วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

"สังคมการเมืองที่ไร้อำนาจนำ"





โดย เกษียร เตชะพีระ
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11220 มติชนรายวัน


ที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือสังคมการเมืองที่ไร้อำนาจนำ!

หากนิยาม "อำนาจนำ" (hegemony) ว่าหมายถึงความสามารถในการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของผู้ตาม (leadership by consent) หรือนัยหนึ่งการยอมปฏิบัติตามผู้นำโดยไม่ต้องถูกบังคับ (non-coercive compliance) แล้ว

สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดความขัดแย้งต่อสู้รุนแรงแตกหักบนฐานเครือข่าย-ชนชั้น-อุดมการณ์-ภูมิสังคม-ภูมิภาค-และระบอบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แตกต่างกันในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า "ระบอบ-ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ของไทยเรากำลังตกอยู่ในสภาวะไม่มีอำนาจนำทาง การเมือง

ไม่มีกลุ่มการเมืองใดสามารถกุมการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายต่างๆ ทุกฝ่ายซึ่งอยู่ในฐานะสำคัญทางยุทธศาสตร์ในสังคมไทย

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่มีการนำของกลุ่มการเมืองใดสามารถบันดาลให้พลังยุทธศาสตร์ทุกฝ่ายในสังคมไทยยอมปฏิบัติตามโดยไม่ต้องถูกบังคับ

ในภาวะเช่นนี้ ไม่ว่าสังคมการเมืองใด ระบอบการปกครองไหนก็ย่อมไม่อาจดำรงภาวะปกติสุขอยู่ได้ และย่อมแสดงออกซึ่ง "กลุ่มอาการอำนาจนำเสื่อม" (hegemony deficiency syndrome) ทางการเมือง หนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่?..

- การแบ่งฝ่ายแยกข้างสุดโต่งสุดขั้วทางการเมือง (political polarization)

- ระบอบอำนาจนิยมและการใช้กำลังบังคับทางการเมือง (authoritarianism & political coercion)

- ความขัดแย้งทางชนชั้น (class conflict)

- บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป (no rule of law)

- อนาธิปไตย, รัฐล้มเหลวและการใช้ความรุนแรงก่อการร้ายต่อกัน (anarchy, state failure & terroristic violence)

พูดอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ สภาวะแบบที่เราพบเห็นกันกลางกรุง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม (ม็อบปะทะกัน), 26 สิงหาคม (ทำเนียบรัฐบาลและสถานีเอ็นบีทีถูกบุกยึดครอง), 2 กันยายน (ม็อบปะทะกัน) และตลอดวันที่ 7 ตุลาคม (ม็อบปิดรัฐสภาและปะทะตำรวจ) ศกนี้ รวมทั้งเหตุปะทะประปรายอื่นๆ ตามหัวเมืองต่างจังหวัดเรื่อยมา-แล้วคูณ 10 คูณ 100 เข้าไป!

ฐานรากทางสังคมของกระบวนการนี้คือ การเปลี่ยนย้ายอำนาจ (power shift) จากมือเครือข่ายอำนาจบนฐานพันธมิตรทางชนชั้นเดิมไปสู่เครือข่ายอำนาจบนฐานพันธมิตรทางชนชั้นใหม่ ซึ่งฝ่ายหลังปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่รอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งโดยตั้งใจและไร้เจตนา

ปมปัญหาคือ เราจะสามารถปรับเปลี่ยนเหล่าสถาบันทางการเมืองการปกครองแห่ง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ให้เปิดกว้างทันสมัยยืดหยุ่นเข้มแข็งพอที่จะเป็นกรอบกติกา รองรับการต่อสู้เปลี่ยนแปลงที่ย่อมจะมีมาในกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้นี้หรือไม่?

สถาบันการเมืองการปกครองของเราจะสามารถปฏิรูปปรับตัวเพื่อเป็นช่องทางชักพาโน้มนำความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในวิถีทางแห่งหลักนิติธรรมและระบอบรัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตยและสันติวิธีได้หรือไม่ อย่างไร?

เพื่อการนี้ มีเงื่อนไขจำเป็นจำนวนหนึ่งที่หากเราช่วยกันรักษาไว้ได้ก็อาจพอเอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนย้ายอำนาจคลี่คลายขยายตัว อย่างไม่สร้างความบาดเจ็บเสียหายแก่สังคมไทยโดยรวมเกินไป, ไม่ถึงแก่ทำลายเยื่อใยสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันอันมีมาแต่ก่อนให้ฉีกขาดแตกสลายจนไม่อาจคืนดี กล่าวคือ :-

1) ต้องคัดค้านต่อต้านและโดดเดี่ยวกลุ่มแกนนำที่มีความคิดการเมืองสุดโต่งทั้งสองฝ่าย (anti-fanaticism)

คัดค้านต่อต้านและโดดเดี่ยวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปฏิกิริยาสุดโต่งที่เรียกร้อง "การเมืองใหม่" ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ระบอบรัฐธรรมนูญ

หรือฝ่ายโลกาภิวัตน์สุดโต่งที่ต้องการ "ระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชนฯ"

ไม่ปล่อยให้พวกเขาผูกขาดการนำ ครอบงำขบวนการและยึดกุมการเป็นตัวแทนของคู่ขัดแย้ง

เข้าวิวาทะวิพากษ์วิจารณ์ให้แต่ละฝ่ายเผยแสดงความหลากหลายภายในออกมา

ผลักดันให้กลุ่มแกนนำอื่นที่มีความคิดไม่สุดโต่ง, ปฏิบัตินิยม, ยอมรับและเริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ไม่ตรงและไม่เป็นไปตามอุดมคติ, และพร้อมประนีประนอม เพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ให้ก้าวหน้าต่อไปในกรอบระบอบรัฐธรรมนูญ เสรีประชาธิปไตยและสันติวิธี - ได้ขึ้นมากุมการนำแทน

2) สร้างเงื่อนไขให้แก่การประนีประนอมทางชนชั้นระหว่างคนชั้นกลางชาวเมืองกับคนชั้นล่าง-ชั้นกลางในชนบท (class compromise)

โดยด้านหนึ่งสร้างหลักนโยบายใหม่ที่สามารถโน้มน้าวจูงใจดึงคนชั้นกลาง-ชั้นล่าง ชาวชนบทออกมาจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณเดิมได้

อีกด้านหนึ่งก็พยายามดึงคนชั้นกลางชาวเมืองออกมาจากแนวทางการเมืองแบบขุดรากถอนโคนสุดโต่งสุดขั้วนอกระบบต้านระบบของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผลักดันพลังของพวกเขาให้เข้าสู่ระบบสถาบันการเมืองที่เปิดช่องให้เสียงข้างน้อยซึ่งคัดค้านวิจารณ์ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลนอกคูหาเลือกตั้งมีความหมายและประสิทธิผลจริงในเชิงปฏิบัติ

สุดท้ายสื่อสารมวลชนไม่ว่าจะเป็นของสาธารณะหรือของเอกชน สื่อสิ่งพิมพ์หรืออิเล็กทรอนิกส์ ฟรีทีวีหรือเคเบิลทีวี วิทยุราชการหรือวิทยุชุมชน รวมทั้งเว็บไซต์ต่างๆ พึงใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ ในกรอบที่กำกับด้วยกฎหมายและองค์กรสาธารณะอันชอบธรรม เคารพความจริง สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น โน้มน้าวชักดึงให้คนชั้นต่างๆ ในสังคมไทยเยือกเย็นลง อดทนอดกลั้น หันมาเดินหนทางสายกลางทางการเมือง (political moderation)

กล่าวในแง่นี้ สัญญาณที่สอดคล้องต้องกันจากสถาบันหลักทางประเพณีที่มีทุนทางวัฒนธรรมสูงของสังคมไทยจะช่วยได้มากพอควร

3) ร่วมกันสร้างสรรค์สถาปนา "อำนาจนำที่สาม" (a third hegemony) ขึ้นมาในสังคมไทยให้เป็นทางเลือกทางออกสำหรับคนส่วนใหญ่นอกเหนือไปจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายที่ต่อสู้กันอยู่

โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักนโยบายรัฐสวัสดิการที่เหนือกว่าประชานิยม

สังคมประชาธิปไตย (social democracy) ที่เปิดช่องให้พลังจัดตั้งของผู้ใช้แรงงานถ่วงดุลอำนาจทั้งทุนผูกขาดในประเทศและทุนข้ามชาติ

และนิเวศประชาธรรมที่คำนึงถึงความอยู่รอดยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยในระยะยาว

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คุณภาพประชาธิปไตยไม่มี จะถามหาคุณภาพสังคมจากที่ไหน

โดย ถวิลวดี บุรีกุล สถาบันพระปกเกล้า



ความอึดอัดต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะเดินไปทางใดแน่ ทำให้นักวิชาการหลายคนพยายามแนะทางออกด้วยการมาสานเสวนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่เราพึงปรารถนาต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ยังไม่มีใครรู้ ตราบใดที่คนในประเทศยังแบ่งฝ่าย สภาวการณ์อย่างนี้หากมองในแง่ดีจัดเป็นอาการของการปกครองที่เรียกว่าอยากเป็นประชาธิปไตย เป็นสัญญาณของการตื่นตัวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ

เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนเราจะมีประชาธิปไตยแต่คำพูด เพราะค่อนข้างจะเป็นประชาธิปไตยที่ไร้คุณภาพ อันนำมาสู่สังคมที่ด้อยคุณภาพอีกด้วย

ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่แพร่หลายและหลายประเทศในโลกล้วนมุ่งไปทางนี้ แต่สิ่งที่หลายคนสนใจกลับมิใช่เรื่องการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการอธิบายลักษณะของการปกครองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการศึกษาประชาธิปไตยบางครั้งจึงมองไปที่การที่ประชาธิปไตยได้ฝังลึกเป็นสิ่งที่ดีอยู่ในทางจิตใจของคนในชาติเพียงไร

การปฏิรูปเพื่อปรับปรุงคุณภาพประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าประชาธิปไตยคือสิ่งที่เป็นไปเพื่อสันติสุขสถาพรหรือความยั่งยืน นอกจากนี้ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยมานานก็ยังต้องปฏิรูปเพื่อให้สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้ และคงไม่มีพลเมืองของประเทศใดจะมีความสุขอยู่ได้ ถ้าประเทศของเขามีแต่ความขัดแย้ง จนไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใด เป็นเหตุให้พวกเขาไม่สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้

บางครั้งอาการของความขัดแย้งก็เริ่มจากการเพิ่มขึ้นของการไม่เชื่อมั่นในรัฐ เพราะมีความสงสัยในการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ามีความไม่โปร่งใส ทำงานไม่สนองความต้องการของประชาชน แต่สนองตนเองและพวก เหล่านี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยหลายประเทศ จนจัดได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคของวิกฤตประชาธิปไตยก็ว่าได้

ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรที่ให้การสนับสนุนต่างๆ ต่างพยายามช่วยกันยกระดับการเป็นประชาธิปไตย และเรียกร้องให้มีการคำนึงถึงคุณภาพของประชาธิปไตย แทนการมุ่งสนใจประชาธิปไตยในเรื่องกระบวนการทางการเมือง และการเข้าสู่อำนาจแต่เพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะการที่ประเทศใดมีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ประเทศนั้นย่อมมีสังคมที่มีคุณภาพด้วย สองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน

แลลี่ ไดมอนด์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงคุณภาพประชาธิปไตยต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร

มันคือ การที่ประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่มีสิทธิในการเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งที่อิสระ เที่ยงธรรม มีการแข่งขัน มีพรรคการเมืองเข้าเสนอตัวสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อแข่งขันจริงๆ มากกว่าหนึ่งพรรค และมีแหล่งที่มาของข้อมูลที่เป็นทางเลือกที่หลากหลาย

ไม่ใช่เรื่องของการบังคับดู บังคับฟัง ประชาชนมีอิสระในการรวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองและสามารถรวมตัวในลักษณะของภาคประชาสังคม ตามความเชื่อและความสนใจของพวกเขา

นอกจากนี้สถาบันทางประชาธิปไตยต่างๆ มีอำนาจในตัวเอง ไม่อยู่ใต้อาณัติของชนชั้นนำ หรืออำนาจภายนอกที่ทำให้สถาบันเหล่านั้นไม่สามารถสนองตอบและรับผิดชอบต่อประชาชนได้

ประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร พิจารณาได้จากการบรรลุเป้าหมายของประชาธิปไตย เช่น ประชาธิปไตยในอุดมคติคือการที่พลเมืองมีอิสรภาพ มีอำนาจอธิปไตยที่สามารถควบคุมนโยบาย และเจ้าหน้าที่ที่กำหนดนโยบาย มีความเท่าเทียมกันทางการเมือง ทั้งสิทธิและอำนาจ ตามมาตรฐานของธรรมาภิบาล เช่น การมีความโปร่งใส ความชอบธรรม การมีความรับผิดชอบ การยึดหลักนิติธรรม คุณธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยที่ดีต้องไม่รวมการเป็นประชาธิปไตยแบบเทียมที่มีการเลือกตั้งแบบเผด็จการ กล่าวคือ การเลือกตั้งที่ขาดอิสระและความเที่ยงธรรม ดังนั้น ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพต่ำในประเทศที่มีปัญหาแบบนี้ เพราะสิทธิทางการเมืองมีปัญหา ไม่ยึดหลักนิติธรรม กฎหมายไม่มีความหมาย

คำว่าคุณภาพ จึงต้องการความเข้าใจที่ชัดเจน มิฉะนั้นบางคนจะหลงไปกับการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียมได้

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่พลเมืองสามารถควบคุมนโยบายและผู้กำหนดนโยบาย โดยมีสถาบันต่างๆ ที่มีความชอบธรรมสามารถดำเนินการตามหน้าที่โดยอิสระได้ และมีความมั่นคง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพจึงเป็นการปกครองที่มีความชอบธรรมที่นำมาซึ่งการบรรลุความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล (คุณภาพในลักษณะของผล)

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครองที่ประชาชน สมาคมและชุมชน พอใจต่อสิทธิ เสรีภาพความเท่าเทียมทางการเมือง (คุณภาพในลักษณะเนื้อหา)

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย สามารถติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ทั้งยังประเมินได้ว่ารัฐบาลได้ให้เสรีภาพและความเท่าเทียมทางกฎหมายหรือไม่

คุณภาพประชาธิปไตยแบ่งออกได้เป็นมิติต่างๆ อาทิ

คุณภาพในลักษณะของกระบวนการ ประกอบด้วยนิติธรรม การมีส่วนร่วม การแข่งขันได้ สำนึกรับผิดชอบทั้งทางแนวราบ (ตอบสนองต่อเจ้าหน้าที่รัฐกันเอง) และแนวตั้ง (ที่สนองตอบต่อประชาชน) ซึ่งทั้งหมดมักเป็นเรื่องของกฎระเบียบ และการปฏิบัติ

คุณภาพในลักษณะของการเคารพอิสรภาพของของพลเมือง ตลอดจนการปฏิบัติที่ก้าวหน้า เพื่อความเท่าเทียมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

คุณภาพในเรื่องการสำนึกรับผิดชอบที่เชื่อมมิติกระบวนการกับเนื้อหา โดยที่นโยบาย ที่รวมทั้งกฎหมาย การดำเนินการของสถาบันต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตามกระบวนการทางการเมือง (มิใช่เป็นไปตามความต้องการของชนบางกลุ่ม บางคน)

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของธรรมาภิบาลทั้งสิ้น ดังนั้น โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าหากประชาชนมีฐานะเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ เสรีภาพ มีอิสรภาพ ขณะที่รัฐเองมีสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชน และต่อรัฐเอง มากกว่าสำนึกรับผิดชอบต่อนายทุนหรือชนชั้นนำ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีความโปร่งใสในการทำงานอย่างแท้จริง ประเทศนั้นจะเรียกได้ว่ามีประชาธิปไตยที่คุณภาพ

เมื่อประชาธิปไตยมีคุณภาพ ผลที่ตามมาคือความคาดหวังของประชาชนได้รับการตอบสนอง ประชาชนจะมีการกินดี อยู่ดี มีความสุขใจ รู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สังคมจะมีคุณภาพสูง

คุณภาพสังคมเป็นแนวคิดที่มูลนิธิแห่งยุโรปว่าด้วยคุณภาพสังคมได้ทำการศึกษาและจัดทำตัวชี้วัดไว้ และขณะนี้มีการสร้างเครือข่ายมาทางเอเชียแล้ว คุณภาพสังคมเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกสังคม เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากกว่าการศึกษาเรื่องคุณภาพชีวิต

คุณภาพสังคม เป็นแนวคิดแบบบูรณาการของเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของชีวิตมนุษย์ เป็นเรื่องของการตระหนักตน และการมีส่วนร่วมในการสร้างอัตลักษณ์ที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาของชุมชนภายใต้สภาวการณ์ที่เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นไปตามศัยภาพของแต่ละคน

คุณภาพสังคมเป็นเป้าหมายที่ไม่เพียงเป็นเรื่องนโยบายสังคมแต่รวมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและนโยบายอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 มิติ คือ

1.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่หมายถึงการที่ประชาชนมีความมั่นคงทางทรัพยากร รวมถึงทรัพยากรทางการเงิน ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ และการจ้างงาน

2.การบูรณาการทางสังคม เป็นการที่ประชาชนมีการเข้าถึงและถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันต่างๆ และมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน การเข้าถึงการบริการทางสังคม ทั้งนี้ การบูรณาการทางสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนที่ขาดแคลนทรัพยากร การมีทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เขากลับเข้าสู่กระแสของสังคมปกติได้ ดังนั้น การบูรณาการทางสังคมจึงรวมรูปแบบของสิทธิของความเป็นพลเมือง การคำนึงถึงสถานภาพหญิงชาย การเข้าถึงการจ้างงาน และการบริการที่จัดให้ประชาชน เป็นต้น

3.ความสามัคคีในสังคม เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ในสังคม ค่านิยม บรรทัดฐานและการยอมรับการทำเพื่อส่วนรวม ทั้งนี้ ความสามัคคีในสังคมรวมความไว้วางใจกัน อันประกอบด้วยความไว้วางใจโดยทั่วไปหรือไว้วางใจผู้อื่นนั่นเอง และความไว้วางใจเฉพาะที่หมายถึงความไว้วางใจที่มีต่อสถาบันต่างๆ นอกจากนี้ความสามัคคีในสังคมยังรวมการสร้างเครือข่ายทางสังคม และการมีเอกลักษณ์อีกด้วย

4.การเสริมสร้างพลังทางสังคม เป็นการที่ประชาชนสามารถดำเนินการในด้านมิติต่างๆ ได้ ทั้งยังรวมการเสริมสร้างความสามารถของพวกเขาให้เข้าถึงมิติอื่นๆ ของคุณภาพสังคม เช่น การจัดการความรู้ การมีตลาดแรงงาน การพัฒนาศักยภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาชีวิตของครอบครัว วัฒนธรรมและชุมชน เป็นต้น

เมื่อทำการเชื่อมคุณภาพประชาธิปไตยกับคุณภาพสังคมจะเห็นได้ว่า หากผู้ปกครองประเทศมีธรรมาภิบาล ย่อมสามารถทำหน้าที่บริหารประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม ช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในชาติ พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการมีงานทำของประชาชน ประชาชนมีสวัสดิการที่ดี ประชาชนไว้วางใจกัน ทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม เพื่อเสริมสร้างความเป็นชาติ เกิดสังคมที่มีความสมานฉันท์ เพราะประชาชนมีความสามัคคี และยังไว้วางใจสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองที่ก่อให้เกิดนักปกครองประเทศให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ นั่นคือประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก่อให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพ

แต่เมื่อหันมาจับชีพจรประเทศไทยบนพื้นฐานของคุณภาพประชาธิปไตย คุณภาพสังคมพบว่า คุณภาพประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงดวงดาว เพราะประเด็นของมิติต่างๆ ที่อ่อนแอ

หากจะให้มีการพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตยจริง ต้องพัฒนาทุกมิติ ให้ก้าวไปพร้อมกันกับคุณภาพสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาวิธีคิดที่บ้านเรายังขาดอยู่มาก จนทำให้ไม่สามารถส่งให้เกิดบุคลากรเข้าสู่การเมืองที่มีคุณภาพได้เพียงพอ ไม่สามารถสร้างประชาชนที่มีจิตสำนึกของพลเมืองหรือจิตสาธารณะได้มากพอที่จะช่วยกันผลักดันสังคมไทยไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยบนพื้นฐานของการเน้นคุณภาพประชาธิปไตยได้

เพราะเราลืมการเรียนการสอนเรื่องการศึกษาของพลเมืองไปนานแล้ว

หน้า 7

พระบารมีในหลวง

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11217 มติชนรายวัน
ย้อนหลังกลับไปเกือบ 1 ปี ในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพรปีใหม่แก่ปวงชนชาวไทย ทรงเตือนสติให้คนไทยสามัคคี ทำหน้าที่ของตนให้ดี ช่วยกันประคับประคองบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยดีและเป็นปึกแผ่น ร่มเย็นเป็นสุข ไม่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน ผ่อนปรนเข้าหากันและอย่าก่อปัญหา สร้างเงื่อนไขที่จะสร้างความไม่สงบ แตกแยกในบ้านเมือง

นับจากต้นปีใหม่ 2551 มาถึงวันนี้ใกล้ครบปี จวนจะถึงวันขึ้นปีใหม่ 2552 สถานการณ์บ้านเมืองกลับมีความขัดแย้ง แตกแยกในหมู่คนไทยมากขึ้น ต่างไปจากปี 2550 ประเทศอยู่ในช่วงการรัฐประหาร เพิ่งจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ความขัดแย้ง แตกแยกยังมีไม่เท่าไร

ถอยหลังกลับไปในช่วงต้นปี 2549 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้น ยังไม่เกิดการรัฐประหาร แต่มีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว การจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณยุบสภา มีข้อขัดข้องและความปั่นป่วนวุ่นวายอันเนื่องมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยและมหาชนไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง คนในพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงแข่งขัน กกต.เปลี่ยนคูหาเลือกตั้ง ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่ผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม ณ วังไกลกังวล หัวหิน วันที่ 25 เมษายน 2549 ตอนหนึ่งว่า "เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุดในโลก"

เมื่อมาดูสถานการณ์ ณ เวลานี้ น่าจะกล่าวได้ว่าหนักหนาสาหัสเกินเลย "วิกฤตที่สุดในโลก" ไปมากแล้ว โอกาสจะเกิดสงครามการเมือง เกิดการนองเลือด เกิดมิคสัญญีกลียุคย่อมเป็นไปได้หากผู้เกี่ยวข้องอันได้แก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและฝ่ายที่เป็นคู่กรณีของความขัดแย้งแตกแยก นั่นคือรัฐบาลพรรคพลังประชาชนกับพันธมิตรโดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแนวร่วมไม่รู้จักลดราวาศอก ต่างหนึ่งต้องการเอาชนะ อีกฝ่ายหนึ่งดิ้นรนเพื่อให้รอดจากการเป็นผู้ถูกกระทำโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดกับชีวิตของผู้คนและความย่อยยับของชาติบ้านเมือง

เพื่อเป็นการเรียกสติของคนที่กำลังต่อสู้กันอยู่ให้กลับมา จึงขออัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพรปีใหม่ 2551 มาให้ได้อ่านและน้อมรับใส่เกล้าฯแล้วนำไปสู่การปฏิบัติให้สมกับเป็นผู้ที่พร่ำพูดอยู่ตลอดเวลาว่าจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ดังนี้

"ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ ถึงสาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2551 ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คนและขอขอบใจท่านเป็นอย่างมากในน้ำใจไมตรีที่ทุกคน ทุกฝ่ายแสดงให้เห็นทั้งในคราวที่เจ็บป่วย และในการจัดงานวันครบวันเกิดครบ 80 ปี รวมทั้งได้แสดงความวิตกห่วงใยอย่างจริงใจในการเจ็บป่วยของพี่สาวข้าพเจ้า

สถานการณ์บ้านเมืองเราแต่ปีก่อนและต่อเนื่องมาถึงปีที่แล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แก่ใจ แต่อย่างไรก็ตาม เราได้มีรัฐธรรมนูญและได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นับว่าประเทศชาติของเราได้ผ่านหัวเลี้ยวสำคัญอีกขั้นหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันประคับประคองกิจการของบ้านเมืองให้ดำเนินไปด้วยดี ให้มีความเป็นปึกแผ่นและร่มเย็นเป็นปกติสุข ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือ การทำความคิดให้ถูกตรงและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย แต่ละคน แต่ละฝ่ายจะต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว พยายามโอนอ่อนผ่อนปรนเข้าหากัน ด้วยไมตรีจิตและความเมตตากรุณา อย่าก่อปัญหาและก่อเงื่อนไขอันเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยก ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใดก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปให้ทันการณ์ทันเวลา ผลงานของทุกคนทุกฝ่ายจักได้ประกอบส่งเสริมกัน ให้ประเทศชาติอันเป็นที่อยู่ที่อาศัยของเราดำรงมั่นคงอยู่ด้วยความผาสุก..."

หน้า 2