วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

ทศพิธราชธรรม


ทศพิธราชธรรม โดย นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา

ทศพิธราชธรรม เป็นหัวข้อธรรมะที่มีผู้สนใจกันมาก เพราะเป็นธรรมะของผู้ปกครองโดยทั่วไป มิได้เจาะจงว่าต้องเป็นของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ธรรมะในข้อนี้เป็นของที่บัญญัติขึ้นก่อนสมัยพุทธกาล อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรัชญาทางการเมืองการปกครองของโลกตะวันออก ที่วางกรอบปฏิบัติหรือธรรมนูญของผู้มีอำนาจปกครอง ต่อมานักปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้รับเข้าไว้เป็นธรรมะในศาสนาของตน และผูกเป็นคาถาภาษาบาลี ดังนี้
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหํ สญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปิฎก ได้ให้คำอธิบายดังนี้

“ราชธรรม ๑๐ หรือ ทศพิธราชธรรม (ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมืองธรรมของนักปกครอง)
๑. ทาน (การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์)
๒. ศีล (ความประพฤติดีงาม คือสำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริตรักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน)
๓. ปริจจาคะ (การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ ตลอดจนชีวิตของตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง)
๔. อาชชวะ (ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน)
๕. มัททวะ (ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวลละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดีแต่มิขาดยำเกรง)
๖. ตปะ (ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบครองย่ำยีจิตระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอหรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจให้บริบูรณ์)
๗. อักโกธะ (ความไม่โกรธ คือ ไม่เกรี้ยวกราด ลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำการต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่นวินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง)
๘. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง)
๙. ขันติ (ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อลอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจไม่ยอมทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม)
๑๐. อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความ เอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำที่ดีร้ายลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรมคือความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรมคือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป)

มีที่น่าพิจารณาเป็นพิเศษ คือ ธรรมประการสุดท้าย อวิโรธนะ คำว่า วิโรธนะ ไทยมาทับศัพท์ว่า พิโรธ แปลว่า โกรธ บางคนแปล อวิโรธนะ ว่า ไม่โกรธ ก็จะไปตรงกับ อักโกธะ เป็นการซ้ำกันไป พจนานุกรมบาลี-อังกฤษฉบับของชิลเดอร์ ให้คำแปลว่า Conciliationหมายถึง ความโอนอ่อนผ่อนปรน การประสมประสานสร้างความสามัคคีกลมเกลียว ซึ่งอาจเป็นราช ธรรมที่สำคัญที่สุดในบรรดาทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เพราะหลักวิชาการทางรัฐศาสตร์ก็รับรองต้องกันว่า เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางในทางการเมือง ไม่ทรงฝักใฝ่เป็นข้างเดียวกับพรรคการเมืองใดหรือบุคคลใดในทางการเมือง ดังนั้น คุณประโยชน์อันสำคัญที่สุดที่พระมหากษัตริย์จะทรงทำให้แก่ประเทศชาติ และเป็นเรื่องยากที่ผู้อื่นจะสามารถทำได้ คือ การประสมประสานสร้างความสามัคคีในชาติ เป็นธรรมดาที่ผลประโยชน์ทางการเมืองอาจทำให้เกิดความแตกแยกในระหว่างพรรคการเมือง หรือการแก่งแย่งแข่งดีในระหว่างบุคคลสำคัญของชาติ แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะของทุกพรรคทุกฝ่ายและเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า ทรงยึดมั่นต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นใหญ่ ดังนั้น ทุกๆ ฝ่ายจึงยอมประนีประนอมข้อขัดแย้งต่างๆ ถวายพระองค์ได้

ธรรมอีกหมวดหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องทรงยึดถือปฏิบัติ คือ จักรวรรดิวัตร ๑๒ ได้แก่
๑. อันโตชนัสมิง พลกายัสมิง สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร
๒. ขัตติเยสุ สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย
๓. อนุยันเตสุ สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ข้าราชบริพาร
๔. พราหมณคหปติเกสุ คุ้มครองพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
๕. เนคมชานปเทสุ คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย
๖. สมณพราหมเณสุ คุ้มครองเหล่าพราหมณ์ที่เป็นสมณะ
๗. มิคปักขีสุ คุ้มครองเนื้อและนกที่มีไว้สืบพันธุ์
๘. อธัมมการปฏิกเขโป ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม
๙. อธนานัง ธนานุปปทานัง ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์
๑๐. สมณพราหมเณ อุปสังกมิตวาปัญหาปุจฉนัง เข้าไปหาและสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์
๑๑. อธัมมราคัสส ปหานัง เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม
๑๒. วิสมโลภัสส ปหานัง เว้นโลภกล้าไม่เลือกควรไม่ควร

ส่วนคตินิยมที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระธรรมิกราชนั้น จะเห็นได้จาก จกฺกวตฺติ สุตฺต ซึ่งอธิบายลักษณะแห่งพระจักรพรรดิ ดังนี้

“วัตร คือ หน้าที่ของพระจักรพรรดิจะต้องเป็นผู้นิยมนับถือธรรม เป็นผู้สนับสนุนธรรม จะต้องเอาพระทัยใส่คุ้มครองรักษาบรรดาผู้อาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของพระองค์ คือ ผู้เป็นอันโตชน ผู้เป็นพลกาย ผู้เป็นขัตติย ผู้เป็นอนุยันตติดสอยห้อยตาม ผู้เป็นพราหมณ์คหบดีผู้เป็นชาวบ้านชาวชนบท ผู้เป็นสมณพราหมณ์ตลอดจนสัตว์สี่เท้าสองเท้า ต้องทรงสอดส่องมิให้มีการอธรรมเกิดขึ้นในแว่นแคว้นของพระองค์และเกื้อกูลคนจนด้วย
อนึ่ง เมื่อผู้มีศีลรู้จักสำรวมตน และปฏิบัติตนเพื่อความดีมาสู่พระองค์ และทูลถามถึงอะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิดอะไรชอบ อะไรพึงทำอะไรพึงเว้น พระองค์จะต้องฟังเขาโดยตลอดแล้วห้ามปรามเขาอย่าให้ไปทางที่ชั่ว สนับสนุนให้เขาไปในทางที่ดี ดังนี้”

และมีธรรมอีกหัวข้อหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์จะต้องพึงปฏิบัติคือ ราชสังคหวัตถุ ๔ อันควรกล่าวไว้ให้สมบูรณ์ ได้แก่
๑. สัสสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร)
๒. ปริสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)
๓. สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรมเป็นต้น)
๔. วาจาเปยยะ (ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูดรู้จักปราศรัยไพเราะ สุภาพนิ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและความเชื่อถือ)

อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยแต่โบราณมี ๒ มิติ คือ ทรงเป็นที่ตั้งของอำนาจสูงสุดของมนุษย์ในสังคมการเมืองส่วนอีกมติหนึ่งด้วยเหตุที่ทรงเป็นสมมติเทพ จึงทรงเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างอำนาจหรืออานุภาพของธรรม กับความเป็นไปของสังคมการเมืองของมนุษย์โดยส่วนรวม ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสว่าในเมืองไทยนี้ แม้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็โทษพระเจ้าแผ่นดิน พระราชจริยวัตรของพระมหากษัตริย์จึงเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม การเมืองตามโลกทัศน์แบบไตรภูมิ ดังคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา แต่งเมื่อพุทธศัก ราช ๒๓๔๕ บรรยายถึงสายสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนนี้ว่า

“ถ้าท้าวพระยาทั้งปวงไม่เป็นธรรม พระยาอุปราชแลเสนาบดีแลเศรษฐีทั้งปวงไม่เป็นธรรมแล้วไพร่ฟ้าประชากรชาวพระนครแต่บรรดาที่อยู่ในเขตแคว้นสิ้นทั้งปวงนั้น ก็จะไม่เป็นธรรม ตลอดทั้งวังจังหวัดขอบขัณฑสีมา ฝ่ายเทพยดาที่พิทักษ์รักษามนุษย์ทั้งปวง ครั้นมนุษย์ไม่เป็นธรรมแล้ว ก็จะพลอยไม่เป็นธรรมไปด้วยสิ้น ... ครั้นเทพยดาและพรหมทั้งหลายไม่เป็นธรรมแล้ว พระจันทร์แลพระอาทิตย์ก็จะเวียนไปมิได้เสมอ ... ลมก็จะพัดวิปริต... ฝนก็จะไม่ตกชอบฤดู ... แผ่นดินนั้นก็จะหาโอชะบ่มิได้ ... อาหารสรรพสิ่งทั้งปางนั้นแต่ล้วนปราศจากโอชะไปสิ้นด้วยกัน ... สรรพว่านยาต่าง ๆ แต่บรรดาที่เป็นโอสถระงับโรคนั้นจะปราศจากโอชะสิ้นทุกสิ่งทุกประการ”

ดังนั้นจารีตประเพณีในสังคมไทยจึงเน้นย้ำเป็นพิเศษถึงทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการและจักรวรรดิวัตรจรรยา ๑๒ ประการ ของผู้ปกครองบ้านเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระราชาคณะผู้ถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเศษกถา ก็จะต้องนำธรรมดังกล่าวมาอธิบายขยายความ แสดงถวายพระมหากษัตริย์อยู่เสมอการละเลยหรือหละหลวมในวัตรปฏิบัติเหล่านี้จึงเชื่อกันว่า จะก่อให้เกิดความระส่ำระสายในโครงสร้างแห่งอำนาจทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างจนกระทั่งในที่สุดแล้ว อาจก่อให้เกิดความหายนะแก่สังคมมนุษย์หรือบ้านเมืองได้ จึงมีเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่อ้างความชอบธรรมทำรัฐประหาร ตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์แทน

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

อำมาตยาธิปไตย

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
(www.dhiravegin.com, likhit@ dhiravegin.com)
ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง
มหาวิทยาลัยเกริก

คำว่า อำมาตยาธิปไตย เป็นคำซึ่งนักวิชาการไทยแปลมาจากนักวิชาการชาวอเมริกันชื่อ เฟรดริกส์ (Fred Riggs) ผู้ซึ่งเคยทำการวิจัยในเมืองไทยและฟิลิปปินส์ โดยวิเคราะห์สังคมไทยในยุคที่ทหารมีอำนาจในการปกครองบริหาร ได้แก่ ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร และสรุปไว้ว่า จากการที่สังคมไทยอ่อนแอในภาคสังคมทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานเนื่องจากการขัดจังหวะด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้สภาพการปกครองบริหารกลายเป็นการปกครองโดยองค์กราธิปไตย มาจากองค์กร + อธิปไตย ตัวบุคคลคือองค์กราธิปัตย์นั้นเฟรดริกส์ใช้คำภาษาอังกฤษว่า bureaucratic polity คือการบริหารปกครองโดยหน่วยงาน คำว่า polity คือ สังคมการเมือง

เพราะฉะนั้น คำว่า bureaucratic polity ก็คือการปกครองซึ่งอำนาจการปกครองบริหารตั้งแต่เริ่มต้นการวางนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ การจัดการงบประมาณขึ้นอยู่กับข้าราชการประจำ ในขณะเดียวกันอำนาจการเมืองก็ขึ้นอยู่กับข้าราชการทหาร ซึ่งมีกองกำลังจัดตั้งและได้อำนาจมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร โดยมีการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมเป็นระยะๆ ที่สำคัญคือ ตัวผู้บริหารประเทศสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีมักจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และมักจะเป็นนายทหารที่มีกองทัพสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ส่วนการเลือกตั้งก็เป็นไปตามครรลองเพื่อให้ครบถ้วนของลักษณะประชาธิปไตยซึ่งมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันก็มีวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้ง การปกครองเช่นนี้คือ ข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน นักวิชาการบางคนกล่าวว่าน่าจะใช้คำว่า เสนาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงนั้น ทหารกุมอำนาจการเมือง แต่การบริหารทั่วไปอยู่ในมือข้าราชการประจำ เพราะเป็นผู้ที่มีข้อมูล ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนจึงอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน

ในอดีตนั้นหน่วยงานหลักที่สำคัญที่สุดคือ กระทรวงกลาโหมและมหาดไทย นอกจากนั้นก็มีเวียง วัง คลัง นา ต่อมาก็มีกรมท่าซึ่งดูแลการค้าขายระหว่างประเทศ และทำหน้าที่เป็นกระทรวงการต่างประเทศด้วยในตัว มีทั้งกรมท่าซ้าย กรมท่ากลาง และกรมท่าขวา ดูแลการค้าขายกับฝั่งทะเลแปซิฟิก อันดามันและมหาสมุทรอินเดีย และตามมาด้วยหน่วยงานอื่นๆ เมื่อมีการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2435 ในยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

คำว่า อำมาตยาธิปไตย จึงมีที่มาจากที่กล่าวมาเบื้องต้น โดยมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นดังต่อไปนี้คือ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา จนถึงการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ นายกรัฐมนตรีในช่วง 25 ปีดังกล่าวนี้ได้แก่บุคคลที่มีภูมิหลังมาจากทหาร 3 คน โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งประมาณ 14 ปีครึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งประมาณ 5 ปีกว่า หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งประมาณ 1 ปี ใน 25 ปีนี้ 21 ปีครึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของทหาร และ 3 ปีกว่าๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สองก็อยู่ในอำนาจของผู้ก่อการ 2475 ซึ่งหลายคนก็เป็นข้าราชการพลเรือน

หลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวประมาณ 90 วัน หลังการเลือกตั้งพลโทถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึง 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญและมีการประกาศธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 20 มาตรา ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐบาลทหารที่มีการใช้อำนาจเด็ดขาดคือมาตรา 17 จากนั้นก็ถึงแก่อสัญกรรม และจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้ดำรงตำแหน่งต่อมาจนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2514 ก็ได้ปฏิวัติตัวเอง และกลับไปสู่ระบบทหารอย่างเต็มเปี่ยมจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ข้อที่จะต้องชี้ให้เห็นชัดก็คือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 41 ปี นายกรัฐมนตรีที่มาจากภูมิหลังนายทหารและโดยยุคหลังมาจากการปฏิวัติรัฐประหารเป็นเวลาทั้งสิ้น 38 ปี นี่คือที่มาของคำว่า bureaucratic polity ซึ่งมีการแปลเป็นไทยว่า อำมาตยาธิปไตย เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือความพยายามของอำมาตยาธิปัตย์ที่จะกลับมาสู่อำนาจอีก

แต่เนื่องจากสังคมไทยได้เปลี่ยนไปในแง่เศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ค่านิยมทางสังคม รวมทั้งอิทธิพลจากภายนอกได้แก่การขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ระบบอำมาตยาธิปไตยแบบเก่าจะไม่ได้ผล จึงมีการผสมผสานแบบ “ประสานประโยชน์” ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2521 นำไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประมาณหนึ่งปีครึ่ง และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประมาณ 8 ปี 5 เดือน รวมเบ็ดเสร็จ 10 ปี ประชาธิปไตยครึ่งใบคือการผสมผสานระหว่างอำมาตยาธิปไตยบวกประชาธิปไตย หรือกลุ่มอำมาตยาธิปัตย์บวกประชาธิปัตย์ (ไม่ใช่ชื่อพรรค แต่หมายถึงผู้ที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า democrat โดยใช้ d เป็นตัวเล็ก)

หลังจากรัฐบาลเปรม 5 ไปแล้วได้มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แม้จะเป็นทหารแต่ก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 3 ปีกว่าก็ถูกปฏิวัติโดยคณะรสช.ระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญและนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นก็มีการเตรียมการที่จะให้ผู้ดำรงตำแหน่งทหาร คือ พลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากพลเอกสุจินดามิได้มาจากการเลือกตั้งกล่าวคือไม่ได้เป็น ส.ส.จึงเป็นจุดของการถูกโจมตี และได้นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวนายอานันท์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ภารกิจสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ รสช.ประเด็นสำคัญที่สุดคือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เกิดนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนคือ นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (แม้เป็นอดีตทหารแต่ก็ผ่านการเลือกตั้ง) และนายชวนอีกครั้งหนึ่ง จนมาถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

รัฐบาลที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่นายชวน 1 คือรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลระบอบประชาธิปไตย ทหารไม่มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง หลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 มีรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อยู่ในตำแหน่ง 15 เดือน นั่นคือ 15 เดือนของอำมาตยาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง แม้จะไม่มีพฤติกรรมเป็นเผด็จการทหารแต่ที่มาก็ยังเป็นแบบอำมาตยาธิปไตย และหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็กลับมาอีกครั้งหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ในแง่โครงสร้างต้องกล่าวว่า ระบบการปกครองแบบปัจจุบันคือระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยถึงแม้จะมีความไม่สมบูรณ์และบกพร่องก็ตาม

อย่างไรก็ตาม อำมาตยาธิปไตยยังอาจจะมองได้จากมิติอื่น คือ มิติของการมีทัศนคติแบบอำมาตยาธิปัตย์ หรือการที่รัฐบาลประชาธิปไตยถูกอิทธิพลผลักดันทางการเมืองจากคนที่เป็นอำมาตยาธิปัตย์ แต่แม้กระนั้นก็ตามการตัดสินนโยบายต่างๆ ย่อมขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น แม้จะมีอำมาตยาธิปัตย์มีบทบาทอยู่ส่วนหนึ่ง แต่โดยเนื้อหาในโครงสร้างจะต้องสรุปว่าระบบการเมืองปัจจุบันเป็นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์เนื่องจากรัฐธรรมนูญ หรือเนื่องจากการขาดความอิสระอย่างเต็มที่ในความเป็นจริงในระดับหนึ่งก็ตาม

คำว่า อำมาตยาธิปไตย ในหลักวิชาการจึงมีความหมายดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนการใช้คำว่า อำมาตยาธิปไตย ประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ในการรณรงค์ทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่ทำได้ตามหลักการสิทธิเสรีภาพ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและพิจารณาของประชาชนว่าจะมีน้ำหนักน้อยเพียงใด และแม้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามโครงสร้างนั้นก็ยังมีจุดที่บกพร่องอยู่ 3 จุด คือ

ก. พรรคการเมืองไม่บริหารแบบประชาธิปไตย เป็นเพียงการจัดตั้งที่จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น

ข. การเลือกตั้งมิได้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม แต่มีการซื้อเสียง จึงกลายเป็นเพียงการประกอบพิธีกรรมการหย่อนบัตร

ค. ผู้มีอำนาจเงินยังเป็นผู้กุมอำนาจรัฐโดยใช้กระบวนการทางการเมืองและสังคมที่อ่อนแอเป็นประโยชน์

ดังนั้น ประชาธิปไตยที่กล่าวมาแล้วในความเป็นจริงคือ ธนาธิปไตย (plutocracy) คืออำนาจตกอยู่ในมือของคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง และการใช้อำนาจรัฐหรือการเกาะเกี่ยวอำนาจรัฐเพื่อทำธุรกิจและฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นก็ทำให้ระบบประชาธิปไตยตามรูปแบบกลับกลายเป็นโจราธิปไตย (kleptocracy)

ถ้ามองแบบรูปแบบล้วนๆ ก็ต้องกล่าวว่า ปัจจุบันนี้ระบบการเมืองไทยเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย แต่คนซึ่งมีลักษณะเป็นอำมาตยาธิปัตย์ที่ยังอยู่ในระบบราชการหรือที่อยู่ในหรือนอกระบบการเมืองก็อาจจะมีอยู่ ขณะเดียวกัน ถ้าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยดังที่กล่าวมาประกอบด้วยคนมีเงินที่กุมอำนาจรัฐก็คือระบบธนาธิปไตยในความเป็นจริงในระดับหนึ่ง

และถ้าอยู่ภายใต้อำนาจของอำมาตยาธิปัตย์ก็จะกลายเป็นการผสมผสานประชาธิปไตย + ธนาธิปไตย + อำมาตยาธิปไตย ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าสภาวะดังกล่าวสะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองก็อาจจะถือได้ว่าระบบการปกครองของไทยกลายเป็นระบบพิเศษเฉพาะตัว สอดคล้องกับที่เฟรดริกส์เคยตั้งเป็นระบบที่สาม ผสมผสานระหว่างระบบที่หนึ่งและสองเข้าด้วยกัน โดยอาจจะอยู่อย่างถาวรไม่ใช่เพียงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งเฟรดริกส์เรียกว่า Prismatic Model

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงประชาธิปไตยเต็มใบคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกนาน หรืออาจจะไม่มีการพัฒนาจนสำเร็จได้เลย เพราะค่านิยมและวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า จึงอาจจะกลายเป็นระบบผสมผสาน ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตคือประชาธิปไตยครึ่งใบ Prismatic Model ของเฟรดริกส์อาจจะปรากฏขึ้นจากวิวัฒนาการดังกล่าว และเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทย เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยแบบญี่ปุ่นโดยพรรคการเมืองของญี่ปุ่นนั้นประกอบด้วยกลุ่มการเมืองต่างๆ หลายกลุ่ม เช่นเดียวกับระบบการเมืองของไทย

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552

การเลือกตั้ง (Election)

*Representative Democracy
*Free and Fair

หลักการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
หลักทั่วไป
หลักอิสระ
มีระยะเวลา
การลงคะแนนลับ
หนึ่งคนหนึ่งเสียง
ความบริสุทธิ์ยุติธรรม


ระบบการเลือกตั้ง

-ระบบการเลือกตั้งตามเสียงข้างมาก(Majority System)
-ระบบการเลือกตั้งตามสัดส่วน (Proportional Representation Electoral System)

การรัฐประหาร


ความหมาย
การใช้ความรุนแรงทางการเมืองอย่างปัจจุบันทันด่วนเหนือความคาดหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายบ้านเมือง โดยมีจุดประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศและจัดตั้งคระรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ผู้ก่อการรัฐประหาร
รูปแบบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้การรัฐประหารประสบความสำเร็จ

ประชาชนไม่ชอบมีส่วนร่วมทางการเมือง
ต้องเป็นองค์กรลับ
ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ
ต้องไม่ให้ประชาชนรังเกียจ