วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551

มุมมอง3นักวิชาการ การเมืองหลัง"แม้ว"ลี้ภัย

หมายเหตุ : นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตาก, รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.สิริพรรณ นกสวน อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนาในหัวข้อ "สถานการณ์การเมืองหลังทักษิณลี้ภัย...คลี่คลาย หรือ รบแตกหัก?" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย



รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมอะไรง่ายๆ เพราะคิดว่าถ้าลงทุนแล้วมีกำไรก็ยอมลงทุน มากเท่าไหร่ก็มากเท่านั้น ถ้าลงทุนแล้วไม่ได้อะไรเขาจะไม่ทำ ออกไปถ้าไม่ได้เงินไม่กลับ มีการรู้กันหรือไม่ถ้าเขาไป ในประเด็นนี้ถ้าเขาได้เงินติดต่อไป บอกว่าห้ามกลับ เขาอาจจะไม่กลับ ว่าคุกก็ติด เงินก็เสียไม่กลับแน่นอน รอให้ถึงเวลาค่อยกลับ ถ้าเขาได้เงิน ติดต่อไปบอกว่าห้ามกลับ เขาอาจจะไม่กลับ แต่ถ้าในทางศาลก็จะเป็นเช่นนี้ คุกก็ติดเงินก็เสีย ไม่กลับมาดีกว่า รอให้ถึงเวลาค่อยกลับ

ถ้ารัฐบาลเร่งรัดเลือกตั้งให้ได้ภายในต้นปี 2552 เหตุการณ์รุนแรงจะเกิด แต่ถ้าเลือกตั้งประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2552 เหตุการณ์รุนแรงก็จะไม่เกิด ผมคิดว่าหากเสียงประชาชนเปลี่ยนและมีปริมาณมากพอ คุณทักษิณจะคิดว่าถ้าจะรบแตกหักต้นทุนสูงเกินไป แสดงว่าลงทุนสูงแต่ผลได้กลับมาน้อยก็จะไม่ทำ เป็นการคิดแบบนายทุน หากถามว่าโอกาสรบแตกหักมีหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ว่ามีการเลือกตั้งเร็วหรือไม่ ถ้าเลือกตั้งช้าทุนสามานย์เกิดใหม่ก็ยังร่วมมืออยู่กับเขาอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่แตกหัก ก็เลือกตั้งชนะอีก

อย่างไรก็ตาม ไม่เกิน 1 ปี หรือไม่เร็วกว่า 6 เดือน ภายในช่วงนี้ เหล็กยังร้อนอยู่ ข่าวสารข้อมูลเผยแพร่จากพันธมิตรยังอุ่นๆ มากพอ ถ้าเลือกตั้งช่วง 6 เดือนสถานการณ์เปลี่ยนแน่ เกมเปลี่ยน พ.ต.ท.ทักษิณไม่ชนะ พรรคก็ถูกยุบลง การเงินแขนขาก็จะอ่อนเปลี้ย การเมืองแตกหัก แต่ถ้าเลือกตั้งภายใน 3 เดือนเขาก็จะกลับมาอีก เพราะแขนขาเก่ายังมี และแก๊งออฟโฟร์ก็มีพลังอยู่ การลงลึกของข่าวสารข้อมูลยังกระจายไม่พอ ต้องอาศัยเวลาอีกช่วง เมื่ออ่านเกมเช่นนี้ทักษิณไม่ยอม ต้องรีบเร่งเลือกตั้ง แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนกำลังอ่านเกมกันอยู่ และกำลังจะชิงกันอยู่ว่าใครจะเร็วกว่ากัน ถ้าเป็นเช่นนี้การเมืองแตกหักภาย 6 เดือนทันที ถ้าเสียงประชาชนเปลี่ยนมีปริมาณมากพอเกิดการเปลี่ยนแปลง

แม้ผมจะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะยังสู้อยู่ แต่จะชนะหรือไม่นั้น เห็นว่าไม่ง่ายนัก เพราะหากถูกคดียุบพรรค พรรคพลังประชาชนจะเป็นเหมือนมดแตกรัง และอาจจะกู่ไม่กลับ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้สมาชิกพรรค และ พ.ต.ท.ทักษิณกำลังติดตามและคอยประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่ายังไงแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังสู้ เพราะยังมีเงินอยู่ในต่างประเทศเป็นแสนล้านบาท ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรนอกจากนำมาใช้ต่อสู้แน่นอน เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ เขาไม่มีทางอื่น



นายพนัส ทัศนียานนท์

กฎหมายอังกฤษในขณะนี้ค่อนข้างจะเปิดกว้างให้ลี้ภัยในอังกฤษได้สะดวก และมีการพัฒนาระเบียบการออกกฎหมายการยื่นขอลี้ภัยในอังกฤษค่อนข้างง่าย แม้กระทั่งลงจากเครื่องบินอาจจะทำเรื่องได้เลยหรือแม้แต่ออนไลน์ก็สามารถทำได้ แต่สำหรับกรณี พ.ต.ท.ทักษิณเคยอาศัยอยู่อังกฤษมา 1 ปีกว่าในช่วงรัฐประหาร สัณนิษฐานว่า น่าจะมีการปรึกษาทนายเพื่อคอยช่วยเหลือเต็มที่ ขณะนี้ไม่แน่ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณขอลี้ภัยทางการเมืองกับอังกฤษแล้วหรือไม่ แต่คาดว่า พ.ต.ท.ทักษิณน่าจะใช้สาเหตุที่มีปัญหาทางการเมืองในการขอลี้ภัย หลังจากได้ออกแถลงการณ์ที่ได้อ้างเหตุต่างๆ แสดงให้เห็นว่าได้มีการปรึกษากับทางทนายไว้แล้วเพื่อให้เข้าตามที่กฎหมายอังกฤษกำหนดไว้

ในสัปดาห์หน้า จะมีการกดดันโดยการดาวกระจายของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ทางการอังกฤษจะอ่อนไหวเรื่องนี้มาก อาจทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องเปลี่ยนประเทศไปอยู่ในบางประเทศที่สามารถหลบการให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ง่ายกว่าอังกฤษ อาจจะไปแอฟริกาหรือประเทศใดก็แล้วแต่

หาก พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาต่อสู้คดีนี้ อาจติดคุกและถูกริบทรัพย์ทั้งหมดด้วย ทางเลือกที่มีคือต้องหนีเท่านั้นไปจนสุดขอบฟ้าและทำอย่างไรให้พรรคพวกในเมืองไทยสู้คดีแทนในคดียึดทรัพย์ให้ได้คืนมาบ้างก็ยังดี แต่ต้องถามว่าเงินที่ซ่อนไว้มีอีกหรือไม่เท่านั้น



ผศ.สิริพรรณ นกสวน

ความพยายามลดบรรยากาศตึงเครียดด้วยการให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกนอกประเทศอาจมองว่ามีการเจรจาใต้โต๊ะใดๆ หรือไม่ หากมองตามนี้อาจนำมาสู่การตั้งคำถามว่า หากการขอตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาไม่เป็นผลได้ เพราะอำนาจรัฐไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเป็นอีกมิติหนึ่ง ความพยายามที่เห็นต่อจากนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการพิจารณาตามกระบวนการแบบครึ่งๆ กลางๆ ที่จะนำตัวกลับมา

สำหรับมุมมองรัฐศาสตร์ต่อประเด็นการออกนอกประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น คนที่มีความสุขที่สุดอาจเป็น นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ซึ่งร้องเพลงได้อารมณ์ในช่วงนี้ และคนกลุ่มใหญ่ในรัฐบาล เพราะอำนาจในการตัดสินใจไม่ต้องมีนายเหนือหัวออกคำสั่งแล้ว ส่วนความคลี่คลายนี้จะนำมาสู่การรบแตกหักในระยะยาวหรือไม่ มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความแตกหักที่เกิดอาจเป็นเรื่องการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอีกตัวแปรหลักคือเรื่องคดียุบพรรคการเมืองและจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" ของนายกฯ แต่คดีหลักน่าจะเป็นเรื่องยุบพรรคมากกว่า

ช่วงระยะเวลาต่อจากนี้จะเห็นนักการเมืองมีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะที่มาของ ส.ส. และ ส.ว.ในการเลือกตั้ง น่าจะมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนจะมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง แต่ก่อนยุบสภานั้น รัฐบาลจะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วค่อยยุบสภา อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายมากในมาตรา 291 ถ้ารัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญก็ใช้เวลาเพียง 2 เดือน โดยเสร็จก่อนมีมติยุบพรรค

วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พฤษภาทมิฬ


พฤษภาทมิฬ (อังกฤษ: Black May) เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่มีพล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่รัฐประหารรัฐบาลพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ที่นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เหตุการณ์ครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 หรือ 1 ปีก่อนหน้าการประท้วง ซึ่ง รสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลหลักว่า มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล และรัฐบาลพยายามทำลายสถาบันทหาร โดยหลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค. พ.ศ. 2535 โดยพรรคที่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม (79 คน) ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเตรียมเสนอ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนมากที่สุด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ ได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ นั้นเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด


ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเมื่อได้รับพระราชทานแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ก็เกิดความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้, ในระหว่างที่มีการทักท้วงโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย, ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ถูกประกาศใช้

พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและสมาชิกในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ภายหลังได้มารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งไม่ตรงกับที่เคยพูดไว้. เหตุการณ์นี้ จึงได้เป็นที่มาของประโยคที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" และเป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำการเคลื่อนไหวอีกด้วย

การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา ดังกล่าว นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงการอดอาหารของ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง (หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ ตามมาด้วยการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านเช่นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่และพรรคพลังธรรม โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

หลังการชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อเข้าเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเริ่มระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพมหานคร และเริ่มมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในบริเวณราชดำเนิน ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ

กระทั่งในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนประชาชนจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนินเพื่อไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจและทหารได้สกัดการเคลื่อนขบวนของประชาชน เริ่มเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุด และมีการบุกเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จากนั้นเมื่อเข้าสู่วันที่ 18 พฤษภาคม รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉนในกรุงเทพมหานครและให้ทหารทำหน้าที่รักษาความสงบ แต่ได้นำไปสู่การปะทะกันกับประชาชน มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมในบริเวณถนนราชดำเนินจากนั้นจึงเข้าสลายการชุมนุมในเข้ามืดวันเดียวกันนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน

ก่อนเที่ยงวันที่ 18 พฤษภาคม ทหารได้ควบคุมตัว พล.ต. จำลอง ศรีเมือง จากบริเวณที่ชุมนุมกลางถนนราชดำเนิน และรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับและรายงานข่าวทางโทรทัศน์ของรัฐบาลทุกช่องยืนยันว่าไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนยังไม่สิ้นสุด เริ่มมีประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมมีการตั้งแนวป้องกันการปราบปรามตามถนนสายต่าง ๆ ขณะที่รัฐบาลได้ส่วนทางรัฐบาลออกประกาศจับแกนนำอีกเจ็ดคน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล น.พ. เหวง โตจิราการ น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.ส. จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์ และยังปรากฏข่าวรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในหลายจุดและเริ่มเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในคืนวันนั้นในบริเวณถนนราชดำเนิน

19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินได้ และควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากขึ้นรถบรรทุกทหารไปควบคุมไว้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ย้ำว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบและไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมอีก แต่ยังปรากฏการรวมตัวของประชาชนใหม่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนวันเดียวกัน และมีการเริ่มก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มจักรยานยนตร์หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เช่นการทุบทำลายป้องจราจรและสัญญาณไฟจราจร

วันเกียวกันนั้นเริ่มมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน ขณะที่สื่อของรัฐบาลยังคงรายงานว่าไม่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน แต่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานภาพของการสลายการชุมนุมและการทำร้ายผู้ชุมนุม หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยบางฉบับเริ่มตีพิมพ์ภาพการสลายการชุมนุม ขระที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีการตรวจและควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อมวลชนเอกชนในประเทศ

หลักจากเหตุโศกนาฏกรรมได้ผ่านไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้เชิญพลเอก สุจินดา และ พลตรี จำลอง ให้เข้าเฝ้า และได้มีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่พลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง วันพุธที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้ :
"คงเป็นที่แปลกใจ ทำไมถึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้ เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่า เหตุการณ์มีความยุ่งเหยิงอย่างไร และทำให้ประเทศชาติล่มจมได้. แต่ที่จะแปลกใจก็อาจมีว่า ทำไมเชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เพราะว่า อาจมีผู้ที่แสดงเป็นตัวละครมากกว่านี้. แต่ว่าที่เชิญมาเพราะว่า ตั้งแต่แรกที่มีเหตุการณ์ สองท่านเป็นผู้ที่เผชิญหน้ากัน, แล้วก็ในที่สุด เป็นการต่อสู้ หรือการเผชิญหน้ากว้างขวางขึ้น ถึงได้เชิญ ๒ ท่านมา.

การเผชิญหน้าตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้ง ๒ ฝ่ายได้ชัดเจนพอสมควร, แต่ต่อมาภายหลัง ๑๐ กว่าวัน ก็เห็นแล้วว่า การเผชิญหน้านั้น เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก จนกระทั่งออกมาอย่างไรก็ตาม เสียทั้งนั้น, เพราะว่า ทำให้มีความเสียหาย ในทางชีวิต เลือดเนื้อของคนจำนวนมากพอสมควร แล้วก็ความเสียหายทางวัตถุ ซึ่งเป็นของส่วนราชการ และส่วนบุคคลเป็นมูลค่ามากมาย นอกจากนี้ก็มีความเสียหายในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ อย่างที่จะนับพรรณนาไม่ได้.

ฉะนั้นการที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไป จะเป็นเหตุผลหรือต้นตออย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไป. ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป. แล้วก็จะทำให้ประเทศไทย ที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก ซึ่งก็เริ่มปรากฏผลแล้ว. ฉะนั้นจะต้องแก้ไข โดยดูว่ามีข้อขัดแย้งอย่างไร แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขตามลำดับ เพราะว่าปัญหา ที่มีอยู่ทุกวันนี้ สองสามวันนี้มันเปลี่ยนไป. ปัญหาไม่ใช่เรื่องเรียกว่า 'ของการเมือง' หรือ เรียกว่า 'ของการดำรงตำแหน่ง' เป็นปัญหาของการสึกหรอของประเทศชาติ ฉะนั้นจะต้องช่วยกันแก้ไข.

มีผู้ที่ส่งข้อแนะนำ ในการแก้ไขสถานการณ์มาหลายฉบับ หลายคนจำนวนเป็นร้อย แล้วก็ทั้งในเมืองไทย ทั้งต่างประเทศที่ส่งมา ที่เขาส่งมาการแก้ไข หรือข้อแนะนำว่า เราควรจะทำอะไรก็มี ก็มีต่างๆ นานา ตั้งแต่ตอนแรกบอกว่าแก้ไขวิธียุบสภา ซึ่งก็ได้หารือกับทางทุกฝ่ายที่เป็นสภา. หมายความว่า พรรคการเมืองทั้งหมด ๑๑ พรรคนี้ คำตอบมีว่าไม่ควรยุบสภา มี ๑ รายที่บอกว่าควรยุบสภา ฉะนั้นการที่จะแก้ไข แบบที่เขาเสนอมานั้น ก็เป็นอันว่าตกไป. นอกจากนั้นก็มีเป็นฎีกา และแนะนำวิธีต่างๆ กัน ซึ่งได้พยายามเสนอไปตามปกติ คือเวลามีฎีกาขึ้นมา ก็ส่งไปให้ทาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขตามแบบนั้น.

ตกลงมีแบบยุบสภา และมีอีกแบบหนึ่ง ก็เป็นแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ตามประสงค์ที่ต้องการ หมายความว่าประสงค์เดิม ที่เกิดเผชิญหน้ากัน.

ความจริงวิธีนี้ถ้าจำได้ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ก็ได้พูดต่อสมาคม ที่มาพบจำนวนหลายพันคน แล้วก็ดูเหมือนว่าพอฟังกัน ฟังกันโดยดี เพราะเหตุผลที่มีอยู่ในนั้น ดูจะแก้ปัญหาได้พอควร. ตอนนี้ก็พอย้ำว่าทำไมพูดอย่างนั้น ว่า'ถ้าจะแก้ก่อนออกก็ได้ หรือออกก่อนแก้ก็ได้'(พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔) อันนั้นทุกคนก็ทราบดีว่าเรื่องอะไร ก็เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ. ซึ่งครั้งนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ทำมาตลอด มากกว่าฉบับเดิมที่ตั้งเอาไว้ได้แก้ไข. แล้วก็ก่อนที่ไปพูดที่ศาลาดุสิดาลัย ก็ได้พบพลเอกสุจินดา ก็ขออนุญาตเล่าให้ฟัง​. แล้วพลเอกสุจินดาก็เห็นด้วยว่า 'ควรจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และแก้ไขต่อไปได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้'. และตอนหลังนี้ พลเอกสุจินดาก็ได้ยืนยันว่า 'แก้ไขได้ก็ค่อยๆ แก้เข้าระเบียบให้เป็นที่เรียกว่า ประชาธิปไตย. อันนี้ก็ได้พูดมาตั้งหลายเดือนแล้ว ในวิธีการที่จะแก้ไข. แล้วข้อสำคัญ ที่ทำไมอยากให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นยังไม่ครบถ้วน. ก็เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญนั้น มีคุณภาพพอใช้ได้ ดีกว่าธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ที่ใช้มาเกือบปี. เพราะเหตุว่ามีบางข้อบางมาตราซึ่งเป็นอันตราย, แล้วก็ไม่ครบถ้วนในการที่จะปกครองประเทศ. ฉะนั้นก็นึกว่า ถ้าหากว่าสามารถที่จะปฏิบัติตามที่ได้พูดในวันที่ ๔ ธันวาคมนั้นก็นึกว่า เป็นการกลับไปดูปัญหาเดิม ไม่ใช่ปัญหาของวันนี้.

ปัญหาของวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ. ทุกวันนี้คือความปลอดภัย ขวัญดีของประชาชน. ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่า ประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบากตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศ. เพราะเหตุว่าในขณะนี้ ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ. ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งให้กับ คนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่า 'ประเทศไทยนี้ยังแก้ไขสถานการณ์ได้'. แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิด ที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย, ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง ๓ วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้. ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน คือ พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองช่วยกันคิด คือ หันหน้าเข้าหากัน, ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน. เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่าบ้าเลือด, เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร, แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร. เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้. แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร. ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง.

ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน แต่หันเข้าหากัน, และสองท่าน เท่ากับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย. ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น. แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร? สำหรับให้ประเทศไทย ได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้ด้วยดี. อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่าน ก็เข้าใจว่า :-

'จะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดี.'

แก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน. ก็มีข้อสังเกตดังนี้ ท่านประธานองคมนตรี ท่านองคมนตรีเปรม ก็เป็นผู้ใหญ่ ผู้พร้อมที่จะให้คำปรึกษาหารือกัน ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความรักชาติ. เพื่อสร้างสรรค์ประเทศ ให้เข้าสู่ความปลอดภัยในเร็ววัน ขอฝากให้ช่วยกันสร้างชาติ."

หลังจากนั้นพลเอกสุจินดาก็ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี.

ระบอบทักษิณ


ระบอบทักษิณ (Thaksinocracy) เป็นคำนิยามที่นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ตั้งขึ้นเพื่อนิยามการปกครองของประเทศไทยภายใต้การปกครองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นระบอบที่ยึดกับความคิดและตัวตนของ พ.ต.ท.ทักษิณ จนไม่สนใจถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประเทศแปรสภาพไปอยู่ในรูปแบบของเผด็จการรัฐสภา บ้างก็เรียกแบบการปกครองนี้ว่า "ทักษิณาธิปไตย", "ทรราชเสียงข้างมาก", และ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์จากการเลือกตั้ง" ซึ่งทั้งหมดมาจากคำจำกัดความของระบอบทักษิณ[1] มุ่งโจมตีนโยบายในการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเพิ่มความชอบธรรมให้กับเหตุการณ์การขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นในช่วงพ.ศ. 2548-2549 อย่างไรก็ตาม คำนิยามนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ต้องการขับไล่พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น

คำจำกัดความ


เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้ให้นิยามคำว่าระบอบทักษิณ[2]เป็นคนแรก[ต้องการแหล่งอ้างอิง] โดยนิยามว่าเป็นระบอบอาญาสิทธิทุนนิยมจากการเลือกตั้ง (elected capitalist absolutism) โดยคำนิยามดังกล่าวสามารถแยกอธิบายองค์ประกอบออกเป็นสองส่วนคือ 1. มีลักษณะสมบูรณาญาสิทธิทุนในแง่การใช้อำนาจการเมือง 2. มีหัวหน้าฝ่ายบริหารทางการเมืองของชนชั้นนายทุน

หลังจากนั้นได้มีการพยายามให้นิยามกับคำว่าระบอบทักษิณอีกหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น ในความคิดของ อ. แก้วสรร อติโพธิ ได้ให้คำจำกัดความไว้ 4 ข้อ [3] ดังนี้ 1. ยักยอกรัฐธรรมนูญ ยึดครองประชาธิปไตย การแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวพันธ์หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงเพื่อหมู่คณะของตนเอง, 2. หลงใหลทุนนิยมใหม่จนลืมประเทศชาติ สร้างกระแสระบบทุนนิยมโดยลืมความเป็นรากเหง้าความเป็นไทย, 3 โกงกินชาติบ้านเมือง ปัญหาคอรัปชั่นจำนวนมากมายไม่ได้แก้ไข ทำผลธุรกิจแอบแฝง, 4. ทำให้บ้านเมืองสิ้นความสงบสุข เป็นตัวกลางในการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในประเทศชาติ

สาเหตุของการกล่าวหา

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะ ปตท. และ กฟผ.
สำหรับ ปตท. เช่น เรื่องการกระจายหุ้นที่ไม่เป็นธรรม ราคาขายหุ้นที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐที่ลดลงมาก การถือหุ้นผ่านกองทุนของต่างชาติ กำไรจากการขายก๊าซให้ กฟผ. ในราคาสูง
การแปรรูป กฟผ. นั้นมีคำสั่งจากศาลปกครองว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย [4]
การแก้สัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
การคอรัปชั่นในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะเรื่องเครื่องสแกนสัมภาระซีทีเอกซ์
การทำพิธีเป็นประธานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[5]
การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชซึ่งขณะนั้นทรงพระประชวร
การขายหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานโทรศัพท์มือถือ, ดาวเทียมไทยคม, สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และสายการบินแอร์เอเซีย ให้กับ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์) โดยซื้อขายในตลาดหุ้นทำให้ไม่ต้องเสียภาษี
การใช้อำนาจรัฐแทรกแซงและคุมคามสื่อ
การทุจริตข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ลักษณะทั่วไปของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


ความหมาย

ในหนังสือ "The Analysis of International Relations" ศาสตราจารย์คาร์ล ดับเบิ้ลยู. ดอยช์ (Karl W. Deutsch) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ให้คำจำกัดความไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประกอบด้วย พฤติกรรมและการกระทำทั้งหลายของรัฐที่มีต่อกัน โดยปราศจากการควบคุมอย่างเพียงพอ"

คำว่า "ปราศจากการควบคุมอย่างเพียงพอ" หมายความว่า โลกเราทุกวันนี้ยังไม่มีเครื่องมือหรือองค์กรใดที่จะสามารถควบคุมพฤติกรรมของรัฐได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมของรัฐในเชิงลบ

แม้แต่องค์การสหประชาชาติอันเป็นองค์การสากลแห่งเดียวในโลกที่มีกฎเกณฑ์และข้อบังคับควบคุมพฤติกรรม
ของรัฐ ซึ่งเรียกว่า กฎบัตรสหประชาชาติ (U.N. Charter) ก็ยังประสบความล้มเหลวอยู่เนือง ๆ ในเรื่องที่ประเทศมหาอำนาจไม่ให้ความร่วมมือ

ขอบเขต

การศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมถึง 6 วิชาหลัก คือ

1. วิชาการเมืองระหว่างประเทศ (International Politics)

2. วิชากฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)

3. วิชาประวัติศาสตร์ทางการทูต (Diplomatic History)

4. วิชาองค์การระหว่างประเทศ (International Organization)

5. วิชาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economics)

6. วิชาว่าด้วยการศึกษาเฉพาะส่วนภูมิภาค (Area or Regional Studies)

เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีเนื้อหาที่ค่อนข้างซับซ้อนและยากที่จะเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ดังนั้นนอกจากจะอาศัยวิชาหลักทั้งหกดังกล่าวแล้ว ยังจำเป็นจะต้องอาศัยการศึกษาจากวิชาอื่น ๆ ทางด้านสังคมศาสตร์มาช่วยทำความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อรัฐในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย จึงจะสามารถเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง

จุดมุ่งหมายในการศึกษา

ศาสตราจารย์ยอร์ช เอฟ. เคนแนน (George F. Kenan) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ 2 ประการ คือ

1. เพื่อให้ได้รับความรู้ทั่วไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

2. เพื่อเป็นการตระเตรียมบุคคลซึ่งจะไปประกอบอาชีพทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซึ่งอาจจะเป็นงานในภาครัฐบาลหรือเอกชนก็ได้ และขณะเดียวกันก็เพื่อที่จะผลิตผู้เชี่ยวชาญ (Specialists) ทางด้านนี้ออกมาด้วย

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นจะต้องศึกษาและมีความรู้ในวิชาแขนงอื่น ๆ ทางด้านสังคมศาสตร์ เช่น สังคมวิทยา จิตวิทยา มานุษยวิทยา เป็นต้น

รวมตลอดถึงในยุคโลกาภิวัตน์นี้ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ด้วย การเข้าใจในปัญหาระหว่างประเทศจึงจะเป็นไปโดยลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ความสำคัญของการศึกษา

เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพและการอยู่รอดของโลก ดังนั้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงได้รับความสนใจศึกษาอย่างกว้างขวางทั่วทุกมุมโลก ในแง่ของการสอนให้รู้จักและเข้าใจถึงศิลปะและวิธีที่รัฐนำมาใช้ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนเหตุการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งนำมาสู่การทำลายล้างและสงครามระหว่างรัฐ

กล่าวได้ว่า สันติภาพและความมั่นคงของโลกขึ้นอยู่กับศิลปะที่รัฐแต่ละรัฐนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐ รวมทั้งความสามารถของรัฐในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งและสงครามระหว่างรัฐ

ดังนั้นถ้าหากอารยธรรมและชีวิตของมวลมนุษย์ในโลกนี้จะต้องสูญสลายไป ก็คงไม่ใช่เพราะเกิดจากความอดอยากและความหิวโหย หรือโรคระบาดอันร้ายแรงแต่อย่างใด แต่น่าจะเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตกต่ำ ทรุดโทรม จนนำไปสู่สงครามล้างโลกในที่สุดนั่นเอง

กรอบแนวคิดการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ในบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 กำหนดกรอบความคิดการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างต้นแล้วจะเห็นว่าเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้บัญญัติไว้ในหมวด 9 รวม 9 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 283 ถึงมาตรา 290 สรุปได้ว่า รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและงานคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ โดยรัฐบาลเป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่จำเป็น ภายใต้กรอบของกฎหมายและเพื่อกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรา 284 จึงได้ตราพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ขึ้นรองรับเป็นหลักประกันเพื่อการปฏิบัติให้บังเกิดผลขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งมีสาระสำคัญในการกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะระหว่างรัฐบาลกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง การจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคำนึงถึงภาระหน้าที่ของรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง ภารกิจดังกล่าวนี้ จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ
-4-

กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่กำหนดแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนปฏิบัติการ โดยกำหนดกรอบวิสัยทัศน์ของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็น 2 ระยะคือ
1. ระยะแรก (พ.ศ.2544-2547) ในช่วง 4 ปีแรกของการโอนภารกิจ เป็นช่วงของการ
ปรับปรุงระบบการบริหารงานภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนายุทธศาสตร์ การสร้างความพร้อมในการรองรับการถ่ายโอนภารกิจ บุคลากร งบประมาณและทรัพย์สิน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของภารกิจของการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์และการดำเนินงานร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง
2. ระยะที่สอง (พ.ศ.2548-2554) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน มีการปรับบทบาทของราชการ
ส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนที่เรียนรู้ร่วมกันในการถ่ายโอนภารกิจ มีการปรับกลไกความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับราชการส่วนภูมิภาคอย่างกลมกลืน รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินกิจการสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ดีขึ้น ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส
หลังจากปีที่ 10 ผ่านพ้นไป (พ.ศ.2554 เป็นต้นไป) ประชาชนในท้องถิ่นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ประชาชนจะมีบทบาทในการตัดสินใจร่วมสอดส่องดูแลและตรวจสอบ ตลอดจนให้การสนับสนุนในกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ เช่น ขณะนี้ระบบการศึกษา จะถ่ายโอนมาให้ท้องถิ่น ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของลูกหลาน การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การดูแลคุณภาพชีวิตของบุตรหลาน การสาธารณสุข อนามัยชุมชน เป็นต้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการพัฒนาศักยภาพทางด้านการบริหารจัดการและการคลังท้องถิ่นที่พึ่งตนเองและมีอิสระมากขึ้น ผู้บริหารและสภาท้องถิ่นจะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร ราชการส่วนภูมิภาคจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้จัดทำบริการสาธารณะมาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่จำเป็นภายใต้ขอบเขตที่ขัดเจน การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงยึดหลักการและสาระสำคัญของการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ด้าน คือ
1. ด้านความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง การบริหาร
จัดการ การบริหารงานบุคคล และการเงินการคลังของตนเอง โดยยังคงรักษาความเป็นรัฐเดี่ยวและความมีเอกภาพของประเทศ การมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและความมั่นคงของชาติเอาไว้ได้ ตลอดจนการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย



-5-

2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของ
ตนเองได้มากขึ้น โดยปรับบทบาทและภารกิจของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค พร้อมเพิ่มบทบาทให้ส่วนท้องถิ่นเข้าดำเนินการแทน เพื่อให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาครับผิดชอบในภารกิจมหภาค และภารกิจที่เกินขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการได้ โดยกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านนโยบายและด้านกฎหมายเท่าที่จำเป็น ให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านเทคนิควิชาการและตรวจสอบติดตามประเมินผล
3. ด้านประสิทธิภาพการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริหาร
สาธารณะที่ดีขึ้นหรือไม่ต่ำกว่าเดิม มีคุณภาพมาตรฐาน การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริหารให้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนภาคประชาสังคมและชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมดำเนินงานและติดตามตรวจสอบ

รูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น กำหนดไว้ 5 รูปแบบในปัจจุบัน คือ
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ. )
2. เทศบาล
3. องค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต. )
4. กรุงเทพมหานคร
5. เมืองพัทยา

มารู้จักองค์การบริหารส่วนจังหวัดกันเถอะ
องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีพื้นที่ในการบริหารเต็มทั้งจังหวัด ถือพื้นที่เขตการปกครองของจังหวัดเป็นเขตการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 พร้อมๆกับการจัดตั้งเทศบาล แต่ช่วงนั้นเป็นเพียงสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด สมาชิกสภาเกิดจากการแต่งตั้งเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่แต่ละอำเภอ ให้คำปรึกษากับพ่อเมืองในการพัฒนาจังหวัด ในรูปแบบคณะกรรมการประจำจังหวัด ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดได้เข้ามาบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด สวมหมวก 2 ใบ คือ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอีกตำแหน่งหนึ่ง มีผู้ช่วยเหลือเป็นข้าราชการของท้องถิ่นปฏิบัติการตามที่ผู้ว่าฯสั่งการ สมาชิกสภาจังหวัด หรือที่ประชาชนรู้จัก คำว่า ส.จ. ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ ควบคุมการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีประธานสภาจังหวัดเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกด้วยกันมาทำหน้าที่ประธานในการประชุมสภา ซึ่งแต่ก่อนนั้นอำนาจในการบริหารของ อบจ. ตกอยู่กับข้าราชการส่วนภูมิภาค ทั้งผู้ว่าฯ ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ จะบริหารงานตามแนวนโยบายของรัฐ ซึ่งขัดกับหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอิสระในการปกครองตนเอง ในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง

-6-

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2540 กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่มีผลประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นต้นมา เป็นกฎหมายแม่ เป็นกรอบในการปกครองประเทศ ซึ่งกฎหมายลูกฉบับอื่นๆจะต้องมีบทบัญญัติที่สอดคล้อง จึงทำให้ พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระของกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ จึงประกาศใช้บังคับ พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้วันที่ 12 ตุลาคม 2540 เช่นกัน โดยเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของ อบจ. จากการปกครองตนเองโดยประชาชนเลือกผู้บริหารมาทำหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทางอ้อม ซึ่งประชาชนมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบของ อบจ. โดยการเลือกตั้งตัวแทนของตนเองในระดับอำเภอ เข้าไปบริหารกิจการงานของ อบจ. ในจังหวัด ซึ่งตัวแทนของประชาชนทุกอำเภอก็จะเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มาออกกฎหมาย ข้อบังคับของ อบจ. และคัดเลือกผู้นำ 1 คน ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร โดยมีข้าราชการ อบจ. เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ ในมาตรา 45 มีทั้งหมด 9 ข้อ ครอบคลุมเขตพื้นที่ทั้งจังหวัด
สมาชิกสภา อบจ. และผู้บริหาร อบจ. อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีการเลือกตั้ง ส.จ. ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นสมาชิกชุดเดียวที่หมดวาระไป เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 40 กำหนดการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จัดรูปแบบการปกครองแบบรัฐสภา อันประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติแยกต่างหากกับฝ่ายบริหาร อันมีนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน สำหรับราชการส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 285 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีสภาท้องถิ่น และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น มีสาระดังนี้
• สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
• คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น
• การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือคณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
• คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของข้าราชการท้องถิ่นมิได้
• คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 144 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ควบคุม และดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งพ.ศ.2541
-7-

บัญญัติว่า “ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะควบคุม และดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ (8 มิถุนายน 2541) จากสาเหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2546
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเข้ามารับผิดชอบเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดการ
เลือกตั้งทั้งระดับชาติ (ส.ส. , ส.ว. ) และระดับท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 บัญญัติไว้ จะต้องมีกฎหมายมารองรับ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2545 และในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า พระราชบัญญัตินี้จะใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเภทใด และเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอรัฐบาลให้ตราพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภทที่ครบวาระ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป
ดังนั้น ท้องถิ่นใดครบวาระ หรือมีเหตุให้ต้องหมดวาระแห่งการดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเข้าควบคุม และจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545

******************************

แนวความคิดเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น

ความหมายของการปกครองท้องถิ่น

ชูวงศ์ ฉายะบุตร (2539) ได้สรุปแนวความคิดของนักวิชาการและนักปกครองที่เกี่ยว กับการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ว่า คำนิยามความหมายของการปกครองท้องถิ่น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือคำนิยามไว้ ส่วนใหญ่มีหลักการที่สำคัญคล้ายคลึงกัน จะต่างคือสำนวนและรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้

เดเนียล วิท (Daniel Wit) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อำนาจหรือกระจายอำนาจไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ประชาชน ในท้องถิ่นได้มีอำนาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเป็นบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่า ถ้าอำนาจการปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลของท้องถิ่น ก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน

วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) (1951 : 101-103) นิยามว่าการปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักที่กำหนดไว้ มีอำนาจการปกครองตนเอง มีการบริหารการคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

โจน เจ. คลาร์ก (John J. Clarke) (1957 : 87-89) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการ ปกครองที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด โดยเฉพาะ และหน่วยการปกครอง ดังกล่าวนี้จัดตั้งและอยู่ในความดูแลของรัฐบาลกลาง

แฮรีส จี. มอนตากู (Haris G. Montagu) (1984 : 574) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระเพื่อเลือกผู้ที่มีหน้าที่บริหาร การปกครองท้องถิ่น มีอำนาจอิสระพร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจาก การควบคุมของหน่วย การบริหารราชการส่วนกลางหรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่น ยังต้องอยู่ภายใต้ บทบังคับว่าด้วยอำนาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด

อีไมล์ เจ. ซัดดี้ (Emile J. Sady) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการปกครอง ทางการเมืองที่อยู่ในระดับต่ำจากรัฐ ซึ่งก่อตั้งโดยกฎหมาย และมีอำนาจอย่างเพียงพอที่จะทำกิจการ ในท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง รวมทั้งอำนาจจัดเก็บภาษี เจ้าหน้าที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่น ดังกล่าวอาจได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งโดยท้องถิ่นก็ได้ (อุทัย หิรัญโต, 2523 : 4)

ประทาน คงฤทธิศึกษากร นิยามว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นระบบการปกครองที่เป็นผล สืบเนื่องมาจากการกระจายอำนาจทางการปกครอง ของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทำหน้าที่ ปกครองท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ องค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มี อำนาจในการกำหนดนโยบายและควบคุมให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตนเอง

อุทัย หิรัญโต นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น คือ การปกครองที่รัฐบาลมอบอำนาจให้ประชาชน ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดำเนินการ บางอย่าง โดยดำเนินการกันเอง เพื่อบำบัดความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การมีเจ้าหน้าที่ ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมด หรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุม ของรัฐหาได้ไม่เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทำให้เกิดขึ้น (อุทัย หิรัญ-โต, 2523 : 2)

วิลเลี่ยม เอ. ร๊อบสัน (William A. Robson) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้มีอำนาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จำเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ (William A. Robson, 1953 : 574)

จากนิยามต่าง ๆ ข้างต้นสามารถสรุปหลักการปกครองท้องถิ่นได้ในสาระสำคัญ ดังนี้ (ชูวงศ์ ฉายะบุตร : 2539)

การปกครองของชุมชนหนึ่ง ซึ่งชุมชนเหล่านั้นอาจมีความแตกต่างกันในด้านความเจริญ จำนวนประชากรหรือขนาดของพื้นที่ เช่น หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ของไทยจัดเป็นกรุงเทพมหานคร เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหาร ส่วนตำบล และเมืองพัทยาตามเหตุผลดังกล่าว

หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีอำนาจอิสระ (Autonomy) ในการปฏิบัติหน้าที่ ตามความเหมาะสม กล่าวคือ อำนาจของหน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีขอบเขตพอควร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง หากมีอำนาจมากเกินไปไม่มีขอบเขต หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น ก็จะกลายสภาพเป็น รัฐอธิปไตยเอง เป็นผลเสียต่อความมั่นคงของรัฐบาล อำนาจของท้องถิ่นนี้มีขอบเขต ที่แตกต่างกันออกไป ตามลักษณะความเจริญและความสามารถของประชาชนในท้องถิ่นนั้น เป็นสำคัญ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลในการพิจารณาการกระจายอำนาจให้หน่วยการปกครอง ท้องถิ่นระดับใด จึงจะเหมาะสม

หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) ที่จะดำเนินการ ปกครองตนเอง สิทธิตามกฎหมายแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

หน่วยการปกครองท้องถิ่นมีสิทธิที่จะตรากฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ขององค์การปกครองท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการบริหารตามหน้าที่และ เพื่อใช้บังคับประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น เทศบัญญัติ ข้อบังคับ สุขาภิบาล เป็นต้น

สิทธิที่เป็นหลักในการดำเนินการบริหารท้องถิ่น คือ อำนาจในการกำหนดงบประมาณ เพื่อบริหารกิจการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยการปกครอง ท้องถิ่นนั้น ๆ

มีองค์กรที่จำเป็นในการบริหารและการปกครองตนเอง องค์กรที่จำเป็นของท้องถิ่น จัดแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ องค์การฝ่ายบริหารและองค์การฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การปกครอง ท้องถิ่นแบบเทศบาลจะมีคณะเทศมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร และสภาเทศบาลเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือในแบบมหานคร คือกรุงเทพมหานครจะมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายบริหาร สภากรุงเทพมหานครจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการปกครองส่วนท้องถิ่น

ชูวงศ์ ฉายะบุตร (2539 : 26) ได้จำแนกวัตถุประสงค์ของการปกครองท้องถิ่นไว้ดังนี้

ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าในการบริหารประเทศ จะต้องอาศัยเงินงบประมาณเป็นหลัก หากเงินงบประมาณจำกัด ภารกิจที่จะต้องบริการ ให้กับชุมชนต่าง ๆ อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นหากจัดให้มีการปกครองท้องถิ่น หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นๆ ก็สามารถมีรายได้ มีเงินงบประมาณของตนเองเพียงพอ ที่จะดำเนินการสร้างสรรค์ความเจริญให้กับท้องถิ่นได้ จึงเป็นการแบ่งเบาภาระของ รัฐบาลได้เป็นอย่างมาก การแบ่งเบานี้เป็นการแบ่งเบาทั้งในด้านการเงิน ตัวบุคคล ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ

เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

เนื่องจากประเทศมีขนาดกว้างใหญ่ ความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องที่ ย่อมมีความแตกต่างกัน การรอรับการบริการจากรัฐบาลแต่อย่างเดียว อาจไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริงและล่าช้า หน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีประชาชน ในท้องถิ่นเป็นผู้บริหารเท่านั้น จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้

เพื่อความประหยัด โดยที่ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน สภาพความเป็นอยู่ของ ประชาชนก็ต่างไปด้วย การจัดตั้งหน่วยปกครองท้องถิ่นขึ้นจึงมีความจำเป็น โดยให้อำนาจ หน่วยการปกครองท้องถิ่นจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งเป็นวิธีการหารายได้ให้กับท้องถิ่นเพื่อ นำไปใช้ในการบริหารกิจการของท้องถิ่น ทำให้ประหยัดเงินงบประมาณของรัฐบาล ที่จะต้องจ่ายให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นอันมาก และแม้จะมีการจัดสรรเงินงบประมาณจาก รัฐบาลไปให้บ้างแต่ก็มีเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่าง รอบคอบ

เพื่อให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย แก่ประชาชน จากการที่การปกครองท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการปกครองตนเอง ไม่ว่าจะโดยการสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเลือก เข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติของหน่วยการปกครองท้องถิ่นก็ตาม การปฏิบัติ หน้าที่ที่แตกต่างกันนี้มีส่วนในการส่งเสริมการเรียนรู้ถึงกระบวนการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยในระดับชาติได้เป็นอย่างดี

ความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น

จากแนวความคิดในการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ทางการปกครองของรัฐในอันที่ จะรักษาความมั่นคงและความผาสุกของประชาชน โดยยึดหลักการกระจายอำนาจปกครอง และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง ความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นจึงสามารถสรุปได้ดังนี้

การปกครองท้องถิ่นคือรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย (Basic Democracy) เพราะการปกครองท้องถิ่นจะเป็นสถาบันฝึกสอนการเมืองการปกครองให้แก่ประชาชน ให้ประชาชนรู้สึกว่าตนมีความเกี่ยวพันกับส่วนได้ส่วนเสียในการปกครอง การบริหารท้องถิ่น เกิดความรับผิดชอบ และหวงแหนต่อประโยชน์อันพึงมีต่อท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัย อันจะนำมา ซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในระบอบการปกครองประชาธิปไตยในที่สุด (ชูศักดิ์ เที่ยงตรง, 2518 : 6-7) โดยประชาชนจะมีโอกาสเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร การเลือกตั้งจะเป็นการฝึกฝน ให้ประชาชนใช้ดุลพินิจเลือกผู้แทนที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารกิจการ ของท้องถิ่น นับได้ว่าเป็นผู้นำในท้องถิ่นจะได้ใช้ความรู้ความสามารถบริหารงานท้องถิ่น เกิดความคุ้นเคยมีความชำนิชำนาญในการใช้สิทธิและหน้าที่ของพลเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การมี ส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชาติต่อไป

การปกครองท้องถิ่นทำให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักการปกครองตนเอง (Self Government) หัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประการหนึ่งก็คือ การปกครองตนเองมิใช่เป็น การปกครองอันเกิดจากคำสั่งเบื้องบน การปกครองตนเองคือ การที่ประชาชนมีส่วนร่วม ในการปกครอง ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นนอกจากจะได้รับเลือกตั้งมาเพื่อรับผิดชอบบริหารท้องถิ่น โดยอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากประชาชนแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องฟังเสียง ประชาชนด้วยวิถีทางประชาธิปไตยต่าง ๆ เช่น เปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติ (Referendum) ให้ประชาชนมีอำนาจถอดถอน (Recall) ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความสำนึก ในความสำคัญของตนต่อท้องถิ่น ประชาชนจะมีส่วนรับรู้ถึงอุปสรรคปัญหาและช่วยกันแก้ไข ปัญหาของท้องถิ่นของตน (อนันต์ อนันตกูล, 2521 : 6-7)

นอกจากนี้ การปกครองตนเองในรูปของการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริงหรือ การกระจายอำนาจไปในระดับ ต่ำสุดคือ รากหญ้า (Grass roots) ซึ่งเป็นฐานเสริมสำคัญยิ่ง ของการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ความล้มเหลวของ ระบอบประชาธิปไตยมีหลายองค์ประกอบ แต่องค์ประกอบสำคัญยิ่งยวดอันหนึ่ง ก็คือการขาดรากฐานในท้องถิ่น (ลิขิต ธีรเวคิน, 2525 : 3)

การปกครองท้องถิ่นเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่นมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการแบ่งเบาภาระ ของรัฐบาล เนื่องจากความจำเป็นบางประการ ดังนี้ (ชูวงศ์ ฉายะบุตร, 2539 : 28-29)

ภารกิจของรัฐบาลมีอยู่อย่างกว้างขวาง นับวันจะขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จาก งบประมาณที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีตามความเจริญเติบโตของบ้านเมือง

รัฐบาลมิอาจจะดำเนินการในการสนองความต้องการของประชาชน ในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง เพราะแต่ละท้องถิ่นย่อมมีปัญหา และความต้องการ ที่แตกต่างกัน การแก้ปัญหาหรือจัดบริการโครงการในท้องถิ่นโดยรูปแบบที่เหมือนกัน ย่อมไม่บังเกิดผลสูงสุด ท้องถิ่นย่อมรู้ปัญหาและเข้าใจปัญหาได้ดีกว่า ผู้ซึ่งไม่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ประชาชนในท้องถิ่นจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นมากที่สุด

กิจการบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่นนั้น ไม่เกี่ยวพันกับท้องถิ่นอื่น และไม่มีส่วนได้ ส่วนเสียต่อประเทศโดยส่วนรวม จึงเป็นการสมควรที่จะให้ประชาชนในท้องถิ่น ดำเนินการดังกล่าวเอง

ดังนั้น หากไม่มีหน่วยการปกครองท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลจะตัองรับภาระดำเนินการทุกอย่าง และไม่แน่ว่าจะสนองความต้องการของท้องถิ่นทุกจุดหรือไม่ รวมทั้งจะต้องดำเนินการ เฉพาะท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่เกี่ยวพันกับท้องถิ่นอื่น หากได้จัดให้มีการปกครองท้องถิ่น เพื่อดำเนินการเองแล้ว ภาระของรัฐบาลก็จะผ่อนคลายไป รัฐบาลจะมีหน้าที่เพียงแต่ควบคุม ดูแลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้ท้องถิ่นมีมาตรฐานในการดำเนินงานยิ่งขึ้น

การแบ่งเบาภาระทำให้รัฐบาลมีเวลาที่จะดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ หรือกิจการใหญ่ ๆ ระดับชาติอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม ความคับคั่งของภาระหน้าที่ต่าง ๆ ที่รวมอยู่ส่วนกลางจะลดน้อยลง ความคล่องตัวในการดำเนินงานของส่วนกลางจะมีมากขึ้น

การปกครองท้องถิ่นสามารถสนองความต้องการของท้องถิ่นตรงเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไม่ว่าทางสภาพภูมิศาสตร์ ทรัพยากร ประชาชน ความต้องการ และปัญหาย่อมต่างกันออกไป ผู้ที่ให้บริการหรือแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนก็ต้องเป็น ผู้ที่รู้ถึงปัญหาและความต้องการ ของประชาชนเป็นอย่างดี การบริหารงานจึงจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและ มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเสียเวลาเสนอเรื่องขออนุมัติ ไปยังส่วนเหนือขึ้นไป ท้องถิ่นจะบริหารงานให้เสร็จสิ้นลง ภายในท้องถิ่นนั่นเอง ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

การปกครองท้องถิ่นจะเป็นแหล่งสร้างผู้นำทางการเมือง การบริหารของประเทศในอนาคต ผู้นำหน่วยการปกครองท้องถิ่นย่อมเรียนรู้ประสบการณ์ทางการเมือง การได้รับเลือกตั้ง การสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่นย่อมเป็นพื้นฐานที่ดีต่ออนาคตทางการเมืองของตน และยังฝึกฝนทักษะทางการบริหารงานในท้องถิ่นอีกด้วย ในประเทศไทย ผู้นำทางการเมืองที่มีชื่อเสียง เช่น นายทองหยด จิตตะวีระ, นายสุรินทร์ เทพกาญจนา เป็นต้น ล้วนแต่มีผลงานจากการเป็นนายกเทศมนตรี หรือผู้บริหารท้องถิ่นมาก่อน จนสามารถประสบความสำเร็จเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในระดับชาติ (วิญญู อังคณารักษ์, 2518 : 98)

การปกครองท้องถิ่นสอดคล้องกับแนวความคิดในการพัฒนาชนบท แบบพึ่งตนเอง การปกครองท้องถิ่นโดยยึดหลักการกระจายอำนาจ ทำให้เกิดการพัฒนาชนบท แบบพึ่งตนเองทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การดำเนินงานพัฒนาชนบท ที่ผ่านมายังมีอุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมจากประชาชน ในท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ซึ่งการพัฒนาชนบทที่สัมฤทธิ์ผลนั้น จะต้องมาจากการริเริ่มช่วยตนเอง ของท้องถิ่น ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมแรงกัน โดยอาศัยโครงสร้างความเป็นอิสระ ในการปกครองตนเอง ซึ่งต้องมาจากการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นแล้ว การพัฒนาชนบทจะเป็นลักษณะ “หยิบยื่นยัดใส่ หรือกึ่งหยิบยื่นยัดใส่” เกิดความคาดหวัง ทุกปีจะมี “ลาภลอย” แทนที่จะเป็นผลดีต่อท้องถิ่นกลับสร้างลักษณะการพัฒนาแบบพึ่งพา ไม่ยอมช่วยตนเอง อันเป็นผลทางลบต่อการพัฒนาพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย (ลิขิต ธีรเวคิน, 2528 : 3-4) ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงจะทำให้เกิดลักษณะการพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นหลักสำคัญ ของการพัฒนาชนบทอย่างยิ่ง

การกระจายอำนาจมีข้อพึงระวังและได้กลายเป็นจุดวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมีอยู่หลายประการดังได้กล่าวไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ของขอบเขต การกระจายอำนาจและการคำนึงถึงระดับความรู้ความ สามารถของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอย่างมาก และมีมานานตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กล่าวคือ ได้มีการถกเถียงถึงความพร้อมของประชาชนต่อการปกครองตนเอง มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน แต่จากความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นนั้น หากจะมองรวม เป็นจุดใหญ่ ๆ แล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็นสองด้านคือ ด้านการเมืองการปกครอง และการบริหาร กล่าวคือ ในด้านการเมืองการปกครองนั้น เป็นการปูพื้นฐานของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย และการเรียนรู้การปกครองตนเอง ส่วนด้านการบริหารนั้น เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและประชาชนในท้องถิ่นได้หาทางตอบ สนองแก้ปัญหา ด้วยตนเอง ด้วยกลไกทางการบริหารต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการจัดการ ฯลฯ

องค์ประกอบการปกครองส่วนท้องถิ่น

ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องประกอบด้วย องค์ประกอบ 8 ประการ คือ (อุทัย หิรัญโต, 2523 : 22)

สถานะตามกฎหมาย (Legal Status) หมายความว่า หากประเทศใดกำหนดเรื่องการปกครองท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ การปกครองท้องถิ่นในประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็งกว่าการปกครองท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยกฎหมายอื่น เพราะข้อความที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศนั้นมีนโยบายที่จะกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

พื้นที่และระดับ (Area and Level) ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการกำหนดพื้นที่และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายประการ เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และความสำนึกในการปกครองตนเองของประชาชน จึงได้มีกฎเกณฑ์ที่จะกำหนดพื้นที่และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นออกเป็น 2 ระดับ คือ หน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สำหรับขนาดของพื้นที่จากการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (UNESCO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักกิจการสังคม (Bureau of Social Affair) ได้ให้ความเห็นว่าหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่สามารถให้บริการและบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ ควรมีประชากรประมาณ 50,000 คน แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่จะต้องพิจารณาด้วย เช่น ประสิทธิภาพในการบริหาร รายได้ และบุคลากร เป็นต้น

การกระจายอำนาจและหน้าที่ การที่จะกำหนดให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและการ ปกครองของรัฐบาลเป็นสำคัญ

องค์การนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายแยกจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ มีขอบเขตการปกครองที่แน่นอน มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ออกกฎ ข้อบังคับ ควบคุมให้มีการปฏิบัติตามนโยบายนั้น ๆ

การเลือกตั้ง สมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหารจะต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อแสดงถึงการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน โดยเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง

อิสระในการปกครองตนเอง สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการปฏิบัติ กิจการภายใน ขอบเขตของกฎหมาย โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง และไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชา ของหน่วยงานทางราชการ

งบประมาณของตนเอง มีอำนาจในการจัดเก็บรายได้ การจัดเก็บภาษีตามขอบเขต ที่กฎหมายให้อำนาจในการจัดเก็บ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะทำนุบำรุง ท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

การควบคุมดูแลของรัฐ เมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วยังคงอยู่ในการกำกับ ดูแลจากรัฐ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม โดยการมีอิสระ ในการดำเนินงานของหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่ามีอิสระเต็มที่ทีเดียว คงหมายถึงเฉพาะอิสระในการดำเนินการเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นแล้วท้องถิ่น จะกลายเป็น รัฐอธิปไตยไป (อนันต์ อนันตกูล, 2521 : 10) รัฐจึงต้องสงวนอำนาจในการควบคุมดูแลอยู่

การปกครองท้องถิ่นกำหนดขึ้นบนพื้นฐานทฤษฎีการกระจายอำนาจและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งมุ่งเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองและกิจกรรม การปกครองตนเองในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากลักษณะสำคัญของการปกครองท้องถิ่น ที่เน้นการมีอำนาจอิสระในการปกครองตนเองมีการเลือกตั้ง มีองค์การหรือสถาบันที่จำเป็น ในการปกครองตนเอง และที่สำคัญก็คือ ประชาชนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการปกครอง ตนเองอย่างกว้างขวาง

ทิศทางการปกครองท้องถิ่นไทย จากมุมมองของ ดร.โกวิทย์


สนทนาวิชาการครั้งปฐมฤกษ์นี้ เราได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม อาจารย์ประจำภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้แง่คิด และมุมมองที่อาจารย์มีต่อทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทย ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองท้องถิ่น








อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับคำพูดที่ว่า การกระจายอำนาจก็เหมือนกับการกระจายการทุจริตคอรัปชั่นไปยังท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ?

ไม่เห็นด้วย เนื่องจากหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็คือ หลักที่ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีอำนาจภารกิจมากขึ้น เป็นการกระจายความรับผิดชอบให้แก่องค์กรท้องถิ่นที่ต้องทำงานทดแทนภาคส่วนของรัฐ เป็นการแบ่งเบาภารกิจรัฐบาล เพื่อทำให้งานจัดบริการสาธารณะต่างๆ ท้องถิ่นได้ใช้กระบวนการคิดกระบวนการมีส่วนร่วมที่จะต้องทำร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น

ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจก็เหมือนกับการ กระจายการทุจริตคอรัปชั่นไปยังท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้น เป็นคำพูดที่เปรียบเทียบ ซึ่งทำให้องค์กรท้องถิ่นต้องมาคิดว่า การกระจาย อำนาจที่กระจายเงิน ใช้งบประมาณกระจายภารกิจไปให้ท้องถิ่นต้องจัดทำภารกิจแบ่งเบาภารกิจรัฐบาล ปรากฏว่ามีบางท้องถิ่นก็มีการทุจริตคอรัปชั่น บางท้องถิ่นทำงานไม่โปร่งใส บางท้องถิ่นก็ทำงานขาดหลักการมีส่วนร่วม ซึ่งอันนี้ขัดกับหลักการกระจายอำนาจ

การกระจายอำนาจที่แท้จริงนั้น คือ การทำงานเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมที่จะช่วยกันจัดสรรทรัพยากรของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก อาจจะรู้สึกว่าเขาได้เป็นเจ้าของภารกิจ เจ้าของงาน เจ้าของเงิน โดยหลักการแล้วหลักการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ดี

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อาจารย์คิดว่า เราจะรักษาความสมดุลระหว่างแนวคิดการกระจายอำนาจของการทุจริตในการปกครองท้องถิ่นอย่างไร?

คิดว่าการกระจายอำนาจมันเป็นเรื่องที่ทำให้ท้องถิ่นต้องมีการทำงานที่โปร่งใส สิ่งสำคัญนั้น ก็คือ การทำให้เกิดการมีธรรมาภิบาลขึ้นในท้องถิ่น การปกครองท้องถิ่นต้องมีความปกครองรักษาธรรมาภิบาลในท้องถิ่น หมายถึงประชาชนต้องมีส่วนร่วมประชาชนต้องคอยตรวจสอบ ประชาชนต้องแสดงให้เห็นว่า ท้องถิ่นของตนเองทำงานได้อย่างโปร่งใส และมีความรับผิดชอบ ผมคิดว่าการคอรัปชั่นในที่สุดมันจะลดลงไปเอง ถ้าประชาชนมีความคิดเห็นส่วนร่วมคอยกำกับดูแล และรู้สึกว่าท้องถิ่นของตัวเองเป็นที่หวงแหน และเป็นส่วนหนึ่งที่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สังคมไทยยังมีภูมิคุ้มกันเรื่องการทุจริตมากน้อยเพียงใดจะทำให้การบริหารงานปราศจากคอรัปชั่น?

ก็เห็นด้วยกับข้อนี้ เพราะสังคมไทยยังไม่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมมากที่จะทำให้การบริหารท้องถิ่นปราศจากการทุจริต มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผมคิดว่าสังคมไทยยังเพิกเฉย หรือยังไม่กระตือรือร้นที่จะช่วยกันคุ้มครองสังคมที่คุ้มกันสังคมให้ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น แต่ก็มองการคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่ปกติเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งเป็นอันตรายต่อองค์กรปกครองท้องถิ่นกับสังคมไทย ฉะนั้นสังคมไทยต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมเพื่อประชาชนจะได้เรียนรู้ได้ตระหนักถึงการทำงานที่ปราศจากการทุจริต และคอรัปชั่น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความก้าวหน้าเรื่องการปกครองท้องถิ่นมากที่สุด อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร?

เห็นด้วยกับข้อนี้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีส่วนทำให้การปกครองท้องถิ่นมีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยเฉพาะการบัญญัติหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นไว้ในหลักการหลายเรื่อง รวมทั้งหมวดว่าด้วยสิทธิ และหน้าที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายประเด็น

ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรม การพิทักษ์คุณธรรมจริยธรรมของบุคลากรของท้องถิ่น การทำงานของผู้บริหารท้องถิ่น การมีองค์กรพิทักษ์คุณธรรมก็มีส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงฐานะของพนักงานเป็นข้าราชการของการปกครองท้องถิ่น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นความก้าวหน้า และเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการมีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่คอยดูแลการแต่งตั้งการโยกย้าย หรือการพัฒนาข้าราชการท้องถิ่น ผมคิดว่าส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่เพิ่มเติมแล้วก็ให้มีการกำกับดูแลตรวจสอบท้องถิ่นโดยภาคประชาชนง่ายขึ้น

ความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีการพิทักษ์คุณธรรมข้าราชการท้องถิ่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงฐานะข้าราชการท้องถิ่นเป็นข้าราชการท้องถิ่น มีกฎหมายข้าราชการท้องถิ่นแล้ว ก็มีการทำให้มันง่ายต่อการตรวจสอบโดยภาคประชาชน การเข้าถึงของประชาชนในการเสนอถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มันจัดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการอัดฉีดเงินถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างที่กระทรวงมหาดไทย นักวิชาการของไทยบางคนกำลังทำอยู่ในขณะนี้มิใช่เป็นการกระจายอำนาจอย่างยั่งยืน อาจารย์มีความคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างไร?

คิดว่าการกระจายอำนาจมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนภารกิจการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการโอนภารกิจ เมื่อมีการโอนภารกิจแล้ว การโอนเงินงาน งานก็คือภารกิจ เงินก็คืองบประมาณ รวมทั้งการยักย้ายถ่ายเทบุคลากรก็เป็นเรื่องที่จำเป็น

แต่การพัฒนาองค์กรท้องถิ่น หรือการกระจายอำนาจท้องถิ่นให้ยั่งยืนนั้น ผมคิดว่าจะต้องทำความเข้าใจกับส่วนภาคต่างๆ ทั้งในแง่ของภาคราชการ ส่วนภาครัฐ แล้วก็ส่วนภูมิภาคที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีคิดเป็นที่จะทำให้รู้ว่า เมื่อถ่ายโอนภารกิจลงไปแล้ว จำเป็นอยู่เองที่ต้องถ่ายโอนงบประมาณ น้ำหนักของงบประมาณแทนที่จะอยู่ในส่วนกลาง หรือภูมิภาคก็ต้องถ่ายโอนไปท้องถิ่น เพียงแต่ว่าการให้เงิน หรือจัดสรรงบประมาณแบบอัดฉีดเงินท้องถิ่นก็อาจเป็นประเด็นที่ไม่น่าพึงประสงค์นัก เพราะว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือ ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีรายได้ของท้องถิ่นที่จะเพียงพอเลี้ยงตนเอง

ผมคิดว่าจะต้องไปปรับปรุงกฎหมาย รายได้ของท้องถิ่นเป็นหลักสำหรับประเด็นนี้ เพราะว่า การปกครองท้องถิ่นต้องมีรายได้จากภาษีอากรต้องมีวิธีคิดในการเก็บภาษีอากรอย่างเต็มกำลัง และต้องพัฒนาให้คนในท้องถิ่นต้องเรียนรู้ในการจัดเก็บภาษี จำเป็นต้องมีบุคลากรมืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาษีท้องถิ่นรายได้ท้องถิ่น เพื่อที่ทำให้การกระจายอำนาจของการปกครองท้องถิ่นมีความยั่งยืน มากกว่าที่คอยพึ่งงบประมาณของรัฐบาลกลาง ซึ่งจะทำให้การกระจายอำนาจนี้มีความยั่งยืน และก็มีการปรับเปลี่ยนไป

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มีนักวิชาการบางคนเห็นว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นกับชุมชนท้องถิ่นยังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้การปกครองท้องถิ่นไม่ประสบความสำเร็จ อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร?

เห็นด้วยว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นกับชุมชนท้องถิ่นในปัจจุบันก็ยังแยกส่วนกันอยู่ เข้าใจว่าชุมชนท้องถิ่น หมายถึง กลุ่มองค์กรชุมชนท้องถิ่นทั้งที่รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง และเหนียวแน่น มีผู้นำ มีกลุ่มต่างๆ เป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มทรัพยากร ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็มีความเข้มแข็งในตัวของตนเอง มีสวัสดิการชุมชน มีบอร์ดการบริหารจัดการตนเองได้ ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องมุ่งเป้าหมายทำให้ชุมชนปกครองท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะร่วมมือ และก็มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนกำหนดเป้าหมาย กำหนดวิธีคิด องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องดึงภาคส่วนที่เราเรียกว่า “ประชาสังคม” ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ที่จะทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีเป้าหมายงานที่ชัดเจน และก็มีกระบวนการมีส่วนร่วมกระบวนการเรียนรู้บูรณาการ

ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายของชุมชนในระดับท้องถิ่นมีบริบทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรชุมชนสถาบันในชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นจะต้องเป็นแกนหลักที่จะบูรณาการทำงานร่วมความคิดร่วมแผนพัฒนาร่วมดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามากำหนดเป้าหมายวิสัยทัศน์ องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ดีส่วนใหญ่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นเนื้อเดียวกันกับองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่จำนวนหนึ่งที่ยังแยกส่วนกับชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้ว ทำให้ชุมชนนั้นมีความขัดแย้ง แต่ก็มีองค์กรท้องถิ่นที่ดีนั้นมีการทำงานร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่น โดยมีองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นหลักที่คอยบูรณาการ

องค์กรการปกครองท้องถิ่นจะทำงานสำเร็จได้ก็จะต้องทำให้ชุมชนท้องถิ่นกับองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นเป็นเนื้อเดียวกันนั้นเอง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ความเป็นมาการปกครองท้องถิ่นไทย "เทศบาล"

ความเป็นมาการปกครองท้องถิ่นไทย "เทศบาล" เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร
พระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรื่องการจัดตั้ง เทศบาล ปรากฏชัดเจนในธรรมนูญลักษณะปกครอง นคราภิบาล พ.ศ. 2461 โดยกำหนดให้จัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่น "เทศบาล" ในเมืองจำลอง " ดุสิตธานี" บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเมืองทดลองการปกครองตนเองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยธรรมนูญลักษณะ
การปกครองนคราภิบาล พ.ศ. 2461 ( ประกาศใช้ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ) ให้สิทธิ เสรีภาพแก่ราษฎรเมืองดุสิตธานี (เรียกว่าทวยนาคร) ในการบริหารดำเนินงานท้องถิ่น เช่น
1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาดุสิตธานี ซึ่งเรียกว่า เชษฐบุรุษ
2. ในปี พ.ศ. 2465 ประกาศใช้ "กฎธานิโยปการ" เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บภาษีอากร ได้แก่ภาษีที่ดิน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาฯลฯ เพื่อนำไปบำรุงนคร
3. คณะผู้บริหารดุสิตธานี เรียกว่า คณะนคราภิบาล ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากราษฎรในนครนี้ ทำนองเดียวกับระบอบเทศบาลที่ใช้ในสมัยหลังๆ ต่อมา (เสทื้อน ศุภโสภณ ,2515:219)
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงจัดตั้ง
คณะกรรมการเรียกว่า " คณะกรรมการจัดการประชาภิบาล" ประกอบด้วย
1. นาย อาร์ ดี เครก ( R.D Craig) ตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงเกษตราธิการ เป็นประธาน
2. อำมาตย์เอก พระกฤษณาบรพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็น กรรมการ
3. พระยาจินดารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นกรรมการ
4. นาย เชย ปิตรชาติ เป็นเลขานุการ
คณะกรรมการจัดการประชาภิบาล มีหน้าที่ศึกษาดูงาน สุขาภิบาลในหัวเมืองต่างๆทั่วราชอาณาจักรไทย และในประเทศสิงค์โปร์ ชวา ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ และใด้จัดทำรายงาน
ประกอบการพิจารณาจัดตั้ง " ประชาภิบาลหรือเทศบาล" ขึ้นกราบบังคมทูล โดยมีสาระเกี่ยวกับ
1. แนวทางในการจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นรูปแบบ "เทศบาล"
2. ประสิทธิภาพในการจัดทำบริหารสาธารณะ
3. เป็นสถาบันสอนการปกครองระบอบประชาธิปไตย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรในท้องถิ่น ปกครองตนเอง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ได้เรียนรู้และทดลอง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ( Democracy) พระองค์ทรงเห็นว่า " มันเป็นการดีแก่ประชาชนอย่างแท้จริงที่เขาจะเริ่มต้นด้วยการควบคุมกิจการท้องถิ่น ก่อนที่พวกเขาพยายามที่จะควบคุมกิจการของรัฐโดยผ่านทางรัฐสภา" ( ดร. ชูวงศ์ ฉายะบุตร ,2539:91)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงแต่งตั้ง คณะกรรมการยกร่าง พระราชบัญญัติเทศบาล และนำเสนอที่ประชุมเทศาภิบาล และส่งร่างพระราชบัญญัติเทศบาลให้กรมร่างกฎหมายพิจารณา แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฉบับนี้ มิได้ออกมาบังคับใช้ เนื่องด้วยมีการเปลี่ยนแปลกงการปกครองการปกครองของไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ต่อมา คณะราษฎร ได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติ จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 และได้มีการจัดตั้งเทศบาลเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2478 โดยยกฐานะสุขาภิบาลทั้ง 35 แห่ง ขึ้นเป็นเทศบาล
ในปี พ.ศ. 2496 ได้การประกาศใช้ พระราชบัญญัติ เทศบาล และมีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องถึง 9 ครั้ง ปัจจุบันการปกครองท้องถิ่นไทย รูปแบบเทศบาล เป็นไปตาม พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2523 ในขณะนั้นมีเทศบาลทั่วราชอาณาจักรไทยทั้งสิ้น 120เทศบาล

สงครามครั้งสุดท้ายของทักษิณ

โดย สุรวิชช์ วีรวรรณ 14 สิงหาคม 2551 15:28 น.


ผมละทิ้งการเขียนคอลัมน์ “หน้ากระดานเรียงห้า” ไปหลายสัปดาห์ เพราะมีภารกิจเสมือนนอตตัวเล็กๆ ในการร่วมกันขับเคลื่อนกองทัพประชาชน เพื่อขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณ

กระทั่งทักษิณกลายเป็น “ผู้ร้าย” จากประเทศไทย หนีหมายศาลไปอยู่เมือง “ผู้ดี” ประเทศอังกฤษ ได้สดับตรับเสียงหลายคนคล้ายกับว่า นี่เป็นการหนียะย่าย พ่ายจะแจของทักษิณและพลพรรค

มีบางคนลิงโลดว่า นี่คือชัยชนะของฝ่ายไม่เอาทักษิณ แต่ผมว่าไม่ใช่

เพราะนี่คือ การประกาศสงครามขั้นสุดท้ายแบบแตกหักของระบอบทักษิณกับพลพรรคเสียมากกว่า

ทักษิณกำลังใช้ตำราพิชัยสงครามของซุนวู “หนี” เป็นสุดยอดกลยุทธ์ หากไม่หนีในวาระอันควรอาจต้องแลกด้วยชีวิต

ซุนวู อธิบายกลยุทธ์ “หนี” ไว้ในตำราพิชัยสงครามในข้อ 36 ซึ่งเป็นกลยุทธ์ข้อสุดท้ายของเขาว่า ทำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายในยามที่เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และเพื่อชิงโอกาสตอบโต้ภายหลังมิใช่ถอยหนีอย่างพ่ายแพ้หมดรูป ตีโต้กลับมิได้อีก

นัยในจดหมายสั่งลาของทักษิณก็บ่งบอกเช่นนั้น

ทักษิณกล่าวหาว่า กระบวนการยุติธรรมที่เป็นหอกทิ่มแทงเขาอยู่นั้น เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยเอาผลลัพธ์ที่อยากจะได้เป็นตัวตั้ง เพื่อจัดการเขาและครอบครัว

ความคิดของเขาก็ไม่ต่างกับพลพรรคพลังประชาชนที่มองว่า รัฐธรรมนูญร่างเอาไว้เพื่อให้พวกเขาติดกับดัก แล้วจัดการกับพวกเขาอย่างขัดต่อหลักนิติธรรม

กฎหมายต่างหากที่ผิด พวกเขาไม่ได้กระทำผิด

ในจดหมายทักษิณ กล้าพูดอย่างไม่มียางอายว่า กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง ทั้งๆ ที่ศาลเพิ่งสั่งจำคุกทนายของเขาในข้อหาพยายามติดสินบนศาลจากกรณีถุงขนม 2 ล้าน ซึ่งครั้งนั้นทำให้กระบวนการศาลสถิตยุติธรรมถูกเคลือบแคลง

แต่นั่นไม่เท่ากับนัยที่แฝงไว้ด้วยคำอาฆาตมาดร้ายของทักษิณซึ่งอยู่ท้ายๆ จดหมายที่ว่า “วันนี้ยังไม่ใช่วันของผม ขอให้ผู้สนับสนุนอดทนอีกนิดหนึ่งครับ”

นี่คือ การประกาศของทักษิณที่แปลความได้ว่า “ผมยังสู้อยู่ และจะกลับมาเอาคืน”

ผมไม่ได้สรุปเช่นนี้โดยลำพัง เพ็ญ-จักรภพ เพ็ญแข ก็บ่งบอกนัยนี้ไว้ภายใต้นามปากกา “กาหลิบ” ของเธอว่า การหนีของทักษิณเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งในสนามรบ และไม่ใช่การยอมแพ้

เพ็ญ บอกด้วยว่า การตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นต่อราชอาณาจักรไทยทั้งหมด เพราะเท่ากับคุณทักษิณกำลังเปิดแนวรบใหม่นอกพื้นที่อำนาจของศัตรูโดยตรงเผด็จศึกง่ายกว่ากันเยอะ

เพ็ญใช้คำว่า “ราชอาณาจักร” อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเมื่อขีดเส้นใต้ ตรงคำว่า “จะส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นต่อราชอาณาจักรไทยทั้งหมด” คำว่า “ทั้งหมด” ก็บ่งบอกว่า ทักษิณจะกลับมาเพื่อถอนรากถอนโคนสิ่งที่เขาเชื่อว่า เป็นศัตรูของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับแรงปรารถนาให้เกิดสงครามประชาชนจากการให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้งของเธอ

“ราชอาณาจักร” แปลว่า อะไร “นอกพื้นที่ของศัตรู” คืออะไร แล้ว “ศัตรู”ของทักษิณที่เพ็ญว่าคือใคร ลองตีความกันเอาเอง

ความตั้งใจในการใช้คำในบทความชิ้นนี้ยังมีที่น่าสนใจตรงที่เพ็ญเธอบอกว่า เปรียบไปแล้วกลุ่มพันธมิตรฯ และ ASTV เป็นเพียงงูพิษตัวหนึ่งในบ่อสีขาวขนาดใหญ่ของสถานเสาวภา ซึ่งเป็นหน่วยงานในความดูแลของสภากาชาดไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์เท่านั้นเอง ไม่ใช่พญานาคราชแต่อย่างใด

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ เพ็ญ เย้ยหยันว่า พันธมิตรฯ ไม่ใช่ “พญานาคราช” แต่เป็นเพียงงูพิษตัวหนึ่งที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อรีดพิษในบ่อของสถานเสาวภา

แต่ความตั้งใจของเธออยู่ที่ “ในพระบรมราชินูปถัมภ์” เสียมากกว่า

อยากรู้ว่าเพ็ญเธอซ่อนอะไรไว้ภายใต้คำนี้ ก็ลองศึกษาจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของเพ็ญเอง รวมถึงพฤติกรรมของคนรอบข้างที่ออกมาขับเคลื่อนทวงคืนความชอบธรรมให้กับระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ดา ตอร์ปิโด ชีพ ชูชัย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จรัล ดิษฐาอภิชัย ฯลฯ

น่าประหลาดที่จดหมายของทักษิณคือ การประกาศสงคราม แต่กลับมีคนเรียกร้องให้พวกเราอันหมายถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถอยได้แล้วเพื่อความสมานฉันท์

น้ำเสียงเหล่านี้ไม่ต่างกับหลัง 19 กันยา ที่เคยบอกว่า ทักษิณตายแล้ว ราวกับว่า พวกเขามองไม่เห็นความสามานย์ของรัฐบาลหุ่นเชิด และความพิกลพิการของอำนาจรัฐปัจจุบันซึ่งยังอยู่ในเงื้อมมือของระบอบทักษิณอย่างเต็มเปี่ยม

รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่เป็นรัฐบาลของประชาชาติไทย เพราะพวกเขาทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาวที่นักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดินคนหนึ่งออกมาย่ำยีอธิปไตยทางการศาลของไทย

และเชื่อได้ว่า รัฐบาลสามานย์ชุดนี้จะควบคุมกลไกให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้าที่จะตามล่าตัวผู้ร้ายหนีข้ามแดน และปล่อยให้ทีวีของรัฐออกมาปกป้องจำเลยของแผ่นดิน และช่วยโหมกระแสว่า ทักษิณกำลังต่อสู้กับอำนาจเหนือรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม

การต่อสู้ของระบอบทักษิณยังมีแนวร่วมมุมกลับ เช่น นักวิชาการบางคน ธงชัย วินิจจะกุล “ไอ้หัวโต” สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และค่ายมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ฯลฯ เว็บไซต์ประชาไทที่กลายเป็นที่ซ่องสุมระดมพลของคนรักระบอบทักษิณ และชิงชังสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทั่งแยกแยะไม่ได้ถึงความผิดถูกชั่วดี

นักวิชาการเหล่านี้มองข้ามความชั่วร้ายของระบอบทักษิณ กระทั่งสำรอกความสามานย์ทางวิชาการออกมา เพื่อทำลายบั่นทอนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ

นักวิชาการด้านสันติวิธีหลายคนนิ่งเฉยที่มีการปลุกปั่นให้คนออกมาทำร้ายพันธมิตรฯ จนบาดเจ็บปางตายที่อุดรธานี มหาสารคาม บุรีรัมย์ ฯลฯ

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนหลายคนเดือดดาลที่ช่อง 11 ในยุครัฐบาลเต่านำรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ของสนธิ ลิ้มทองกุล ไปออกอากาศวันละ 1 ชั่วโมง แต่กลับนิ่งเฉย เมื่อลิ่วล้อของระบอบทักษิณจัดตั้งบริษัทเข้าไปยึดครองช่อง 11 เกือบทั้งสถานี และยังใช้เป็นสถานีบิดเบือนข้อเท็จจริงใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม

การวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของนักวิชาการเหล่านี้จึงเต็มไปด้วยการสร้างวาทกรรมเพื่อบิดเบือน ความมั่วและอคติ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า นี่คือ ยุคแห่งสำนึกผิดถูกชั่วดีไม่ใช่ซ้ายขวาอย่างในอดีต

ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศสงครามครั้งสุดท้ายเพื่อสร้างการเมืองใหม่ ทำลายระบบการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง ปฏิรูปสังคม ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษาเพื่อทำให้บ้านเมืองก้าวเดินไปสู่ท่วงทำนองคลองธรรม

แต่สงครามครั้งสุดท้ายของทักษิณ นักวิชาการแนวร่วมมุมกลับ และพวกระบอบทักษิณมีความหมายที่กว้างไกลกว่านั้น

พวกเขาพกเอาอคติ และความชิงชังมาเป็นธงนำในการก่อสงครามในราชอาณาจักร เพื่อนำไปสู่การโค่นล้มศัตรู และสถาปนาอำนาจใหม่