการบางคนเห็นว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นกับชุมชนท้องถิ่นยังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้การปกครองท้องถิ่นไม่ประสบความสำเร็จ อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร?

เห็นด้วยว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นกับชุมชนท้องถิ่นในปัจจุบันก็ยังแยกส่วนกันอยู่ เข้าใจว่าชุมชนท้องถิ่น หมายถึง กลุ่มองค์กรชุมชนท้องถิ่นทั้งที่รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง และเหนียวแน่น มีผู้นำ มีกลุ่มต่างๆ เป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มทรัพยากร ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็มีความเข้มแข็งในตัวของตนเอง มีสวัสดิการชุมชน มีบอร์ดการบริหารจัดการตนเองได้ ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องมุ่งเป้าหมายทำให้ชุมชนปกครองท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะร่วมมือ และก็มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนกำหนดเป้าหมาย กำหนดวิธีคิด องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องดึงภาคส่วนที่เราเรียกว่า “ประชาสังคม” ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ที่จะทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีเป้าหมายงานที่ชัดเจน และก็มีกระบวนการมีส่วนร่วมกระบวนการเรียนรู้บูรณาการ

ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายของชุมชนในระดับท้องถิ่นมีบริบทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรชุมชนสถาบันในชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นจะต้องเป็นแกนหลักที่จะบูรณาการทำงานร่วมความคิดร่วมแผนพัฒนาร่วมดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามากำหนดเป้าหมายวิสัยทัศน์ องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ดีส่วนใหญ่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นเนื้อเดียวกันกับองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่จำนวนหนึ่งที่ยังแยกส่วนกับชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้ว ทำให้ชุมชนนั้นมีความขัดแย้ง แต่ก็มีองค์กรท้องถิ่นที่ดีนั้นมีการทำงานร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่น โดยมีองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นหลักที่คอยบูรณาการ

องค์กรการปกครองท้องถิ่นจะทำงานสำเร็จได้ก็จะต้องทำให้ชุมชนท้องถิ่นกับองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นเป็นเนื้อเดียวกันนั้นเอง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ไม่มีความคิดเห็น: