
พฤษภาทมิฬ (อังกฤษ: Black May) เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่มีพล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่รัฐประหารรัฐบาลพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ที่นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
เหตุการณ์ครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 หรือ 1 ปีก่อนหน้าการประท้วง ซึ่ง รสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลหลักว่า มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล และรัฐบาลพยายามทำลายสถาบันทหาร โดยหลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค. พ.ศ. 2535 โดยพรรคที่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม (79 คน) ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเตรียมเสนอ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนมากที่สุด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ ได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ นั้นเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด
ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเมื่อได้รับพระราชทานแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ก็เกิดความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้, ในระหว่างที่มีการทักท้วงโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย, ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ถูกประกาศใช้
พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและสมาชิกในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ภายหลังได้มารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งไม่ตรงกับที่เคยพูดไว้. เหตุการณ์นี้ จึงได้เป็นที่มาของประโยคที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" และเป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำการเคลื่อนไหวอีกด้วย
การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา ดังกล่าว นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงการอดอาหารของ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง (หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ ตามมาด้วยการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านเช่นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่และพรรคพลังธรรม โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
หลังการชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อเข้าเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเริ่มระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพมหานคร และเริ่มมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในบริเวณราชดำเนิน ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ
กระทั่งในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนประชาชนจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนินเพื่อไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจและทหารได้สกัดการเคลื่อนขบวนของประชาชน เริ่มเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุด และมีการบุกเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จากนั้นเมื่อเข้าสู่วันที่ 18 พฤษภาคม รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉนในกรุงเทพมหานครและให้ทหารทำหน้าที่รักษาความสงบ แต่ได้นำไปสู่การปะทะกันกับประชาชน มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมในบริเวณถนนราชดำเนินจากนั้นจึงเข้าสลายการชุมนุมในเข้ามืดวันเดียวกันนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
ก่อนเที่ยงวันที่ 18 พฤษภาคม ทหารได้ควบคุมตัว พล.ต. จำลอง ศรีเมือง จากบริเวณที่ชุมนุมกลางถนนราชดำเนิน และรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับและรายงานข่าวทางโทรทัศน์ของรัฐบาลทุกช่องยืนยันว่าไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนยังไม่สิ้นสุด เริ่มมีประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมมีการตั้งแนวป้องกันการปราบปรามตามถนนสายต่าง ๆ ขณะที่รัฐบาลได้ส่วนทางรัฐบาลออกประกาศจับแกนนำอีกเจ็ดคน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล น.พ. เหวง โตจิราการ น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.ส. จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์ และยังปรากฏข่าวรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในหลายจุดและเริ่มเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในคืนวันนั้นในบริเวณถนนราชดำเนิน
19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินได้ และควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากขึ้นรถบรรทุกทหารไปควบคุมไว้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ย้ำว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบและไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมอีก แต่ยังปรากฏการรวมตัวของประชาชนใหม่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนวันเดียวกัน และมีการเริ่มก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มจักรยานยนตร์หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เช่นการทุบทำลายป้องจราจรและสัญญาณไฟจราจร
วันเกียวกันนั้นเริ่มมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน ขณะที่สื่อของรัฐบาลยังคงรายงานว่าไม่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน แต่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานภาพของการสลายการชุมนุมและการทำร้ายผู้ชุมนุม หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยบางฉบับเริ่มตีพิมพ์ภาพการสลายการชุมนุม ขระที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีการตรวจและควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อมวลชนเอกชนในประเทศ
หลักจากเหตุโศกนาฏกรรมได้ผ่านไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้เชิญพลเอก สุจินดา และ พลตรี จำลอง ให้เข้าเฝ้า และได้มีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่พลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง วันพุธที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้ :
"คงเป็นที่แปลกใจ ทำไมถึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้ เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่า เหตุการณ์มีความยุ่งเหยิงอย่างไร และทำให้ประเทศชาติล่มจมได้. แต่ที่จะแปลกใจก็อาจมีว่า ทำไมเชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เพราะว่า อาจมีผู้ที่แสดงเป็นตัวละครมากกว่านี้. แต่ว่าที่เชิญมาเพราะว่า ตั้งแต่แรกที่มีเหตุการณ์ สองท่านเป็นผู้ที่เผชิญหน้ากัน, แล้วก็ในที่สุด เป็นการต่อสู้ หรือการเผชิญหน้ากว้างขวางขึ้น ถึงได้เชิญ ๒ ท่านมา.
การเผชิญหน้าตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้ง ๒ ฝ่ายได้ชัดเจนพอสมควร, แต่ต่อมาภายหลัง ๑๐ กว่าวัน ก็เห็นแล้วว่า การเผชิญหน้านั้น เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก จนกระทั่งออกมาอย่างไรก็ตาม เสียทั้งนั้น, เพราะว่า ทำให้มีความเสียหาย ในทางชีวิต เลือดเนื้อของคนจำนวนมากพอสมควร แล้วก็ความเสียหายทางวัตถุ ซึ่งเป็นของส่วนราชการ และส่วนบุคคลเป็นมูลค่ามากมาย นอกจากนี้ก็มีความเสียหายในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ อย่างที่จะนับพรรณนาไม่ได้.
ฉะนั้นการที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไป จะเป็นเหตุผลหรือต้นตออย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไป. ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป. แล้วก็จะทำให้ประเทศไทย ที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก ซึ่งก็เริ่มปรากฏผลแล้ว. ฉะนั้นจะต้องแก้ไข โดยดูว่ามีข้อขัดแย้งอย่างไร แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขตามลำดับ เพราะว่าปัญหา ที่มีอยู่ทุกวันนี้ สองสามวันนี้มันเปลี่ยนไป. ปัญหาไม่ใช่เรื่องเรียกว่า 'ของการเมือง' หรือ เรียกว่า 'ของการดำรงตำแหน่ง' เป็นปัญหาของการสึกหรอของประเทศชาติ ฉะนั้นจะต้องช่วยกันแก้ไข.
มีผู้ที่ส่งข้อแนะนำ ในการแก้ไขสถานการณ์มาหลายฉบับ หลายคนจำนวนเป็นร้อย แล้วก็ทั้งในเมืองไทย ทั้งต่างประเทศที่ส่งมา ที่เขาส่งมาการแก้ไข หรือข้อแนะนำว่า เราควรจะทำอะไรก็มี ก็มีต่างๆ นานา ตั้งแต่ตอนแรกบอกว่าแก้ไขวิธียุบสภา ซึ่งก็ได้หารือกับทางทุกฝ่ายที่เป็นสภา. หมายความว่า พรรคการเมืองทั้งหมด ๑๑ พรรคนี้ คำตอบมีว่าไม่ควรยุบสภา มี ๑ รายที่บอกว่าควรยุบสภา ฉะนั้นการที่จะแก้ไข แบบที่เขาเสนอมานั้น ก็เป็นอันว่าตกไป. นอกจากนั้นก็มีเป็นฎีกา และแนะนำวิธีต่างๆ กัน ซึ่งได้พยายามเสนอไปตามปกติ คือเวลามีฎีกาขึ้นมา ก็ส่งไปให้ทาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขตามแบบนั้น.
ตกลงมีแบบยุบสภา และมีอีกแบบหนึ่ง ก็เป็นแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ตามประสงค์ที่ต้องการ หมายความว่าประสงค์เดิม ที่เกิดเผชิญหน้ากัน.
ความจริงวิธีนี้ถ้าจำได้ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ก็ได้พูดต่อสมาคม ที่มาพบจำนวนหลายพันคน แล้วก็ดูเหมือนว่าพอฟังกัน ฟังกันโดยดี เพราะเหตุผลที่มีอยู่ในนั้น ดูจะแก้ปัญหาได้พอควร. ตอนนี้ก็พอย้ำว่าทำไมพูดอย่างนั้น ว่า'ถ้าจะแก้ก่อนออกก็ได้ หรือออกก่อนแก้ก็ได้'(พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔) อันนั้นทุกคนก็ทราบดีว่าเรื่องอะไร ก็เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ. ซึ่งครั้งนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ทำมาตลอด มากกว่าฉบับเดิมที่ตั้งเอาไว้ได้แก้ไข. แล้วก็ก่อนที่ไปพูดที่ศาลาดุสิดาลัย ก็ได้พบพลเอกสุจินดา ก็ขออนุญาตเล่าให้ฟัง. แล้วพลเอกสุจินดาก็เห็นด้วยว่า 'ควรจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และแก้ไขต่อไปได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้'. และตอนหลังนี้ พลเอกสุจินดาก็ได้ยืนยันว่า 'แก้ไขได้ก็ค่อยๆ แก้เข้าระเบียบให้เป็นที่เรียกว่า ประชาธิปไตย. อันนี้ก็ได้พูดมาตั้งหลายเดือนแล้ว ในวิธีการที่จะแก้ไข. แล้วข้อสำคัญ ที่ทำไมอยากให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นยังไม่ครบถ้วน. ก็เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญนั้น มีคุณภาพพอใช้ได้ ดีกว่าธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ที่ใช้มาเกือบปี. เพราะเหตุว่ามีบางข้อบางมาตราซึ่งเป็นอันตราย, แล้วก็ไม่ครบถ้วนในการที่จะปกครองประเทศ. ฉะนั้นก็นึกว่า ถ้าหากว่าสามารถที่จะปฏิบัติตามที่ได้พูดในวันที่ ๔ ธันวาคมนั้นก็นึกว่า เป็นการกลับไปดูปัญหาเดิม ไม่ใช่ปัญหาของวันนี้.
ปัญหาของวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ. ทุกวันนี้คือความปลอดภัย ขวัญดีของประชาชน. ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่า ประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบากตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศ. เพราะเหตุว่าในขณะนี้ ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ. ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งให้กับ คนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่า 'ประเทศไทยนี้ยังแก้ไขสถานการณ์ได้'. แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิด ที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย, ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง ๓ วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้. ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน คือ พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองช่วยกันคิด คือ หันหน้าเข้าหากัน, ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน. เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่าบ้าเลือด, เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร, แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร. เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้. แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร. ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง.
ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน แต่หันเข้าหากัน, และสองท่าน เท่ากับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย. ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น. แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร? สำหรับให้ประเทศไทย ได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้ด้วยดี. อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่าน ก็เข้าใจว่า :-
'จะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดี.'
แก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน. ก็มีข้อสังเกตดังนี้ ท่านประธานองคมนตรี ท่านองคมนตรีเปรม ก็เป็นผู้ใหญ่ ผู้พร้อมที่จะให้คำปรึกษาหารือกัน ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความรักชาติ. เพื่อสร้างสรรค์ประเทศ ให้เข้าสู่ความปลอดภัยในเร็ววัน ขอฝากให้ช่วยกันสร้างชาติ."
หลังจากนั้นพลเอกสุจินดาก็ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น