วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นักประดิษฐ์คำ


วันที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11229 มติชนรายวัน

หากเอ่ยชื่อ "ธีรยุทธ บุญมี" อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากคนทั่วไปจะรู้จักเขาในฐานะ "คนเดือนตุลา" แล้ว ระยะหลังนักวิชาการคนนี้ถูกตั้งฉายา "เสื้อกั๊กขาประจำ" ในฐานะ "นักประดิษฐ์คำ" ทางการเมือง

เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เสมือนเป็นกระจกสะท้อนความเป็นจริงที่ประชาชนกำลังมองรัฐบาลอยู่ ในทุกปี ปีละครั้ง..?

ไล่ลำดับความย้อนหลัง "ฉายาทางการเมือง" ที่ "นักประดิษฐ์คำ" ผู้นี้ได้แต้มแต่งสีสันให้กับวงการเมืองไทย นับว่ามีทั้งแสบๆ คันๆ และปวดจี๊ดเข้าขั้วหัวใจ..

ล่าสุด ตั้ง "ฉายา" ให้กับ "รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์" ว่าเป็นรัฐบาล "ชายกระโปรง" ในภาวะที่ม็อบพันธมิตรบุกปิดสนามบิน 2 แห่ง ท่ามกลางสังคมเรียกร้องให้รัฐบาลสมชาย แสดงความรับผิดชอบ

ความหมาย "รัฐบาลชายกระโปรง" มีนัยยะว่า รัฐบาลที่จะอยู่ในอำนาจเพื่อจ้องหาผลประโยชน์ และรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นเพราะ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมี "อุบาทว์พญายมหน้าเหลี่ยมเข้าแทรก" โดยใช้ลีลายึกยักในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเกิดวิกฤตบานปลาย

เจ็บ...จี๊ดดดดดดดดดดดด..!!!!

สมัย "รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช" และพรรคพลังประชาชน เขาให้ฉายาว่า "รัฐบาลลูกกรอก 1" ในฐานะเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย ซึ่ง "ลูกกรอก" คณะนี้มีระดับผู้นำอยู่ 2 ตน คือ "รักเลี้ยบ ยมมิ่ง" มีฤทธิ์เดชฉกาจฉกรรจ์ ส่วนหัวหน้าคณะลูกกรอกมี 2 ตน เป็น "กุมารทองคะนองฤทธิ์" และ "กุมารทองคะนองปาก" โดยกุมารทองทั้ง 2 ตนนี้จะทะเลาะกับผู้คนไปทั่ว ทำให้รัฐบาลอยู่ในฐานะมีอำนาจแต่ปกครองไม่ได้

ใน "รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" ก็ถูกขนานนามให้เป็น "รัฐบาลฤๅษีเลี้ยงเต่า" ทำงานแบบต้วมเตี้ยม ไปคนละทิศคนละทาง เป็นจำพวกเทคโนแครตสูงอายุ ทำให้มีความเชื่อไปคนละทาง รวมทั้งยังเป็น "โรคต่อมความดีโตและต่อมอำนาจโต" จนไม่คิดล้างระบอบทักษิณ

แถมยังได้พาดพิงไปถึง "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) ให้ไล่ไปเล่น "ลิเกการเมือง" ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. รับบทเป็น "บังธิมาออกแขก" และมี พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์อาวุโส บรรเลงเพลงออกแขกแต่เชื่องช้าคล้ายเพลง 3 ชั้น

สมัย "รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร" เริ่มต้นจากปี 2549 ตั้งฉายา "รัฐบาลเสียสติแห่งชาติ" เมื่อนายกฯทักษิณออกมาประกาศตั้ง "รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ" โดยเชิญพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตร มาร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยขนานนาม "ทักษิณ" ว่าเป็น "แม้ว จ๊กมก" เสียสติ เห็นระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องตลก

หากย้อนไปปี 2548 แสบถึงทรวง เมื่อ "ธีรยุทธ" ออกมาวิพากษ์ว่า พรรคไทยรักไทยจะนำไปสู่เผด็จการบุคคล ทำให้เกิดสภาพ "คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย" มีผลประโยชน์ทับซ้อน นำไปสู่การคอร์รัปชั่นแบบ "โคตรานุวัตร" หรือ Kotraization คือไม่ใช่เพียงโคตรเดียวที่โกง แต่หลายสิบโคตร

รวมทั้งฉายา "ษิณเจริญเชิญแขก" คือเอาประเทศชาติมาลวกเรียกญาติ บริวาร และต่างชาติมาร่วมยำกินกัน เปรียบการเมือง "ซูเปอร์-ยำ" เป็น "อัคร-ยำ-ประเทศ" ส่วน "ทักษิณ" ก็เก่งคนเดียวยกชั้นจาก "ซูเปอร์นายกฯ" เป็น "อัครนายกฯ" และยังเปรียบสมาชิกไทยรักไทย เป็นแค่ "ใต้เท้าสกุลชิน"

ต้นปี 2546 วิจารณ์ "ม.แม้ว" ว่าสร้างการเมืองระบบ "ทักษิณนุวัตร" หรือ Thaksinization แปลว่าหมุนไปตามทิศทักษิณ หรือเป็นไปตามทักษิณ จะนำพาประเทศผิดพลาดด้วยการใช้อำนาจอย่างอหังการ ทำให้เกิด "ระบอบทุษิณ" หรือ "รัฐบาลทุษิณ"

ในยุคพรรคประชาธิปัตย์ สมัย "รัฐบาลนายชวน หลีกภัย" ก็ได้ฉายาสมตัว "จอมนินจาหลักการ" คือการเลือกใช้หลักการ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและจะใช้อีกหลักการหนึ่งทันที เมื่อไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ทำให้หลักการของ "นายหัวชวน" จึงขัดแย้งกันเองมาตลอด แถมชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ

ปี 2540 "รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" บัญญัติศัพท์คำว่า "จิ๋วสองใจ" ซึ่งเอามาจากบุคลิกผู้นำโลเล และสร้างปัญหาให้ประเทศ ที่จำกันได้คือ "วิกฤตค่าเงินบาทลอยตัว"

ปี 2539 สมัย "รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา" ก็ถูกวิพากษ์ว่าเป็น "หลงจู๊หมดเครดิต" เพราะด้วยบุคลิกการบริหารประเทศแบบเถ้าแก่ของ "บรรหาร" ที่ไม่มีภาพความเป็นมืออาชีพ ตามไม่ทันโลกสมัยใหม่ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า จะทำให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้ไม่นาน

ต้องยอมรับว่า การประดิษฐ์คำของ "ธีรยุทธ บุญมี" นอกจากจะเป็นสีสันของการเมืองแล้ว สาระโครงสร้างความคิดยังหนักแน่นทำให้เห็นภาพของรัฐบาลชุดนั้นๆ

หากแต่การประดิษฐ์คำดังกล่าว คงมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ

บางครั้งก็มาแบบถูกที่ถูกเวลา แต่ระยะหลังๆ มี "ผิดคิว" อยู่บ่อยๆ..??

หน้า 11