
ความหมาย
ในหนังสือ "The Analysis of International Relations" ศาสตราจารย์คาร์ล ดับเบิ้ลยู. ดอยช์ (Karl W. Deutsch) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ให้คำจำกัดความไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประกอบด้วย พฤติกรรมและการกระทำทั้งหลายของรัฐที่มีต่อกัน โดยปราศจากการควบคุมอย่างเพียงพอ"
คำว่า "ปราศจากการควบคุมอย่างเพียงพอ" หมายความว่า โลกเราทุกวันนี้ยังไม่มีเครื่องมือหรือองค์กรใดที่จะสามารถควบคุมพฤติกรรมของรัฐได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมของรัฐในเชิงลบ
แม้แต่องค์การสหประชาชาติอันเป็นองค์การสากลแห่งเดียวในโลกที่มีกฎเกณฑ์และข้อบังคับควบคุมพฤติกรรม
ของรัฐ ซึ่งเรียกว่า กฎบัตรสหประชาชาติ (U.N. Charter) ก็ยังประสบความล้มเหลวอยู่เนือง ๆ ในเรื่องที่ประเทศมหาอำนาจไม่ให้ความร่วมมือ
ขอบเขต
การศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมถึง 6 วิชาหลัก คือ
1. วิชาการเมืองระหว่างประเทศ (International Politics)
2. วิชากฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)
3. วิชาประวัติศาสตร์ทางการทูต (Diplomatic History)
4. วิชาองค์การระหว่างประเทศ (International Organization)
5. วิชาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economics)
6. วิชาว่าด้วยการศึกษาเฉพาะส่วนภูมิภาค (Area or Regional Studies)
เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีเนื้อหาที่ค่อนข้างซับซ้อนและยากที่จะเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ดังนั้นนอกจากจะอาศัยวิชาหลักทั้งหกดังกล่าวแล้ว ยังจำเป็นจะต้องอาศัยการศึกษาจากวิชาอื่น ๆ ทางด้านสังคมศาสตร์มาช่วยทำความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อรัฐในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย จึงจะสามารถเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง
จุดมุ่งหมายในการศึกษา
ศาสตราจารย์ยอร์ช เอฟ. เคนแนน (George F. Kenan) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ 2 ประการ คือ
1. เพื่อให้ได้รับความรู้ทั่วไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
2. เพื่อเป็นการตระเตรียมบุคคลซึ่งจะไปประกอบอาชีพทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ซึ่งอาจจะเป็นงานในภาครัฐบาลหรือเอกชนก็ได้ และขณะเดียวกันก็เพื่อที่จะผลิตผู้เชี่ยวชาญ (Specialists) ทางด้านนี้ออกมาด้วย
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นจะต้องศึกษาและมีความรู้ในวิชาแขนงอื่น ๆ ทางด้านสังคมศาสตร์ เช่น สังคมวิทยา จิตวิทยา มานุษยวิทยา เป็นต้น
รวมตลอดถึงในยุคโลกาภิวัตน์นี้ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ด้วย การเข้าใจในปัญหาระหว่างประเทศจึงจะเป็นไปโดยลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ความสำคัญของการศึกษา
เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพและการอยู่รอดของโลก ดังนั้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงได้รับความสนใจศึกษาอย่างกว้างขวางทั่วทุกมุมโลก ในแง่ของการสอนให้รู้จักและเข้าใจถึงศิลปะและวิธีที่รัฐนำมาใช้ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนเหตุการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งนำมาสู่การทำลายล้างและสงครามระหว่างรัฐ
กล่าวได้ว่า สันติภาพและความมั่นคงของโลกขึ้นอยู่กับศิลปะที่รัฐแต่ละรัฐนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐ รวมทั้งความสามารถของรัฐในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งและสงครามระหว่างรัฐ
ดังนั้นถ้าหากอารยธรรมและชีวิตของมวลมนุษย์ในโลกนี้จะต้องสูญสลายไป ก็คงไม่ใช่เพราะเกิดจากความอดอยากและความหิวโหย หรือโรคระบาดอันร้ายแรงแต่อย่างใด แต่น่าจะเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตกต่ำ ทรุดโทรม จนนำไปสู่สงครามล้างโลกในที่สุดนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น