วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551

มุมมอง3นักวิชาการ การเมืองหลัง"แม้ว"ลี้ภัย

หมายเหตุ : นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตาก, รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.สิริพรรณ นกสวน อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนาในหัวข้อ "สถานการณ์การเมืองหลังทักษิณลี้ภัย...คลี่คลาย หรือ รบแตกหัก?" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย



รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมอะไรง่ายๆ เพราะคิดว่าถ้าลงทุนแล้วมีกำไรก็ยอมลงทุน มากเท่าไหร่ก็มากเท่านั้น ถ้าลงทุนแล้วไม่ได้อะไรเขาจะไม่ทำ ออกไปถ้าไม่ได้เงินไม่กลับ มีการรู้กันหรือไม่ถ้าเขาไป ในประเด็นนี้ถ้าเขาได้เงินติดต่อไป บอกว่าห้ามกลับ เขาอาจจะไม่กลับ ว่าคุกก็ติด เงินก็เสียไม่กลับแน่นอน รอให้ถึงเวลาค่อยกลับ ถ้าเขาได้เงิน ติดต่อไปบอกว่าห้ามกลับ เขาอาจจะไม่กลับ แต่ถ้าในทางศาลก็จะเป็นเช่นนี้ คุกก็ติดเงินก็เสีย ไม่กลับมาดีกว่า รอให้ถึงเวลาค่อยกลับ

ถ้ารัฐบาลเร่งรัดเลือกตั้งให้ได้ภายในต้นปี 2552 เหตุการณ์รุนแรงจะเกิด แต่ถ้าเลือกตั้งประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2552 เหตุการณ์รุนแรงก็จะไม่เกิด ผมคิดว่าหากเสียงประชาชนเปลี่ยนและมีปริมาณมากพอ คุณทักษิณจะคิดว่าถ้าจะรบแตกหักต้นทุนสูงเกินไป แสดงว่าลงทุนสูงแต่ผลได้กลับมาน้อยก็จะไม่ทำ เป็นการคิดแบบนายทุน หากถามว่าโอกาสรบแตกหักมีหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ว่ามีการเลือกตั้งเร็วหรือไม่ ถ้าเลือกตั้งช้าทุนสามานย์เกิดใหม่ก็ยังร่วมมืออยู่กับเขาอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่แตกหัก ก็เลือกตั้งชนะอีก

อย่างไรก็ตาม ไม่เกิน 1 ปี หรือไม่เร็วกว่า 6 เดือน ภายในช่วงนี้ เหล็กยังร้อนอยู่ ข่าวสารข้อมูลเผยแพร่จากพันธมิตรยังอุ่นๆ มากพอ ถ้าเลือกตั้งช่วง 6 เดือนสถานการณ์เปลี่ยนแน่ เกมเปลี่ยน พ.ต.ท.ทักษิณไม่ชนะ พรรคก็ถูกยุบลง การเงินแขนขาก็จะอ่อนเปลี้ย การเมืองแตกหัก แต่ถ้าเลือกตั้งภายใน 3 เดือนเขาก็จะกลับมาอีก เพราะแขนขาเก่ายังมี และแก๊งออฟโฟร์ก็มีพลังอยู่ การลงลึกของข่าวสารข้อมูลยังกระจายไม่พอ ต้องอาศัยเวลาอีกช่วง เมื่ออ่านเกมเช่นนี้ทักษิณไม่ยอม ต้องรีบเร่งเลือกตั้ง แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนกำลังอ่านเกมกันอยู่ และกำลังจะชิงกันอยู่ว่าใครจะเร็วกว่ากัน ถ้าเป็นเช่นนี้การเมืองแตกหักภาย 6 เดือนทันที ถ้าเสียงประชาชนเปลี่ยนมีปริมาณมากพอเกิดการเปลี่ยนแปลง

แม้ผมจะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะยังสู้อยู่ แต่จะชนะหรือไม่นั้น เห็นว่าไม่ง่ายนัก เพราะหากถูกคดียุบพรรค พรรคพลังประชาชนจะเป็นเหมือนมดแตกรัง และอาจจะกู่ไม่กลับ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้สมาชิกพรรค และ พ.ต.ท.ทักษิณกำลังติดตามและคอยประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่ายังไงแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังสู้ เพราะยังมีเงินอยู่ในต่างประเทศเป็นแสนล้านบาท ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรนอกจากนำมาใช้ต่อสู้แน่นอน เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ เขาไม่มีทางอื่น



นายพนัส ทัศนียานนท์

กฎหมายอังกฤษในขณะนี้ค่อนข้างจะเปิดกว้างให้ลี้ภัยในอังกฤษได้สะดวก และมีการพัฒนาระเบียบการออกกฎหมายการยื่นขอลี้ภัยในอังกฤษค่อนข้างง่าย แม้กระทั่งลงจากเครื่องบินอาจจะทำเรื่องได้เลยหรือแม้แต่ออนไลน์ก็สามารถทำได้ แต่สำหรับกรณี พ.ต.ท.ทักษิณเคยอาศัยอยู่อังกฤษมา 1 ปีกว่าในช่วงรัฐประหาร สัณนิษฐานว่า น่าจะมีการปรึกษาทนายเพื่อคอยช่วยเหลือเต็มที่ ขณะนี้ไม่แน่ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณขอลี้ภัยทางการเมืองกับอังกฤษแล้วหรือไม่ แต่คาดว่า พ.ต.ท.ทักษิณน่าจะใช้สาเหตุที่มีปัญหาทางการเมืองในการขอลี้ภัย หลังจากได้ออกแถลงการณ์ที่ได้อ้างเหตุต่างๆ แสดงให้เห็นว่าได้มีการปรึกษากับทางทนายไว้แล้วเพื่อให้เข้าตามที่กฎหมายอังกฤษกำหนดไว้

ในสัปดาห์หน้า จะมีการกดดันโดยการดาวกระจายของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ทางการอังกฤษจะอ่อนไหวเรื่องนี้มาก อาจทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องเปลี่ยนประเทศไปอยู่ในบางประเทศที่สามารถหลบการให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ง่ายกว่าอังกฤษ อาจจะไปแอฟริกาหรือประเทศใดก็แล้วแต่

หาก พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาต่อสู้คดีนี้ อาจติดคุกและถูกริบทรัพย์ทั้งหมดด้วย ทางเลือกที่มีคือต้องหนีเท่านั้นไปจนสุดขอบฟ้าและทำอย่างไรให้พรรคพวกในเมืองไทยสู้คดีแทนในคดียึดทรัพย์ให้ได้คืนมาบ้างก็ยังดี แต่ต้องถามว่าเงินที่ซ่อนไว้มีอีกหรือไม่เท่านั้น



ผศ.สิริพรรณ นกสวน

ความพยายามลดบรรยากาศตึงเครียดด้วยการให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกนอกประเทศอาจมองว่ามีการเจรจาใต้โต๊ะใดๆ หรือไม่ หากมองตามนี้อาจนำมาสู่การตั้งคำถามว่า หากการขอตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาไม่เป็นผลได้ เพราะอำนาจรัฐไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเป็นอีกมิติหนึ่ง ความพยายามที่เห็นต่อจากนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการพิจารณาตามกระบวนการแบบครึ่งๆ กลางๆ ที่จะนำตัวกลับมา

สำหรับมุมมองรัฐศาสตร์ต่อประเด็นการออกนอกประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น คนที่มีความสุขที่สุดอาจเป็น นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ซึ่งร้องเพลงได้อารมณ์ในช่วงนี้ และคนกลุ่มใหญ่ในรัฐบาล เพราะอำนาจในการตัดสินใจไม่ต้องมีนายเหนือหัวออกคำสั่งแล้ว ส่วนความคลี่คลายนี้จะนำมาสู่การรบแตกหักในระยะยาวหรือไม่ มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความแตกหักที่เกิดอาจเป็นเรื่องการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอีกตัวแปรหลักคือเรื่องคดียุบพรรคการเมืองและจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" ของนายกฯ แต่คดีหลักน่าจะเป็นเรื่องยุบพรรคมากกว่า

ช่วงระยะเวลาต่อจากนี้จะเห็นนักการเมืองมีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะที่มาของ ส.ส. และ ส.ว.ในการเลือกตั้ง น่าจะมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนจะมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง แต่ก่อนยุบสภานั้น รัฐบาลจะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วค่อยยุบสภา อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายมากในมาตรา 291 ถ้ารัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญก็ใช้เวลาเพียง 2 เดือน โดยเสร็จก่อนมีมติยุบพรรค