วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

ทศพิธราชธรรม


ทศพิธราชธรรม โดย นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา

ทศพิธราชธรรม เป็นหัวข้อธรรมะที่มีผู้สนใจกันมาก เพราะเป็นธรรมะของผู้ปกครองโดยทั่วไป มิได้เจาะจงว่าต้องเป็นของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ธรรมะในข้อนี้เป็นของที่บัญญัติขึ้นก่อนสมัยพุทธกาล อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรัชญาทางการเมืองการปกครองของโลกตะวันออก ที่วางกรอบปฏิบัติหรือธรรมนูญของผู้มีอำนาจปกครอง ต่อมานักปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้รับเข้าไว้เป็นธรรมะในศาสนาของตน และผูกเป็นคาถาภาษาบาลี ดังนี้
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหํ สญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปิฎก ได้ให้คำอธิบายดังนี้

“ราชธรรม ๑๐ หรือ ทศพิธราชธรรม (ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมืองธรรมของนักปกครอง)
๑. ทาน (การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์)
๒. ศีล (ความประพฤติดีงาม คือสำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริตรักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน)
๓. ปริจจาคะ (การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ ตลอดจนชีวิตของตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง)
๔. อาชชวะ (ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน)
๕. มัททวะ (ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวลละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดีแต่มิขาดยำเกรง)
๖. ตปะ (ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบครองย่ำยีจิตระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอหรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจให้บริบูรณ์)
๗. อักโกธะ (ความไม่โกรธ คือ ไม่เกรี้ยวกราด ลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำการต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่นวินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง)
๘. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง)
๙. ขันติ (ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อลอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจไม่ยอมทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม)
๑๐. อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความ เอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำที่ดีร้ายลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรมคือความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรมคือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป)

มีที่น่าพิจารณาเป็นพิเศษ คือ ธรรมประการสุดท้าย อวิโรธนะ คำว่า วิโรธนะ ไทยมาทับศัพท์ว่า พิโรธ แปลว่า โกรธ บางคนแปล อวิโรธนะ ว่า ไม่โกรธ ก็จะไปตรงกับ อักโกธะ เป็นการซ้ำกันไป พจนานุกรมบาลี-อังกฤษฉบับของชิลเดอร์ ให้คำแปลว่า Conciliationหมายถึง ความโอนอ่อนผ่อนปรน การประสมประสานสร้างความสามัคคีกลมเกลียว ซึ่งอาจเป็นราช ธรรมที่สำคัญที่สุดในบรรดาทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เพราะหลักวิชาการทางรัฐศาสตร์ก็รับรองต้องกันว่า เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางในทางการเมือง ไม่ทรงฝักใฝ่เป็นข้างเดียวกับพรรคการเมืองใดหรือบุคคลใดในทางการเมือง ดังนั้น คุณประโยชน์อันสำคัญที่สุดที่พระมหากษัตริย์จะทรงทำให้แก่ประเทศชาติ และเป็นเรื่องยากที่ผู้อื่นจะสามารถทำได้ คือ การประสมประสานสร้างความสามัคคีในชาติ เป็นธรรมดาที่ผลประโยชน์ทางการเมืองอาจทำให้เกิดความแตกแยกในระหว่างพรรคการเมือง หรือการแก่งแย่งแข่งดีในระหว่างบุคคลสำคัญของชาติ แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะของทุกพรรคทุกฝ่ายและเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า ทรงยึดมั่นต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นใหญ่ ดังนั้น ทุกๆ ฝ่ายจึงยอมประนีประนอมข้อขัดแย้งต่างๆ ถวายพระองค์ได้

ธรรมอีกหมวดหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องทรงยึดถือปฏิบัติ คือ จักรวรรดิวัตร ๑๒ ได้แก่
๑. อันโตชนัสมิง พลกายัสมิง สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร
๒. ขัตติเยสุ สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย
๓. อนุยันเตสุ สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ข้าราชบริพาร
๔. พราหมณคหปติเกสุ คุ้มครองพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
๕. เนคมชานปเทสุ คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย
๖. สมณพราหมเณสุ คุ้มครองเหล่าพราหมณ์ที่เป็นสมณะ
๗. มิคปักขีสุ คุ้มครองเนื้อและนกที่มีไว้สืบพันธุ์
๘. อธัมมการปฏิกเขโป ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม
๙. อธนานัง ธนานุปปทานัง ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์
๑๐. สมณพราหมเณ อุปสังกมิตวาปัญหาปุจฉนัง เข้าไปหาและสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์
๑๑. อธัมมราคัสส ปหานัง เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม
๑๒. วิสมโลภัสส ปหานัง เว้นโลภกล้าไม่เลือกควรไม่ควร

ส่วนคตินิยมที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระธรรมิกราชนั้น จะเห็นได้จาก จกฺกวตฺติ สุตฺต ซึ่งอธิบายลักษณะแห่งพระจักรพรรดิ ดังนี้

“วัตร คือ หน้าที่ของพระจักรพรรดิจะต้องเป็นผู้นิยมนับถือธรรม เป็นผู้สนับสนุนธรรม จะต้องเอาพระทัยใส่คุ้มครองรักษาบรรดาผู้อาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของพระองค์ คือ ผู้เป็นอันโตชน ผู้เป็นพลกาย ผู้เป็นขัตติย ผู้เป็นอนุยันตติดสอยห้อยตาม ผู้เป็นพราหมณ์คหบดีผู้เป็นชาวบ้านชาวชนบท ผู้เป็นสมณพราหมณ์ตลอดจนสัตว์สี่เท้าสองเท้า ต้องทรงสอดส่องมิให้มีการอธรรมเกิดขึ้นในแว่นแคว้นของพระองค์และเกื้อกูลคนจนด้วย
อนึ่ง เมื่อผู้มีศีลรู้จักสำรวมตน และปฏิบัติตนเพื่อความดีมาสู่พระองค์ และทูลถามถึงอะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิดอะไรชอบ อะไรพึงทำอะไรพึงเว้น พระองค์จะต้องฟังเขาโดยตลอดแล้วห้ามปรามเขาอย่าให้ไปทางที่ชั่ว สนับสนุนให้เขาไปในทางที่ดี ดังนี้”

และมีธรรมอีกหัวข้อหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์จะต้องพึงปฏิบัติคือ ราชสังคหวัตถุ ๔ อันควรกล่าวไว้ให้สมบูรณ์ ได้แก่
๑. สัสสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร)
๒. ปริสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)
๓. สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรมเป็นต้น)
๔. วาจาเปยยะ (ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูดรู้จักปราศรัยไพเราะ สุภาพนิ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและความเชื่อถือ)

อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยแต่โบราณมี ๒ มิติ คือ ทรงเป็นที่ตั้งของอำนาจสูงสุดของมนุษย์ในสังคมการเมืองส่วนอีกมติหนึ่งด้วยเหตุที่ทรงเป็นสมมติเทพ จึงทรงเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างอำนาจหรืออานุภาพของธรรม กับความเป็นไปของสังคมการเมืองของมนุษย์โดยส่วนรวม ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสว่าในเมืองไทยนี้ แม้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็โทษพระเจ้าแผ่นดิน พระราชจริยวัตรของพระมหากษัตริย์จึงเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม การเมืองตามโลกทัศน์แบบไตรภูมิ ดังคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา แต่งเมื่อพุทธศัก ราช ๒๓๔๕ บรรยายถึงสายสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนนี้ว่า

“ถ้าท้าวพระยาทั้งปวงไม่เป็นธรรม พระยาอุปราชแลเสนาบดีแลเศรษฐีทั้งปวงไม่เป็นธรรมแล้วไพร่ฟ้าประชากรชาวพระนครแต่บรรดาที่อยู่ในเขตแคว้นสิ้นทั้งปวงนั้น ก็จะไม่เป็นธรรม ตลอดทั้งวังจังหวัดขอบขัณฑสีมา ฝ่ายเทพยดาที่พิทักษ์รักษามนุษย์ทั้งปวง ครั้นมนุษย์ไม่เป็นธรรมแล้ว ก็จะพลอยไม่เป็นธรรมไปด้วยสิ้น ... ครั้นเทพยดาและพรหมทั้งหลายไม่เป็นธรรมแล้ว พระจันทร์แลพระอาทิตย์ก็จะเวียนไปมิได้เสมอ ... ลมก็จะพัดวิปริต... ฝนก็จะไม่ตกชอบฤดู ... แผ่นดินนั้นก็จะหาโอชะบ่มิได้ ... อาหารสรรพสิ่งทั้งปางนั้นแต่ล้วนปราศจากโอชะไปสิ้นด้วยกัน ... สรรพว่านยาต่าง ๆ แต่บรรดาที่เป็นโอสถระงับโรคนั้นจะปราศจากโอชะสิ้นทุกสิ่งทุกประการ”

ดังนั้นจารีตประเพณีในสังคมไทยจึงเน้นย้ำเป็นพิเศษถึงทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการและจักรวรรดิวัตรจรรยา ๑๒ ประการ ของผู้ปกครองบ้านเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระราชาคณะผู้ถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเศษกถา ก็จะต้องนำธรรมดังกล่าวมาอธิบายขยายความ แสดงถวายพระมหากษัตริย์อยู่เสมอการละเลยหรือหละหลวมในวัตรปฏิบัติเหล่านี้จึงเชื่อกันว่า จะก่อให้เกิดความระส่ำระสายในโครงสร้างแห่งอำนาจทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างจนกระทั่งในที่สุดแล้ว อาจก่อให้เกิดความหายนะแก่สังคมมนุษย์หรือบ้านเมืองได้ จึงมีเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่อ้างความชอบธรรมทำรัฐประหาร ตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์แทน

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

อำมาตยาธิปไตย

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
(www.dhiravegin.com, likhit@ dhiravegin.com)
ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง
มหาวิทยาลัยเกริก

คำว่า อำมาตยาธิปไตย เป็นคำซึ่งนักวิชาการไทยแปลมาจากนักวิชาการชาวอเมริกันชื่อ เฟรดริกส์ (Fred Riggs) ผู้ซึ่งเคยทำการวิจัยในเมืองไทยและฟิลิปปินส์ โดยวิเคราะห์สังคมไทยในยุคที่ทหารมีอำนาจในการปกครองบริหาร ได้แก่ ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร และสรุปไว้ว่า จากการที่สังคมไทยอ่อนแอในภาคสังคมทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานเนื่องจากการขัดจังหวะด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้สภาพการปกครองบริหารกลายเป็นการปกครองโดยองค์กราธิปไตย มาจากองค์กร + อธิปไตย ตัวบุคคลคือองค์กราธิปัตย์นั้นเฟรดริกส์ใช้คำภาษาอังกฤษว่า bureaucratic polity คือการบริหารปกครองโดยหน่วยงาน คำว่า polity คือ สังคมการเมือง

เพราะฉะนั้น คำว่า bureaucratic polity ก็คือการปกครองซึ่งอำนาจการปกครองบริหารตั้งแต่เริ่มต้นการวางนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ การจัดการงบประมาณขึ้นอยู่กับข้าราชการประจำ ในขณะเดียวกันอำนาจการเมืองก็ขึ้นอยู่กับข้าราชการทหาร ซึ่งมีกองกำลังจัดตั้งและได้อำนาจมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร โดยมีการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมเป็นระยะๆ ที่สำคัญคือ ตัวผู้บริหารประเทศสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีมักจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และมักจะเป็นนายทหารที่มีกองทัพสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ส่วนการเลือกตั้งก็เป็นไปตามครรลองเพื่อให้ครบถ้วนของลักษณะประชาธิปไตยซึ่งมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันก็มีวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้ง การปกครองเช่นนี้คือ ข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน นักวิชาการบางคนกล่าวว่าน่าจะใช้คำว่า เสนาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงนั้น ทหารกุมอำนาจการเมือง แต่การบริหารทั่วไปอยู่ในมือข้าราชการประจำ เพราะเป็นผู้ที่มีข้อมูล ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนจึงอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน

ในอดีตนั้นหน่วยงานหลักที่สำคัญที่สุดคือ กระทรวงกลาโหมและมหาดไทย นอกจากนั้นก็มีเวียง วัง คลัง นา ต่อมาก็มีกรมท่าซึ่งดูแลการค้าขายระหว่างประเทศ และทำหน้าที่เป็นกระทรวงการต่างประเทศด้วยในตัว มีทั้งกรมท่าซ้าย กรมท่ากลาง และกรมท่าขวา ดูแลการค้าขายกับฝั่งทะเลแปซิฟิก อันดามันและมหาสมุทรอินเดีย และตามมาด้วยหน่วยงานอื่นๆ เมื่อมีการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2435 ในยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

คำว่า อำมาตยาธิปไตย จึงมีที่มาจากที่กล่าวมาเบื้องต้น โดยมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นดังต่อไปนี้คือ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา จนถึงการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ นายกรัฐมนตรีในช่วง 25 ปีดังกล่าวนี้ได้แก่บุคคลที่มีภูมิหลังมาจากทหาร 3 คน โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งประมาณ 14 ปีครึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งประมาณ 5 ปีกว่า หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งประมาณ 1 ปี ใน 25 ปีนี้ 21 ปีครึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของทหาร และ 3 ปีกว่าๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สองก็อยู่ในอำนาจของผู้ก่อการ 2475 ซึ่งหลายคนก็เป็นข้าราชการพลเรือน

หลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวประมาณ 90 วัน หลังการเลือกตั้งพลโทถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึง 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญและมีการประกาศธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 20 มาตรา ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐบาลทหารที่มีการใช้อำนาจเด็ดขาดคือมาตรา 17 จากนั้นก็ถึงแก่อสัญกรรม และจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้ดำรงตำแหน่งต่อมาจนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2514 ก็ได้ปฏิวัติตัวเอง และกลับไปสู่ระบบทหารอย่างเต็มเปี่ยมจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ข้อที่จะต้องชี้ให้เห็นชัดก็คือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 41 ปี นายกรัฐมนตรีที่มาจากภูมิหลังนายทหารและโดยยุคหลังมาจากการปฏิวัติรัฐประหารเป็นเวลาทั้งสิ้น 38 ปี นี่คือที่มาของคำว่า bureaucratic polity ซึ่งมีการแปลเป็นไทยว่า อำมาตยาธิปไตย เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือความพยายามของอำมาตยาธิปัตย์ที่จะกลับมาสู่อำนาจอีก

แต่เนื่องจากสังคมไทยได้เปลี่ยนไปในแง่เศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ค่านิยมทางสังคม รวมทั้งอิทธิพลจากภายนอกได้แก่การขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ระบบอำมาตยาธิปไตยแบบเก่าจะไม่ได้ผล จึงมีการผสมผสานแบบ “ประสานประโยชน์” ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2521 นำไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประมาณหนึ่งปีครึ่ง และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประมาณ 8 ปี 5 เดือน รวมเบ็ดเสร็จ 10 ปี ประชาธิปไตยครึ่งใบคือการผสมผสานระหว่างอำมาตยาธิปไตยบวกประชาธิปไตย หรือกลุ่มอำมาตยาธิปัตย์บวกประชาธิปัตย์ (ไม่ใช่ชื่อพรรค แต่หมายถึงผู้ที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า democrat โดยใช้ d เป็นตัวเล็ก)

หลังจากรัฐบาลเปรม 5 ไปแล้วได้มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แม้จะเป็นทหารแต่ก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 3 ปีกว่าก็ถูกปฏิวัติโดยคณะรสช.ระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญและนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นก็มีการเตรียมการที่จะให้ผู้ดำรงตำแหน่งทหาร คือ พลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากพลเอกสุจินดามิได้มาจากการเลือกตั้งกล่าวคือไม่ได้เป็น ส.ส.จึงเป็นจุดของการถูกโจมตี และได้นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวนายอานันท์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ภารกิจสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ รสช.ประเด็นสำคัญที่สุดคือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เกิดนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนคือ นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (แม้เป็นอดีตทหารแต่ก็ผ่านการเลือกตั้ง) และนายชวนอีกครั้งหนึ่ง จนมาถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

รัฐบาลที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่นายชวน 1 คือรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลระบอบประชาธิปไตย ทหารไม่มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง หลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 มีรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อยู่ในตำแหน่ง 15 เดือน นั่นคือ 15 เดือนของอำมาตยาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง แม้จะไม่มีพฤติกรรมเป็นเผด็จการทหารแต่ที่มาก็ยังเป็นแบบอำมาตยาธิปไตย และหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็กลับมาอีกครั้งหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ในแง่โครงสร้างต้องกล่าวว่า ระบบการปกครองแบบปัจจุบันคือระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยถึงแม้จะมีความไม่สมบูรณ์และบกพร่องก็ตาม

อย่างไรก็ตาม อำมาตยาธิปไตยยังอาจจะมองได้จากมิติอื่น คือ มิติของการมีทัศนคติแบบอำมาตยาธิปัตย์ หรือการที่รัฐบาลประชาธิปไตยถูกอิทธิพลผลักดันทางการเมืองจากคนที่เป็นอำมาตยาธิปัตย์ แต่แม้กระนั้นก็ตามการตัดสินนโยบายต่างๆ ย่อมขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น แม้จะมีอำมาตยาธิปัตย์มีบทบาทอยู่ส่วนหนึ่ง แต่โดยเนื้อหาในโครงสร้างจะต้องสรุปว่าระบบการเมืองปัจจุบันเป็นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์เนื่องจากรัฐธรรมนูญ หรือเนื่องจากการขาดความอิสระอย่างเต็มที่ในความเป็นจริงในระดับหนึ่งก็ตาม

คำว่า อำมาตยาธิปไตย ในหลักวิชาการจึงมีความหมายดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนการใช้คำว่า อำมาตยาธิปไตย ประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ในการรณรงค์ทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่ทำได้ตามหลักการสิทธิเสรีภาพ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและพิจารณาของประชาชนว่าจะมีน้ำหนักน้อยเพียงใด และแม้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามโครงสร้างนั้นก็ยังมีจุดที่บกพร่องอยู่ 3 จุด คือ

ก. พรรคการเมืองไม่บริหารแบบประชาธิปไตย เป็นเพียงการจัดตั้งที่จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น

ข. การเลือกตั้งมิได้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม แต่มีการซื้อเสียง จึงกลายเป็นเพียงการประกอบพิธีกรรมการหย่อนบัตร

ค. ผู้มีอำนาจเงินยังเป็นผู้กุมอำนาจรัฐโดยใช้กระบวนการทางการเมืองและสังคมที่อ่อนแอเป็นประโยชน์

ดังนั้น ประชาธิปไตยที่กล่าวมาแล้วในความเป็นจริงคือ ธนาธิปไตย (plutocracy) คืออำนาจตกอยู่ในมือของคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง และการใช้อำนาจรัฐหรือการเกาะเกี่ยวอำนาจรัฐเพื่อทำธุรกิจและฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นก็ทำให้ระบบประชาธิปไตยตามรูปแบบกลับกลายเป็นโจราธิปไตย (kleptocracy)

ถ้ามองแบบรูปแบบล้วนๆ ก็ต้องกล่าวว่า ปัจจุบันนี้ระบบการเมืองไทยเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย แต่คนซึ่งมีลักษณะเป็นอำมาตยาธิปัตย์ที่ยังอยู่ในระบบราชการหรือที่อยู่ในหรือนอกระบบการเมืองก็อาจจะมีอยู่ ขณะเดียวกัน ถ้าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยดังที่กล่าวมาประกอบด้วยคนมีเงินที่กุมอำนาจรัฐก็คือระบบธนาธิปไตยในความเป็นจริงในระดับหนึ่ง

และถ้าอยู่ภายใต้อำนาจของอำมาตยาธิปัตย์ก็จะกลายเป็นการผสมผสานประชาธิปไตย + ธนาธิปไตย + อำมาตยาธิปไตย ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าสภาวะดังกล่าวสะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองก็อาจจะถือได้ว่าระบบการปกครองของไทยกลายเป็นระบบพิเศษเฉพาะตัว สอดคล้องกับที่เฟรดริกส์เคยตั้งเป็นระบบที่สาม ผสมผสานระหว่างระบบที่หนึ่งและสองเข้าด้วยกัน โดยอาจจะอยู่อย่างถาวรไม่ใช่เพียงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งเฟรดริกส์เรียกว่า Prismatic Model

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงประชาธิปไตยเต็มใบคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกนาน หรืออาจจะไม่มีการพัฒนาจนสำเร็จได้เลย เพราะค่านิยมและวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า จึงอาจจะกลายเป็นระบบผสมผสาน ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตคือประชาธิปไตยครึ่งใบ Prismatic Model ของเฟรดริกส์อาจจะปรากฏขึ้นจากวิวัฒนาการดังกล่าว และเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทย เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยแบบญี่ปุ่นโดยพรรคการเมืองของญี่ปุ่นนั้นประกอบด้วยกลุ่มการเมืองต่างๆ หลายกลุ่ม เช่นเดียวกับระบบการเมืองของไทย

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552

การเลือกตั้ง (Election)

*Representative Democracy
*Free and Fair

หลักการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
หลักทั่วไป
หลักอิสระ
มีระยะเวลา
การลงคะแนนลับ
หนึ่งคนหนึ่งเสียง
ความบริสุทธิ์ยุติธรรม


ระบบการเลือกตั้ง

-ระบบการเลือกตั้งตามเสียงข้างมาก(Majority System)
-ระบบการเลือกตั้งตามสัดส่วน (Proportional Representation Electoral System)

การรัฐประหาร


ความหมาย
การใช้ความรุนแรงทางการเมืองอย่างปัจจุบันทันด่วนเหนือความคาดหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายบ้านเมือง โดยมีจุดประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศและจัดตั้งคระรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ผู้ก่อการรัฐประหาร
รูปแบบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้การรัฐประหารประสบความสำเร็จ

ประชาชนไม่ชอบมีส่วนร่วมทางการเมือง
ต้องเป็นองค์กรลับ
ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ
ต้องไม่ให้ประชาชนรังเกียจ

วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นักประดิษฐ์คำ


วันที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11229 มติชนรายวัน

หากเอ่ยชื่อ "ธีรยุทธ บุญมี" อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากคนทั่วไปจะรู้จักเขาในฐานะ "คนเดือนตุลา" แล้ว ระยะหลังนักวิชาการคนนี้ถูกตั้งฉายา "เสื้อกั๊กขาประจำ" ในฐานะ "นักประดิษฐ์คำ" ทางการเมือง

เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เสมือนเป็นกระจกสะท้อนความเป็นจริงที่ประชาชนกำลังมองรัฐบาลอยู่ ในทุกปี ปีละครั้ง..?

ไล่ลำดับความย้อนหลัง "ฉายาทางการเมือง" ที่ "นักประดิษฐ์คำ" ผู้นี้ได้แต้มแต่งสีสันให้กับวงการเมืองไทย นับว่ามีทั้งแสบๆ คันๆ และปวดจี๊ดเข้าขั้วหัวใจ..

ล่าสุด ตั้ง "ฉายา" ให้กับ "รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์" ว่าเป็นรัฐบาล "ชายกระโปรง" ในภาวะที่ม็อบพันธมิตรบุกปิดสนามบิน 2 แห่ง ท่ามกลางสังคมเรียกร้องให้รัฐบาลสมชาย แสดงความรับผิดชอบ

ความหมาย "รัฐบาลชายกระโปรง" มีนัยยะว่า รัฐบาลที่จะอยู่ในอำนาจเพื่อจ้องหาผลประโยชน์ และรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นเพราะ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมี "อุบาทว์พญายมหน้าเหลี่ยมเข้าแทรก" โดยใช้ลีลายึกยักในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเกิดวิกฤตบานปลาย

เจ็บ...จี๊ดดดดดดดดดดดด..!!!!

สมัย "รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช" และพรรคพลังประชาชน เขาให้ฉายาว่า "รัฐบาลลูกกรอก 1" ในฐานะเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย ซึ่ง "ลูกกรอก" คณะนี้มีระดับผู้นำอยู่ 2 ตน คือ "รักเลี้ยบ ยมมิ่ง" มีฤทธิ์เดชฉกาจฉกรรจ์ ส่วนหัวหน้าคณะลูกกรอกมี 2 ตน เป็น "กุมารทองคะนองฤทธิ์" และ "กุมารทองคะนองปาก" โดยกุมารทองทั้ง 2 ตนนี้จะทะเลาะกับผู้คนไปทั่ว ทำให้รัฐบาลอยู่ในฐานะมีอำนาจแต่ปกครองไม่ได้

ใน "รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" ก็ถูกขนานนามให้เป็น "รัฐบาลฤๅษีเลี้ยงเต่า" ทำงานแบบต้วมเตี้ยม ไปคนละทิศคนละทาง เป็นจำพวกเทคโนแครตสูงอายุ ทำให้มีความเชื่อไปคนละทาง รวมทั้งยังเป็น "โรคต่อมความดีโตและต่อมอำนาจโต" จนไม่คิดล้างระบอบทักษิณ

แถมยังได้พาดพิงไปถึง "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) ให้ไล่ไปเล่น "ลิเกการเมือง" ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. รับบทเป็น "บังธิมาออกแขก" และมี พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์อาวุโส บรรเลงเพลงออกแขกแต่เชื่องช้าคล้ายเพลง 3 ชั้น

สมัย "รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร" เริ่มต้นจากปี 2549 ตั้งฉายา "รัฐบาลเสียสติแห่งชาติ" เมื่อนายกฯทักษิณออกมาประกาศตั้ง "รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ" โดยเชิญพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตร มาร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยขนานนาม "ทักษิณ" ว่าเป็น "แม้ว จ๊กมก" เสียสติ เห็นระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องตลก

หากย้อนไปปี 2548 แสบถึงทรวง เมื่อ "ธีรยุทธ" ออกมาวิพากษ์ว่า พรรคไทยรักไทยจะนำไปสู่เผด็จการบุคคล ทำให้เกิดสภาพ "คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย" มีผลประโยชน์ทับซ้อน นำไปสู่การคอร์รัปชั่นแบบ "โคตรานุวัตร" หรือ Kotraization คือไม่ใช่เพียงโคตรเดียวที่โกง แต่หลายสิบโคตร

รวมทั้งฉายา "ษิณเจริญเชิญแขก" คือเอาประเทศชาติมาลวกเรียกญาติ บริวาร และต่างชาติมาร่วมยำกินกัน เปรียบการเมือง "ซูเปอร์-ยำ" เป็น "อัคร-ยำ-ประเทศ" ส่วน "ทักษิณ" ก็เก่งคนเดียวยกชั้นจาก "ซูเปอร์นายกฯ" เป็น "อัครนายกฯ" และยังเปรียบสมาชิกไทยรักไทย เป็นแค่ "ใต้เท้าสกุลชิน"

ต้นปี 2546 วิจารณ์ "ม.แม้ว" ว่าสร้างการเมืองระบบ "ทักษิณนุวัตร" หรือ Thaksinization แปลว่าหมุนไปตามทิศทักษิณ หรือเป็นไปตามทักษิณ จะนำพาประเทศผิดพลาดด้วยการใช้อำนาจอย่างอหังการ ทำให้เกิด "ระบอบทุษิณ" หรือ "รัฐบาลทุษิณ"

ในยุคพรรคประชาธิปัตย์ สมัย "รัฐบาลนายชวน หลีกภัย" ก็ได้ฉายาสมตัว "จอมนินจาหลักการ" คือการเลือกใช้หลักการ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและจะใช้อีกหลักการหนึ่งทันที เมื่อไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ทำให้หลักการของ "นายหัวชวน" จึงขัดแย้งกันเองมาตลอด แถมชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ

ปี 2540 "รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" บัญญัติศัพท์คำว่า "จิ๋วสองใจ" ซึ่งเอามาจากบุคลิกผู้นำโลเล และสร้างปัญหาให้ประเทศ ที่จำกันได้คือ "วิกฤตค่าเงินบาทลอยตัว"

ปี 2539 สมัย "รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา" ก็ถูกวิพากษ์ว่าเป็น "หลงจู๊หมดเครดิต" เพราะด้วยบุคลิกการบริหารประเทศแบบเถ้าแก่ของ "บรรหาร" ที่ไม่มีภาพความเป็นมืออาชีพ ตามไม่ทันโลกสมัยใหม่ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า จะทำให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้ไม่นาน

ต้องยอมรับว่า การประดิษฐ์คำของ "ธีรยุทธ บุญมี" นอกจากจะเป็นสีสันของการเมืองแล้ว สาระโครงสร้างความคิดยังหนักแน่นทำให้เห็นภาพของรัฐบาลชุดนั้นๆ

หากแต่การประดิษฐ์คำดังกล่าว คงมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ

บางครั้งก็มาแบบถูกที่ถูกเวลา แต่ระยะหลังๆ มี "ผิดคิว" อยู่บ่อยๆ..??

หน้า 11

วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

"สังคมการเมืองที่ไร้อำนาจนำ"





โดย เกษียร เตชะพีระ
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11220 มติชนรายวัน


ที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือสังคมการเมืองที่ไร้อำนาจนำ!

หากนิยาม "อำนาจนำ" (hegemony) ว่าหมายถึงความสามารถในการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของผู้ตาม (leadership by consent) หรือนัยหนึ่งการยอมปฏิบัติตามผู้นำโดยไม่ต้องถูกบังคับ (non-coercive compliance) แล้ว

สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดความขัดแย้งต่อสู้รุนแรงแตกหักบนฐานเครือข่าย-ชนชั้น-อุดมการณ์-ภูมิสังคม-ภูมิภาค-และระบอบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แตกต่างกันในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า "ระบอบ-ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ของไทยเรากำลังตกอยู่ในสภาวะไม่มีอำนาจนำทาง การเมือง

ไม่มีกลุ่มการเมืองใดสามารถกุมการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายต่างๆ ทุกฝ่ายซึ่งอยู่ในฐานะสำคัญทางยุทธศาสตร์ในสังคมไทย

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่มีการนำของกลุ่มการเมืองใดสามารถบันดาลให้พลังยุทธศาสตร์ทุกฝ่ายในสังคมไทยยอมปฏิบัติตามโดยไม่ต้องถูกบังคับ

ในภาวะเช่นนี้ ไม่ว่าสังคมการเมืองใด ระบอบการปกครองไหนก็ย่อมไม่อาจดำรงภาวะปกติสุขอยู่ได้ และย่อมแสดงออกซึ่ง "กลุ่มอาการอำนาจนำเสื่อม" (hegemony deficiency syndrome) ทางการเมือง หนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่?..

- การแบ่งฝ่ายแยกข้างสุดโต่งสุดขั้วทางการเมือง (political polarization)

- ระบอบอำนาจนิยมและการใช้กำลังบังคับทางการเมือง (authoritarianism & political coercion)

- ความขัดแย้งทางชนชั้น (class conflict)

- บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป (no rule of law)

- อนาธิปไตย, รัฐล้มเหลวและการใช้ความรุนแรงก่อการร้ายต่อกัน (anarchy, state failure & terroristic violence)

พูดอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ สภาวะแบบที่เราพบเห็นกันกลางกรุง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม (ม็อบปะทะกัน), 26 สิงหาคม (ทำเนียบรัฐบาลและสถานีเอ็นบีทีถูกบุกยึดครอง), 2 กันยายน (ม็อบปะทะกัน) และตลอดวันที่ 7 ตุลาคม (ม็อบปิดรัฐสภาและปะทะตำรวจ) ศกนี้ รวมทั้งเหตุปะทะประปรายอื่นๆ ตามหัวเมืองต่างจังหวัดเรื่อยมา-แล้วคูณ 10 คูณ 100 เข้าไป!

ฐานรากทางสังคมของกระบวนการนี้คือ การเปลี่ยนย้ายอำนาจ (power shift) จากมือเครือข่ายอำนาจบนฐานพันธมิตรทางชนชั้นเดิมไปสู่เครือข่ายอำนาจบนฐานพันธมิตรทางชนชั้นใหม่ ซึ่งฝ่ายหลังปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่รอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งโดยตั้งใจและไร้เจตนา

ปมปัญหาคือ เราจะสามารถปรับเปลี่ยนเหล่าสถาบันทางการเมืองการปกครองแห่ง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ให้เปิดกว้างทันสมัยยืดหยุ่นเข้มแข็งพอที่จะเป็นกรอบกติกา รองรับการต่อสู้เปลี่ยนแปลงที่ย่อมจะมีมาในกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้นี้หรือไม่?

สถาบันการเมืองการปกครองของเราจะสามารถปฏิรูปปรับตัวเพื่อเป็นช่องทางชักพาโน้มนำความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในวิถีทางแห่งหลักนิติธรรมและระบอบรัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตยและสันติวิธีได้หรือไม่ อย่างไร?

เพื่อการนี้ มีเงื่อนไขจำเป็นจำนวนหนึ่งที่หากเราช่วยกันรักษาไว้ได้ก็อาจพอเอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนย้ายอำนาจคลี่คลายขยายตัว อย่างไม่สร้างความบาดเจ็บเสียหายแก่สังคมไทยโดยรวมเกินไป, ไม่ถึงแก่ทำลายเยื่อใยสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันอันมีมาแต่ก่อนให้ฉีกขาดแตกสลายจนไม่อาจคืนดี กล่าวคือ :-

1) ต้องคัดค้านต่อต้านและโดดเดี่ยวกลุ่มแกนนำที่มีความคิดการเมืองสุดโต่งทั้งสองฝ่าย (anti-fanaticism)

คัดค้านต่อต้านและโดดเดี่ยวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปฏิกิริยาสุดโต่งที่เรียกร้อง "การเมืองใหม่" ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ระบอบรัฐธรรมนูญ

หรือฝ่ายโลกาภิวัตน์สุดโต่งที่ต้องการ "ระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชนฯ"

ไม่ปล่อยให้พวกเขาผูกขาดการนำ ครอบงำขบวนการและยึดกุมการเป็นตัวแทนของคู่ขัดแย้ง

เข้าวิวาทะวิพากษ์วิจารณ์ให้แต่ละฝ่ายเผยแสดงความหลากหลายภายในออกมา

ผลักดันให้กลุ่มแกนนำอื่นที่มีความคิดไม่สุดโต่ง, ปฏิบัตินิยม, ยอมรับและเริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ไม่ตรงและไม่เป็นไปตามอุดมคติ, และพร้อมประนีประนอม เพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ให้ก้าวหน้าต่อไปในกรอบระบอบรัฐธรรมนูญ เสรีประชาธิปไตยและสันติวิธี - ได้ขึ้นมากุมการนำแทน

2) สร้างเงื่อนไขให้แก่การประนีประนอมทางชนชั้นระหว่างคนชั้นกลางชาวเมืองกับคนชั้นล่าง-ชั้นกลางในชนบท (class compromise)

โดยด้านหนึ่งสร้างหลักนโยบายใหม่ที่สามารถโน้มน้าวจูงใจดึงคนชั้นกลาง-ชั้นล่าง ชาวชนบทออกมาจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณเดิมได้

อีกด้านหนึ่งก็พยายามดึงคนชั้นกลางชาวเมืองออกมาจากแนวทางการเมืองแบบขุดรากถอนโคนสุดโต่งสุดขั้วนอกระบบต้านระบบของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผลักดันพลังของพวกเขาให้เข้าสู่ระบบสถาบันการเมืองที่เปิดช่องให้เสียงข้างน้อยซึ่งคัดค้านวิจารณ์ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลนอกคูหาเลือกตั้งมีความหมายและประสิทธิผลจริงในเชิงปฏิบัติ

สุดท้ายสื่อสารมวลชนไม่ว่าจะเป็นของสาธารณะหรือของเอกชน สื่อสิ่งพิมพ์หรืออิเล็กทรอนิกส์ ฟรีทีวีหรือเคเบิลทีวี วิทยุราชการหรือวิทยุชุมชน รวมทั้งเว็บไซต์ต่างๆ พึงใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ ในกรอบที่กำกับด้วยกฎหมายและองค์กรสาธารณะอันชอบธรรม เคารพความจริง สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น โน้มน้าวชักดึงให้คนชั้นต่างๆ ในสังคมไทยเยือกเย็นลง อดทนอดกลั้น หันมาเดินหนทางสายกลางทางการเมือง (political moderation)

กล่าวในแง่นี้ สัญญาณที่สอดคล้องต้องกันจากสถาบันหลักทางประเพณีที่มีทุนทางวัฒนธรรมสูงของสังคมไทยจะช่วยได้มากพอควร

3) ร่วมกันสร้างสรรค์สถาปนา "อำนาจนำที่สาม" (a third hegemony) ขึ้นมาในสังคมไทยให้เป็นทางเลือกทางออกสำหรับคนส่วนใหญ่นอกเหนือไปจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายที่ต่อสู้กันอยู่

โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักนโยบายรัฐสวัสดิการที่เหนือกว่าประชานิยม

สังคมประชาธิปไตย (social democracy) ที่เปิดช่องให้พลังจัดตั้งของผู้ใช้แรงงานถ่วงดุลอำนาจทั้งทุนผูกขาดในประเทศและทุนข้ามชาติ

และนิเวศประชาธรรมที่คำนึงถึงความอยู่รอดยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยในระยะยาว

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คุณภาพประชาธิปไตยไม่มี จะถามหาคุณภาพสังคมจากที่ไหน

โดย ถวิลวดี บุรีกุล สถาบันพระปกเกล้า



ความอึดอัดต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะเดินไปทางใดแน่ ทำให้นักวิชาการหลายคนพยายามแนะทางออกด้วยการมาสานเสวนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่เราพึงปรารถนาต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ยังไม่มีใครรู้ ตราบใดที่คนในประเทศยังแบ่งฝ่าย สภาวการณ์อย่างนี้หากมองในแง่ดีจัดเป็นอาการของการปกครองที่เรียกว่าอยากเป็นประชาธิปไตย เป็นสัญญาณของการตื่นตัวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ

เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนเราจะมีประชาธิปไตยแต่คำพูด เพราะค่อนข้างจะเป็นประชาธิปไตยที่ไร้คุณภาพ อันนำมาสู่สังคมที่ด้อยคุณภาพอีกด้วย

ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่แพร่หลายและหลายประเทศในโลกล้วนมุ่งไปทางนี้ แต่สิ่งที่หลายคนสนใจกลับมิใช่เรื่องการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการอธิบายลักษณะของการปกครองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการศึกษาประชาธิปไตยบางครั้งจึงมองไปที่การที่ประชาธิปไตยได้ฝังลึกเป็นสิ่งที่ดีอยู่ในทางจิตใจของคนในชาติเพียงไร

การปฏิรูปเพื่อปรับปรุงคุณภาพประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าประชาธิปไตยคือสิ่งที่เป็นไปเพื่อสันติสุขสถาพรหรือความยั่งยืน นอกจากนี้ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยมานานก็ยังต้องปฏิรูปเพื่อให้สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้ และคงไม่มีพลเมืองของประเทศใดจะมีความสุขอยู่ได้ ถ้าประเทศของเขามีแต่ความขัดแย้ง จนไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใด เป็นเหตุให้พวกเขาไม่สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้

บางครั้งอาการของความขัดแย้งก็เริ่มจากการเพิ่มขึ้นของการไม่เชื่อมั่นในรัฐ เพราะมีความสงสัยในการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ามีความไม่โปร่งใส ทำงานไม่สนองความต้องการของประชาชน แต่สนองตนเองและพวก เหล่านี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยหลายประเทศ จนจัดได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคของวิกฤตประชาธิปไตยก็ว่าได้

ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรที่ให้การสนับสนุนต่างๆ ต่างพยายามช่วยกันยกระดับการเป็นประชาธิปไตย และเรียกร้องให้มีการคำนึงถึงคุณภาพของประชาธิปไตย แทนการมุ่งสนใจประชาธิปไตยในเรื่องกระบวนการทางการเมือง และการเข้าสู่อำนาจแต่เพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะการที่ประเทศใดมีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ประเทศนั้นย่อมมีสังคมที่มีคุณภาพด้วย สองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน

แลลี่ ไดมอนด์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงคุณภาพประชาธิปไตยต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร

มันคือ การที่ประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่มีสิทธิในการเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งที่อิสระ เที่ยงธรรม มีการแข่งขัน มีพรรคการเมืองเข้าเสนอตัวสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อแข่งขันจริงๆ มากกว่าหนึ่งพรรค และมีแหล่งที่มาของข้อมูลที่เป็นทางเลือกที่หลากหลาย

ไม่ใช่เรื่องของการบังคับดู บังคับฟัง ประชาชนมีอิสระในการรวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองและสามารถรวมตัวในลักษณะของภาคประชาสังคม ตามความเชื่อและความสนใจของพวกเขา

นอกจากนี้สถาบันทางประชาธิปไตยต่างๆ มีอำนาจในตัวเอง ไม่อยู่ใต้อาณัติของชนชั้นนำ หรืออำนาจภายนอกที่ทำให้สถาบันเหล่านั้นไม่สามารถสนองตอบและรับผิดชอบต่อประชาชนได้

ประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร พิจารณาได้จากการบรรลุเป้าหมายของประชาธิปไตย เช่น ประชาธิปไตยในอุดมคติคือการที่พลเมืองมีอิสรภาพ มีอำนาจอธิปไตยที่สามารถควบคุมนโยบาย และเจ้าหน้าที่ที่กำหนดนโยบาย มีความเท่าเทียมกันทางการเมือง ทั้งสิทธิและอำนาจ ตามมาตรฐานของธรรมาภิบาล เช่น การมีความโปร่งใส ความชอบธรรม การมีความรับผิดชอบ การยึดหลักนิติธรรม คุณธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยที่ดีต้องไม่รวมการเป็นประชาธิปไตยแบบเทียมที่มีการเลือกตั้งแบบเผด็จการ กล่าวคือ การเลือกตั้งที่ขาดอิสระและความเที่ยงธรรม ดังนั้น ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพต่ำในประเทศที่มีปัญหาแบบนี้ เพราะสิทธิทางการเมืองมีปัญหา ไม่ยึดหลักนิติธรรม กฎหมายไม่มีความหมาย

คำว่าคุณภาพ จึงต้องการความเข้าใจที่ชัดเจน มิฉะนั้นบางคนจะหลงไปกับการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียมได้

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่พลเมืองสามารถควบคุมนโยบายและผู้กำหนดนโยบาย โดยมีสถาบันต่างๆ ที่มีความชอบธรรมสามารถดำเนินการตามหน้าที่โดยอิสระได้ และมีความมั่นคง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพจึงเป็นการปกครองที่มีความชอบธรรมที่นำมาซึ่งการบรรลุความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล (คุณภาพในลักษณะของผล)

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครองที่ประชาชน สมาคมและชุมชน พอใจต่อสิทธิ เสรีภาพความเท่าเทียมทางการเมือง (คุณภาพในลักษณะเนื้อหา)

คุณภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย สามารถติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ทั้งยังประเมินได้ว่ารัฐบาลได้ให้เสรีภาพและความเท่าเทียมทางกฎหมายหรือไม่

คุณภาพประชาธิปไตยแบ่งออกได้เป็นมิติต่างๆ อาทิ

คุณภาพในลักษณะของกระบวนการ ประกอบด้วยนิติธรรม การมีส่วนร่วม การแข่งขันได้ สำนึกรับผิดชอบทั้งทางแนวราบ (ตอบสนองต่อเจ้าหน้าที่รัฐกันเอง) และแนวตั้ง (ที่สนองตอบต่อประชาชน) ซึ่งทั้งหมดมักเป็นเรื่องของกฎระเบียบ และการปฏิบัติ

คุณภาพในลักษณะของการเคารพอิสรภาพของของพลเมือง ตลอดจนการปฏิบัติที่ก้าวหน้า เพื่อความเท่าเทียมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

คุณภาพในเรื่องการสำนึกรับผิดชอบที่เชื่อมมิติกระบวนการกับเนื้อหา โดยที่นโยบาย ที่รวมทั้งกฎหมาย การดำเนินการของสถาบันต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตามกระบวนการทางการเมือง (มิใช่เป็นไปตามความต้องการของชนบางกลุ่ม บางคน)

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของธรรมาภิบาลทั้งสิ้น ดังนั้น โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าหากประชาชนมีฐานะเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ เสรีภาพ มีอิสรภาพ ขณะที่รัฐเองมีสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชน และต่อรัฐเอง มากกว่าสำนึกรับผิดชอบต่อนายทุนหรือชนชั้นนำ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีความโปร่งใสในการทำงานอย่างแท้จริง ประเทศนั้นจะเรียกได้ว่ามีประชาธิปไตยที่คุณภาพ

เมื่อประชาธิปไตยมีคุณภาพ ผลที่ตามมาคือความคาดหวังของประชาชนได้รับการตอบสนอง ประชาชนจะมีการกินดี อยู่ดี มีความสุขใจ รู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สังคมจะมีคุณภาพสูง

คุณภาพสังคมเป็นแนวคิดที่มูลนิธิแห่งยุโรปว่าด้วยคุณภาพสังคมได้ทำการศึกษาและจัดทำตัวชี้วัดไว้ และขณะนี้มีการสร้างเครือข่ายมาทางเอเชียแล้ว คุณภาพสังคมเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกสังคม เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากกว่าการศึกษาเรื่องคุณภาพชีวิต

คุณภาพสังคม เป็นแนวคิดแบบบูรณาการของเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของชีวิตมนุษย์ เป็นเรื่องของการตระหนักตน และการมีส่วนร่วมในการสร้างอัตลักษณ์ที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาของชุมชนภายใต้สภาวการณ์ที่เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นไปตามศัยภาพของแต่ละคน

คุณภาพสังคมเป็นเป้าหมายที่ไม่เพียงเป็นเรื่องนโยบายสังคมแต่รวมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและนโยบายอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 มิติ คือ

1.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่หมายถึงการที่ประชาชนมีความมั่นคงทางทรัพยากร รวมถึงทรัพยากรทางการเงิน ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ และการจ้างงาน

2.การบูรณาการทางสังคม เป็นการที่ประชาชนมีการเข้าถึงและถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันต่างๆ และมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน การเข้าถึงการบริการทางสังคม ทั้งนี้ การบูรณาการทางสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนที่ขาดแคลนทรัพยากร การมีทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เขากลับเข้าสู่กระแสของสังคมปกติได้ ดังนั้น การบูรณาการทางสังคมจึงรวมรูปแบบของสิทธิของความเป็นพลเมือง การคำนึงถึงสถานภาพหญิงชาย การเข้าถึงการจ้างงาน และการบริการที่จัดให้ประชาชน เป็นต้น

3.ความสามัคคีในสังคม เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ในสังคม ค่านิยม บรรทัดฐานและการยอมรับการทำเพื่อส่วนรวม ทั้งนี้ ความสามัคคีในสังคมรวมความไว้วางใจกัน อันประกอบด้วยความไว้วางใจโดยทั่วไปหรือไว้วางใจผู้อื่นนั่นเอง และความไว้วางใจเฉพาะที่หมายถึงความไว้วางใจที่มีต่อสถาบันต่างๆ นอกจากนี้ความสามัคคีในสังคมยังรวมการสร้างเครือข่ายทางสังคม และการมีเอกลักษณ์อีกด้วย

4.การเสริมสร้างพลังทางสังคม เป็นการที่ประชาชนสามารถดำเนินการในด้านมิติต่างๆ ได้ ทั้งยังรวมการเสริมสร้างความสามารถของพวกเขาให้เข้าถึงมิติอื่นๆ ของคุณภาพสังคม เช่น การจัดการความรู้ การมีตลาดแรงงาน การพัฒนาศักยภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาชีวิตของครอบครัว วัฒนธรรมและชุมชน เป็นต้น

เมื่อทำการเชื่อมคุณภาพประชาธิปไตยกับคุณภาพสังคมจะเห็นได้ว่า หากผู้ปกครองประเทศมีธรรมาภิบาล ย่อมสามารถทำหน้าที่บริหารประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม ช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในชาติ พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการมีงานทำของประชาชน ประชาชนมีสวัสดิการที่ดี ประชาชนไว้วางใจกัน ทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม เพื่อเสริมสร้างความเป็นชาติ เกิดสังคมที่มีความสมานฉันท์ เพราะประชาชนมีความสามัคคี และยังไว้วางใจสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองที่ก่อให้เกิดนักปกครองประเทศให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ นั่นคือประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก่อให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพ

แต่เมื่อหันมาจับชีพจรประเทศไทยบนพื้นฐานของคุณภาพประชาธิปไตย คุณภาพสังคมพบว่า คุณภาพประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงดวงดาว เพราะประเด็นของมิติต่างๆ ที่อ่อนแอ

หากจะให้มีการพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตยจริง ต้องพัฒนาทุกมิติ ให้ก้าวไปพร้อมกันกับคุณภาพสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาวิธีคิดที่บ้านเรายังขาดอยู่มาก จนทำให้ไม่สามารถส่งให้เกิดบุคลากรเข้าสู่การเมืองที่มีคุณภาพได้เพียงพอ ไม่สามารถสร้างประชาชนที่มีจิตสำนึกของพลเมืองหรือจิตสาธารณะได้มากพอที่จะช่วยกันผลักดันสังคมไทยไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยบนพื้นฐานของการเน้นคุณภาพประชาธิปไตยได้

เพราะเราลืมการเรียนการสอนเรื่องการศึกษาของพลเมืองไปนานแล้ว

หน้า 7